การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ (Spring News)

หัวข้อที่สามที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”
คือ การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์
วิทยากรโดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์

หัวข้อนี้ดูเผินๆ อาจจะมองว่าไม่เกี่ยวกับห้องสมุด แต่ผมขอบอกเลยว่า
การทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าว กับ งานห้องสมุดมีส่วนที่คล้ายกันมากๆ ไปลองอ่านสรุปได้เลยครับ

สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 5 มีนาคม 2553
คนที่ติดเคเบิลที่บ้านหรือติดจานดาวเทียมที่บ้านดูได้หมดยกเว้นของทรู นอกจากนี้ยังดูผ่าน iphone ipad ได้ด้วย

การบริหารจัดการข้อมูลในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ

1. การจัดการคน
2. การจัดการข้อมูล

แต่ในการบรรยายจะเน้นในเรื่องของการจัดการข้อมูลเป็นหลัก โดยเฉพาะการจัดการศูนย์ข้อมูลข่าวที่เน้นในเรื่องการจัดเก็บไฟล์ภาพข่าว โดยต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดหมวดหมู่ (ควรมีพื้นฐานด้านห้องสมุดหรือบรรณารักษ์) มาเป็นคนกำหนดหัวเรื่องให้กับภาพข่าวซึ่งมีความสำคัญมาก

เช่น ไฟล์ภาพข่าวที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะให้หัวเรื่องว่า “สถานการณ์ใต้” ซึ่งหัวเรื่องค่อนข้างกว้างมาก ถ้าจัดการไม่ดีจะทำให้การค้นหาข้อมูลไฟล์ข่าวมีปัญหาล่าช้าไปด้วย เพราะว่าต้องจำชื่อเรื่อง สถานที่ และวันและเวลาที่เกิดเหตุให้ได้ แต่ถ้าจัดการดีจะทำให้เราสามารถบริหารข้อมูลได้ดีไปด้วย

ข้อมูลข่าวและภาพในสถานีโทรทัศน์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่สามารถลบข้อมูลต่างๆ ได้เนื่องจากอาจจะต้องมีการนำมาฉายซ้ำในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการจัดเก็บ และการบริหารที่ดี จะทำให้เราเข้าถึงไฟล์ข้อมูลข่าวและภาพได้ง่าย

การจัดเก็บในรูปแบบเดิมๆ ของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ
มักจะอยู่ในรูปของเทปรายการ ซึ่งปัจจุบันเปลียนมาจัดเก็บในรูปแบบของดีวีดี และอนาคตทิศทางจะเป็นไปในแนวทางของฐานข้อมูลดิจิตอล

ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จะมีการจัดเก็บไฟล์รูปภาพเป็นดีวีดีโดยมีการสำรองข้อมูลออกเป็น 3 ชุด เพื่อป้องกันการเสียหายและสูญหาย

ศูนย์ข้อมูลข่าว = คลังสมองของนักข่าว

กระบวนการของการไหลข้อมูลในสถานีโทรทัศน์จะเริ่มต้นจาก
ช่างภาพถ่ายภาพ – จัดเก็บรูปภาพ – ตัดต่อรายการ – ออกอากาศ – จัดเก็บเข้าศูนย์ข้อมูล
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวข้างต้นต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

การตั้งชื่อไฟล์เพื่อการจัดเก็บก็จะมีการใช้หัวเรื่องเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อให้สามารถค้นหาได้ง่าย เช่น POL = การเมือง
รูปแบบการตั้งชื่อของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ มีดังนี้ อักษรย่อ + วันที่ + เวลา + ชื่อข่าว

การบริหารไฟล์ภาพในส่วนของช่างภาพเองก็จะดูในเรื่องของขนาดภาพที่เพียงพอต่อการใช้งานในการออกอากาศ เพื่อลดขั้นตอนในการตัดต่อรายการ และประหยัดเวลาของขั้นตอนอื่นๆ ด้วย

วิทยากรได้ทิ้งท้ายด้วยการประกาศรับสมัครบรรณารักษ์ที่สนใจไปร่วมงานกับศูนย์ข้อมูลข่าวด้วย
โดยบรรณารักษ์ที่สนใจจะทำงานในศูนย์ข้อมูลข่าวของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– ความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพ
– มีหัวใจในการเป็นบรรณารักษ์
– สนใจข่าวสารบ้านเมือง

เอาเป็นว่าอ่านสรุปแบบนี้แล้วเพื่อนๆ เริ่มเห็นรึยังครับว่า ศูนย์ข้อมูลข่าวกับห้องสมุดไม่ได้ห่างกันเลย
ลักษณะงานคงไม่เหมือนกันเป๊ะๆ หรอก แต่ผมว่าก็ยังมีส่วนที่คล้ายๆ กันนะครับ

เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ คือ http://www.springnewstv.tv/

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*