“5 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” จากผู้นำความคิดในวงการห้องสมุด

วันนี้นั่งอ่านบทความใน https://americanlibrariesmagazine.org/ แล้วสะดุดกับบทความหนึ่ง ชื่อเรื่อง “What the Future Holds” หรือแปลแบบตรงตัวว่า “อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง” ทำให้ผมต้องเข้ามานั่งอ่านแบบจริงจัง เผื่อเพื่อนๆ ไม่มีเวลาผมจะนำมาสรุปให้อ่านด้านล่างนี้เลย

ชื่อบทความ : What the Future Holds
เขียนโดย : Carrie Smith
Link : https://americanlibrariesmagazine.org/2020/06/01/library-technology-what-future-holds/

credit photo : https://americanlibrariesmagazine.org/2020/06/01/library-technology-what-future-holds/

ที่มาที่ไปของการเขียนบทความนี้มาจากการสรุปประเด็นที่น่าสนใจจากงาน “Symposium on the Future of Libraries during the American Library Association’s (ALA) 2020” ซึ่งใน session หนึ่งในงานได้มีนักคิดนักปฏิบัติในวงการห้องสมุดได้ออกมาให้ความเห็นและภาพในอนาคตของห้องสมุดในมุมมองของแต่ละท่าน (5 ท่าน) ซึ่งประกอบด้วย

1) หุ่นยนต์ (Robots) จาก Bohyun Kim (CTO จาก University of Rhode Island Libraries)

ประเด็นเรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้อาจจะยังไม่ใช่เรื่องปกติในวงการห้องสมุด แต่เราก็เริ่มเห็นว่ามีการนำมาใช้ในหลายวัตถุประสงค์มากขึ้น ได้แก่ การจัดเรียงหนังสือบนชั้น การสืบค้นและนำมามอบให้ผู้ใช้บริการ การทำการเช็คสต็อกหนังสือ การนำมาใช้ศึกษาในเชิงโปรแกรม การนำมาใช้ต้อนรับผู้ใช้บริการ ฯลฯ นอกจากตัวหุ่นยนต์ที่จับต้องได้แล้ว ยังรวมถึงโปรแกรมต่างๆ ที่มีความซับซ้อน หรือ AI ด้วยนะครับ ในอนาคตยังมีสิ่งที่เราน่าจะเห็นจากการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ในห้องสมุดอีกมากมาย

2) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) จาก Matthew Bollerman (CEO จาก Hauppauge (N.Y.) Public Library)

ประเด็นเรื่องความยั่งยืนถูกนำมาใช้เป็นค่านิยมหลักของ ALA ปีที่แล้ว ความยั่งยืนคือ การสร้างความสมดุลของ 1) สิ่งแวดล้อม 2) เศรษฐกิจ และ 3) สังคม ห้องสมุดในโลกหลายแห่งเริ่มนำแนวคิดและไอเดียในการพัฒนาห้องสมุดที่ยั่งยืนมาใช้หลายเรื่อง เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับประชาชน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การประหยัดพลังงานในห้องสมุด การงดใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ ในอนาคตเรายังคงเห็นเรื่องนี้อยู่อีกนาน

3) โลกเสมือนจริง (Virtual reality) จาก Felicia A. Smith (head of learning and outreach จาก Stanford University Libraries)

ประเด็นที่น่าสนใจของ VR ในบทความไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเยี่ยมชมห้องสมุดแบบ VR นะครับ แต่จะเน้นในเรื่องกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนผ่าน VR ซึ่งบทบาทของห้องสมุดมหาวิทยาลัยจะได้ใช้เรื่องนี้แน่นอน (ยิ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน) โดยมองภาพของห้องสมุดในฐานะหน่วยงานที่ต้องสนับสนุนในการเรียนรู้ (การผลิตเนื้อหา การจัดเตรียมอุปกรณ์ งานวิจัยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี VR)

4) ข้อมูลที่มีอคติ (Confronting data bias) จาก Elisa Rodrigues (systems library assistant จาก University of San Francisco)

ประเด็นเรื่องการนำข้อมูลของผู้ใช้บริการห้องสมุดมาทำการตลาดหรือศึกษาพฤติกรรม ห้องสมุดหลายเห็นพอเห็นข้อมูลของผู้ใช้บริการก็มักตีความจากข้อมูลที่เห็นเพียงด้านเดียว เช่น คนที่ยืมหนังสือด้านธุรกิจต้องชอบเรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีอคติต่อข้อมูลจึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลจากหลายแหล่ง ซึ่งแต่และแหล่งก็ต้องศึกษาให้ดีว่าสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้มากน้อยเพียงใด ผู้ใช้บริการบางท่านไม่ได้มีข้อมูลในโลกดิจิทัลมากนัก การก้าวล่วงละเมิดข้อมูลของผู้ใช้จึงเป็นอีกเป็นที่แฝงใาพร้อมกับการอยากจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้

5) ความเป็นส่วนตัว (Privacy service) จาก Peter McCracken (acquisitions and e-resources strategy librarian จาก Cornell University)

ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวในบทความนี้จะเน้นไปที่เรื่องของการเช่าใช้บริการต่างๆ ของห้องสมุดโดยเฉพาะการใช้งานทรัพยากรสารสนเทศออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ห้องสมุดใช้ Vendor และข้อมูลของลูกค้าห้องสมุด Vendor ก็สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลและรักษาสิทธิ์ของลูกค้าห้องสมุด ห้องสมุดจำเป็นต้องมีการทำสัญญารักษาความลับ และสัญญาเพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ห้องสมุด [เรื่องนี้ในประเทศฝั่งยุโรปมีเรื่อง GDPR ส่วนประเทศไทยมี PDPA] ห้องสมุดต้องศึกษาประเด็นพวกนี้ให้เข้าใจด้วย

เอาเป็นว่า ผู้นำความคิดทั้ง 5 ได้มอบประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับการพัฒนาห้องสมุดและการปรับตัวของห้องสมุดให้เข้ากับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอยากให้เก็บไปคิดเพื่อต่อยอดกับห้องสมุดของเพื่อนๆ ต่อไปนะครับ

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*