นายห้องสมุดสรุปไอเดียจากการไปงาน “EDTECH DEMO DAY”

ช่วงนี้ผมออกมาหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อเติมความรู้และหาไอเดียใหม่ๆ ให้วงการห้องสมุด ซึ่งงานสัมมนาด้านห้องสมุดก็มีค่อนข้างเยอะ แต่ขอออกนอกงานห้องสมุดบ้าง เพื่อทำความเข้าใจโลก และอาจได้ไอเดียจากวงการอื่นมาช่วยในงานห้องสมุดก็เป็นได้

งานที่ผมเข้าร่วมในวันนี้ คือ “STORMBREAKER VENTURE — EDTECH DEMO DAY” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ VC (Venture Capital) 3 แห่งชั้นนำ ได้แก่ Disrupt, 500 TukTuks และ Beacon ซึ่งงานนี้เน้นกลุ่ม Startup ด้านเทคโนโลยีที่จะปฏิวัติวงการศึกษาในบ้านเรา

Session ในวันนี้แบ่งออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ คือ

  1. แนะนำโครงการและที่มาที่ไปของการส่งเสริมเรื่อง EDTECH ในประเทศไทย
  2. การ Pitching ของ EDTECH 4 ทีม ได้แก่ Vonder, Voxy, Opendurian, InsKru
  3. บรรยายพิเศษจากคุณกระทิง ในหัวข้อ “เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตและการพัฒนาตัวเองในโลกยุค Beyond Disruption”
  4. ช่วงการสร้างเครือข่าย (Networking) ระดมสมองและช่วย EDTECH คิดไอเดียSession นี้ผมกลับก่อนเลยไม่ได้เข้าร่วม

เอาหล่ะครับมาดูประเด็นที่ผมได้เรียนรู้จากงานวันนี้ดีกว่า


1. แนะนำโครงการและที่มาที่ไปของการส่งเสริมเรื่อง EDTECH ในประเทศไทย

1) แนะนำ Disrupt Venture ว่าเป็นศูนย์บ่มเพาะที่เน้นเรื่องการให้ความรู้กับบรรดา Startups ไทย ตั้งแต่ปี 2012 (มีผู้ที่สำเร็จและผ่านการอบรมจากที่นี่ไปแล้ว 1500 คน) ช่วยให้เกิดการระดมทุนกับบริษัท Startups ไปแล้วมากกว่า 500 ล้านบาท

2) สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของบริษัท Startups รวมไปถึงบริษัทใหญ่ๆ คือ การหา Talent (คนเก่ง) ในการทำงาน ซึ่งปัญหาหลั กๆ ในตัว Talent คือ ทักษะในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องปรับตัวไวมาก แต่การศึกษาในบ้านเรายังไม่เปลี่ยนทำให้ตามโลกไม่ทัน –> นี่คือที่มาว่าทำไมต้องเป็น Education Technology Startup — ถ้าวันนี้เรายังไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบทางการศึกษาได้ เราก็จะไม่สามารถผลิต Talent ที่มีคุณภาพให้กับองค์กรในประเทศได้

3) ผลงานที่ผ่านมา เช่น การจัด Education Disruption Hackathon 2018 ซึ่งจัด 2 วัน / 1 คืน โดยมีผู้เข้าร่วมถึง 150 คน ซึ่งทำให้เกิด Edtech Startup Ecosystem อย่างสมบูรณ์ (จากที่ไม่เคยมีตอนนี้มีแล้วนะ) และตอนนี้มันเติบโตแบบก้าวกระโดดมากๆ ซึ่ง Edtech ที่ได้รับการสนับสนุนจะต้องเน้นใน 4 เรื่อง ดังนี้

  • English for All
  • Reskill Professional
  • STEM and Coding for All
  • Teacher of the Future

4) Edtech ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุน ดังนี้

https://www.disruptignite.com/accelerator/edtech-accelerator
  • เงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานตั้งต้น
  • พาไปหาแหล่งเงินทุนในเวทีต่างๆ
  • เพิ่มพูนความรู้ด้วยหลักสูตร Bootcamp
  • เชื่อมโยง/เชื่อมต่อกับบริษัทใหญ่ๆ
  • ทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ
  • มีที่ปรึกษาให้พูดคุยได้ตลอด
  • Line Scaleup

5) โครงการมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้น่าอยู่มากขึ้นต่อไป


2. การ Pitching ของ EDTECH 4 ทีม ได้แก่ Vonder, Voxy, Opendurian, InsKru

6) ข้อมูลทั่วไปของแต่ละทีม (ผมขอนำข้อมูลจากบล็อกของ Disrupt Venture มาลงแทนนะครับ)

