“The Next Five Years”: อีกห้าปีหลังจากนี้ … ห้องสมุดจะ …

วันนี้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์เพื่อคลายเครียดจากการทำงานในวงการอื่น (พอจะมีเวลาว่างนิดหน่อย) จริงๆ แล้ว หนังสือเล่มนี้เหมาะกับช่วงนี้มากๆ เพราะเป็นช่วงที่ผมต้องคิดแผนกลยุทธ์ในปีหน้า …

ในวงการราชการเดือนหน้าก็เป็นเดือนสุดท้ายที่ใช้งบประมาณแล้ว … ตุลาคม คือ ปีงบประมาณใหม่
ในวงการเอกชนเริ่มปีงบประมาณใหม่ตามปีปฏิทิน แต่ก็ต้องเริ่มเขียนแผนและเตรียมร่างงบประมาณในช่วงนี้

หนังสือเล่มที่ผมอ่านมีชื่อว่า “Digital Information Strategies: From Applications and Content to Libraries and People” ซึ่งเขียนโดย David Baker และ Wendy Evans ดูข้อมูลอื่นๆ จาก https://www.amazon.com/Digital-Information-Strategies-Applications-Libraries/dp/0081002513

ในบทที่หนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวถึง “Digital Information Strategies” ซึ่งภายในบทก็มีเรื่องที่น่าสนใจหลายส่วน แต่ที่สะดุดใจผมคือ “The Next Five Years” กล่าวคือ ผู้เขียนได้เล่าถึงการศึกษาอนาคตและแนวโน้มของห้องสมุด โดยใช้เทคนิคที่ชื่อว่า “Delphi” ในการสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายวิชาชีพ

อีกห้าปีหลังจากนี้ … ห้องสมุดจะ …

  1. ห้องสมุดประชาชนจะกลายเป็น Third Place (สถานที่ที่ไม่ใช่ทั้งบ้านและที่ทำงาน แต่เป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องการ)
  2. ห้องสมุดเฉพาะจะหายไป
  3. บรรณารักษ์จะผลิตเนื้อหาข้อมูลมากขึ้นเพื่อตอบสนองผู้ใช้ของตนเอง
  4. บรรณารักษ์จะให้ความสำคัญและตระหนักในเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น
  5. บรรณารักษ์จะมีส่วนร่วมในการศึกษาเรื่อง Information Literacy มากขึ้น
  6. บริการห้องสมุดจะเน้นการบริการทางไกลมากขึ้น
  7. การตลาดจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของห้องสมุดมากขึ้น
  8. เครือข่ายจะกลายเป็นสิ่งสำคัญ
  9. ห้องสมุดทางกายภาพจะมีความสำคัญอีกนาน
  10. ห้องสมุดจะกลายเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Maker space, Lab
  11. ห้องสมุดประชาชนจะมีการจัดการ Collection แบบ hybrid มากขึ้น
  12. ห้องสมุดจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนต่อไปเรื่อยๆ

ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้ให้ความเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดยังคงอยู่ในอนาคต อาทิ

  • แนวทางความยั่งยืนของการพัฒนาห้องสมุด
  • ความจำเป็นที่ห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลง
  • การเติบโตของเทคโนโลยี
  • พฤติกรรมผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป
  • แนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ห้องสมุดสมัยใหม่
  • ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของบรรณารักษ์ยุคใหม่

พออ่านบทนี้จบ ผมกลับมานั่งทบทวนถึงสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา (COVID-19) เพื่อนๆ หลายคนถามผมว่า ห้องสมุดจะกลับมาเป็นอย่างไร แน่นอนครับ “ห้องสมุดไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิม” และต้องขอบอกว่า “ไม่ต้องรอเปลี่ยนแปลงแบบ 5 ปีที่ผมเขียนด้านบน” เอาแค่ภายในปีนี้ก่อน ลองกลับไปดูข้างบนครับ

  1. Third Place – ถ้าต้อง Work from home นานๆ เราก็เบื่อ แถมออฟฟิตก็ไม่ให้เราเข้าไปทำงานแบบแออัด “การมี Third Place อาจตอบโจทย์ได้”
  2. ความรู้เฉพาะทางสามารถหาได้ง่ายขึ้น ห้องสมุดไม่ใช่แค่ที่อ่าน แต่ต้องเน้นการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ กระบวนการในการเรียนรู้
  3. ข้อมูล ความรู้จากหนังสือในห้องสมุด บรรณารักษ์สามารถเลือกและนำมาเล่าในรูปแบบง่ายๆ ได้ผ่าน Social Media
  4. ต้องระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์มากยิ่งขึ้น
  5. Social Media ใครๆ ก็เขียน Content ได้ ข่าวลวง ข่าวจริง แยกแยะอย่างไรบรรณารักษ์ตอบได้หรือไม่
  6. Physical Distancing เราสามารถให้บริการผ่าน Online ได้หรือไม่ หรือถ้าผู้ใช้ไม่สามารถเดินทางมาหาเรา เรามี Mobile Library หรือไม่
  7. Content Marketing สำคัญมาก
  8. เราไม่สามารถเก่งได้ด้วยตัวคนเดียว หลายหัวดีกว่าหัวเดียว
  9. พื้นที่ภายในห้องสมุดปรับเปลี่ยนได้หรือไม่
  10. สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ หรือ สร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ ในพื้นที่ห้องสมุด
  11. การจัดหนังสือแบบเดิมจะค่อยๆ หายไป จัดหมวดหมู่ตามเนื้อหาที่เป็นที่สนใจน่าจะดีกว่า
  12. เราต้องเป็น “ที่พึ่ง” ของทุกคนในชุมชนให้ได้

วันนี้ ถ้าถามว่า “อีกห้าปีห้องสมุดจะเป็นอย่างไร” ผมอยากให้เราหลับตาแล้วนึกย้อนกลับไปว่า “ห้าปีที่ผ่านมาห้องสมุดเราเปลี่ยนไปหรือไม่” ที่สำคัญ “เปลี่ยนแล้วผู้ใช้บริการมีความยินดีกับเราหรือไม่”

เชื่อผมเถอะครับ “การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้จะมาเร็วกว่าที่เพื่อนๆ คิดแน่นอน”

About libraryhub 884 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*