7) เทคนิคในการ Pitching ของแต่ละทีม (แต่ละทีมมีเวลา Pitch 5 นาที และตอบคำถามอีก 5 นาที)

  • การกล่าวถึง Pain point ของการศึกษาในระบบเดิม ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าการศึกษาในรูปแบบใหม่มีความน่าสนใจ เช่น ทีม Vonder กล่าวถึง LMS (Laerning Management System) แบบเดิมที่น่าเบื่อ และไม่ใช่ Microlearning ที่แท้จริง หรือ ทีม Voxy ที่เล่าเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษที่เราเรียนในห้องเรียนแล้วไม่สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริง หรือ ทีม Opendurian ที่กล่าวถึงการสอบตลอดชีวิต และ ทีม Inskru ที่กล่าวถึงสภาพแวดล้อมของห้องเรียนที่ทำให้เด็กไม่อยากเรียน
  • แนะนำ Startup ของตัวเอง ว่าทำอะไรบ้าง มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง — บางเรื่องฟังแล้วผมถึงขั้นอุทานแบบไม่ทันตั้งตัวเลย ว่า “ว้าวววว”
  • การนำเสนอข้อมูลที่ค่อนข้างอัพเดทของระบบ เช่น ทีม Voxy ในระบบไปดึงข่าวของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ออกมาแสดง (นำเสนอวันที่ 28 กุมภาพันธ์)
  • การกล่าวถึงเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ และศัพท์ใหม่ๆ ที่เราต้องรู้จัก เช่น Chatbot ของทีม Vonder หรือ การใช้ AI / Machine Learning ของทีม Voxy ในการดึงข่าวมาสร้างบทเรียนภาษา หรือการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เรียนใน Opendurian
  • ผลลัพธ์ / ผู้ที่เข้ามาใช้งาน เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ เพราะแต่ละทีมมีคนใช้ระบบ และบางระบบสร้างรายไ้ด้ให้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
  • พร้อมปิดสไลด์ของเกือบทุกทีมที่ แต่ละทีมต้องการให้สนับสนุนอะไรหลังจากนี้ ซึ่งถือว่านอกจากกรรมการที่ได้ฟังแล้ว คนที่เข้าฟังก็สามารถมีส่วนในการช่วยเหลือ Edtech ทั้ง 4 ทีมได้

คำถามยอดฮิตที่แต่ละทีมโดนถาม (ผมขอสรุปจากทุกทีมนะครับ)

  1. สิ่งที่ทำอยู่สามารถสร้างรายได้จากทางไหนบ้าง มีการทำ Business Model ในเรื่องของที่มาของรายได้หรือยัง
  2. ระบบที่นำเสนอแต่ต่างจาก Platform อื่นอย่างไร
  3. Succession Rate ของระบบ มีวิธีการคิดและดูหรือไม่ อย่างไร — เช่น Vonder มีคนเล่นจบมากน้อยเพียงใด และมีแผนอย่างไร
  4. ทำไมถึงเน้นเรื่องการเตรียมสอบมากกว่าการทำระบบเพื่อสอน (อันนี้ Opendurian โดนเต็มๆ)
  5. ใครเป็นคนผลิต Content และสามารถเรียนรู้เรื่อง Content เฉพาะจากไหน
  6. ระยะเวลาของการผลิต Content แต่ละบท ใช้เวลานานแค่ไหน แล้วใครเป็นคนทำ

ทีมที่ผมประทับใจเป็นพิเศษ คือ ทีม InsKru เพราะมีโมเดลที่คล้ายๆ กับสิ่งที่ผมทำอยู่ คือ สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานบรรณารักษ์ ซึ่งรูปแบบก็คล้ายๆ เช่น ผมมีเว็บไซต์ที่ให้ความรู้ (ลักษณะของบล็อก) สำหรับคนทำงานห้องสมุดและบรรณารักษ์ นอกจากนี้ผมก็มี facebook ทั้งแบบกลุ่ม Librarian in Thailand และ เพจเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Offline บ้าง (นานๆ ที) ซึ่งทำให้เห็นว่า Business แบบ Startup ผมเองก็น่าจะเข้าสู่เส้นทางนี้ได้เหมือนกัน แต่คงต้องกล้ามากกว่านี้


3. บรรยายพิเศษจากคุณกระทิง ในหัวข้อ “เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตและการพัฒนาตัวเองในโลกยุค Beyond Disruption”

8) กระแสของการเปลี่ยนแปลงมันเป็นวงจรที่เราต้องเจอเรื่อยๆ แล้วมันก็หมุนเวียนอยู่ตลอด และทุกๆ รอบในการเปลี่ยนแปลงจะมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญมันจะหมุนอย่างรวดเร็วขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมยิ่งมีมากขึ้น และห่างขึ้นไปเรื่อยๆ”

หากเปรียบความเปลี่ยนแปลงเป็นดั่งคลื่นสึนามิ ลูกแรกจะมีความสูง 100 เมตร แต่ลูกที่สองที่จะเข้ามาจะสูงถึง 1 กิโลเมตร และสูงที่สามจะสูงถึง 10 กิโลเมตร ตอนนี้เชื่อว่าหลายๆ คนคงเห็นผลของสึนามิลูกแรกไปแล้วบ้าง เช่น ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไป ตอนนี้สึนามิลูกที่สองกำลังเริ่มก่อตัวและจะจู่โจมเราในปี 2021 ถามว่าตอนนี้เราพร้อมแค่ไหน

9) สิ่งที่เปลี่ยนมีอะไรบ้าง
จาก Man สู่ Machine [คนก็มีจุดเด่น เครื่องจักรก็มีจุดเด่น คนจะต้องใช้เครื่องจักรเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น คนที่เหนือคน] 
จาก Product สู่ Platform 
จาก Core สู่ Crowd

10) ยุคของความเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 (The Four Tsunami Waves) ประกอบด้วย

  1. Disruptive Digital – Quantum Computing, Blockchain, IOT, 5G
  2. Reforming Physical World – AI, Robotics, Drone, Advanced Materials, Additive Manufacturung
  3. Transforming Being Human – BioTech, Neuro Technology, Mixed Reality
  4. Integrating the Environment – Geo Engineering, Space Travel

11) การศึกษาเปลี่ยนไปแค่ไหน เราสามารถแบ่งยุคทางการศึกษาออกเป็น 3 ยุคใหม่ๆ ได้แก่

  • Plato’s Academy เกิดขึ้นเมื่อ 387 ปีก่อนคริสตกาล
  • Gutenberg Press คศ. 1436 — มีแท่นพิมพ์
  • Modern Classroom คศ. 1880 จนปัจจุบันเราก็ยังเรียนอยู่ในห้องเรียน

12) แล้วถ้าพูดถึง Edtech หล่ะ เราอาจจะนึกภาพการเรียนในเว็บไซต์แบบ eLearning หรือ LMS แบบเดิม ซึ่งก็มีหลายเว็บไซต์ที่ให้บริการในลักษณะนั้น ลองนึกภาพ 1 app ที่ทำได้หนึ่งวิชา เช่น Photomath ถ้ารูปสูตรทางคณิตศาสตร์ หรือ Sololearn สอน programing นอกจากนี้เรายังได้เห็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบทเรียนหลายๆ เรื่อง เพื่อให้เราได้เลือกเรียนอีกด้วย เช่น Coursera, Udemy, edx ฯลฯ

นอกจากนี้เรายังได้เห็นสถาบันที่เปิดขึ้นมาเพื่อแข่งกับบรรดามหาวิทยาลัย เช่น General Assembly (GA) หรือ Make school ซึ่งเรียนปริญญาตรีแล้วจบได้เร็วกว่า แถมการันตีตรงที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีมารับไปทำงานทันที ซึ่งถือเป็นตัวเลือกของเด็กยุคใหม่อีก การเรียนในหลักสูตรนี้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าเรียนก่อนด้วย พอจบไปทำงานหลักสูตรจะหักเงินจากทางบริษัทที่รับเราไปทำงานเอง (ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องหนี้ กยศ. ด้วย)

13) 5 ทักษะที่สำคัญสำหรับคนในยุคนี้ ได้แก่ Passion / Curiosity / Imagination / Critical Thinking / Persistence และเชื่อหรือไม่ครับว่าสิ่งที่เราเรียนมาในอดีต บางเรื่องไม่สามารถใช้ได้แล้วในปัจจุบัน

14) ทิ้งท้ายตรงที่ ชีวิตเราต้อง “เรียนรู้” ตลอดชีวิต และชีวิตเราไม่มีวัน “ล้ม” [ผมเคยอ่านว่าแนวโน้มของโลก “การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญ” แต่วันนี้ที่ได้มาฟังคุณกระทิง คุณกระทิงกล่าวว่า “การทำให้ตัวเรามีความสามารถที่จะถูกจ้างตลอดชีวิตอันนี้สำคัญกว่า” ผมว่า “ถูกต้องที่สุดเลยครับ”]


เอาเป็นว่าจบด้วยข้อคิดประมาณนี้นะครับ session networking เสียดายที่ผมไม่สามารถอยู่ร่วมต่อได้ ซึ่งถือว่าเป็นเวทีที่ผมได้คิดอะไรเยอะเลย 

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*