ห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือ แต่มีไอเดียมากมาย

ช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่อง “จุดเปลี่ยนห้องสมุดในยุค digital transformation” ให้หน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้น และมีคำถามจากสไลด์ที่ผมใช้ถามผู้เข้าร่วมงานเสมอๆ คือ

  1. อนาคตห้องสมุดจะหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
  2. ผู้ใช้บริการยังคงมาใช้บริการห้องสมุดอยู่หรือไม่
  3. ถ้าไม่มีหนังสือสักเล่มในห้องสมุดจะเป็นไปได้แค่ไหน
  4. บรรณารักษ์ต้องพัฒนาทักษะอะไรเพื่อให้อยู่รอด

จาก 4 คำถามที่กล่าวมา วันนี้ผมได้อ่านเรื่อง “No books, lots of ideas” จากเว็บไซต์ http://designinglibraries.org.uk แล้วพบว่าสามารถตอบคำถามได้ในระดับหนึ่ง

ในบทความ “No books, lots of ideas” กล่าวถึง
Idea Exchange Old Post Office” ซึ่งคือพื้นที่ ในการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ผลงาน หรือจะเรียกว่าเป็น “Makerspaces” ก็ได้

Photo: RDHA – Sanjay Chauhan images

ตอบทีละคำถาม

  1. อนาคตห้องสมุดจะหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
    • แน่นอนครับว่าคงไม่ใช่สถานที่ที่คนจะเข้ามาหาหนังสือหรืออ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่คนจะเข้ามาใช้สถานที่แห่งนี้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ตามที่ห้องสมุดกำหนดก็เป็นไปได้ ลองนึกภาพว่าเข้ามาในห้องสมุดมาเรียนรู้เรื่องการเงินการลงทุนโดยที่ไม่ต้องอ่านหนังสือดูสิครับ
    • อ้าว!!! ถ้าไม่อ่านหนังสือแล้วเราจะเรียนรู้ได้จากอะไรบ้าง เช่น Board games, กิจกรรมสัมมนา, งานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ … แสดงว่าพื้นที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้
  2. ผู้ใช้บริการยังคงมาใช้บริการห้องสมุดอยู่หรือไม่
    • ลองดูภาพผู้ใช้บริการที่มาห้องสมุดในปัจจุบันดูสิครับ เขามาที่ห้องสมุดเขาหยิบหนังสือของเราลงมาอ่านมากมายหรือเปล่า เกือบ 80% ของคนที่เข้ามานั่งในห้องสมุดพกหนังสือ คอมพิวเตอร์ และเข้ามานั่งทำการบ้าน หรืองานส่วนตัวกันนะครับ คนที่อยากอ่านหนังสือของห้องสมุดบางทีหยิบหนังสือ ยืมเสร็จก็กลับไปอ่านที่บ้าน
    • แน่นอนครับ ยังคงมีผู้ใช้บริการเข้ามาที่ห้องสมุดอยู่ เพราะน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย และดูอุ่นใจสำหรับผู้ใช้บริการ ซึ่งถ้าเราสามารถปรับในข้อ 1 เรื่องสถานที่ในการเรียนรู้ได้แล้ว ผู้ใช้บริการจะยังคงมาและเปลี่ยนพฤติกรรมให้เริ่มอยากเรียนรู้มากขึ้น
  3. ถ้าไม่มีหนังสือสักเล่มในห้องสมุดจะเป็นไปได้แค่ไหน
    • ในช่วงปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นนิตยสาร หนังสือพิมพ์ปิดตัวลงจำนวนหนึ่ง และเชื่อเถอะครับว่ายังคงมีถยอยปิดตามมาอีกแน่ๆ
    • ผู้ใช้บริการยังคงอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แถมแนวโน้มในอนาคตเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็ยังเป็น trend เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ก็ไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว การได้ฝึกปฏิบัติ การทดลอง การฟัง การพูดคุย ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ และเนื้อหาที่น่าสนใจก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในหนังสือเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว ในโลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจุดเด่นของห้องสมุดเราก็เพียงแต่ทำให้มันเกิดความน่าเชื่อถือ เช่น นำเนื้อหามาจัดในระบบห้องสมุดเพื่อให้สามารถสืบค้นได้และมีความเชื่อถือ แน่นอนว่าเราจะสร้างบริการใหม่ๆ ให้เกิดใน ข้อ 1 สถานที่ ได้ด้วย
  4. บรรณารักษ์ต้องพัฒนาทักษะอะไรเพื่อให้อยู่รอด
    • จากที่กล่าวมาในข้อ 1 2 3 ผมเชื่อว่าเราพอจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ และแน่นอนครับทักษะของบรรณารักษ์โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีมาใช้ การสร้างนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการยอมรับความเสี่ยงจะช่วยให้บรรณารักษ์อยู่รอด
    • งานอะไรที่เป็นงาน Routine ทำซ้ำๆ มีขั้นตอนที่ชัดเจน งานเหล่านั้นในอนาคตเราจะมีเครื่องมือ (หุ่นยนต์) มาช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น อย่าไปกลัวมันครับ บางเรื่องมันก็ยังไม่สามารถทำงานแทนเราได้ หาก mind + machine เราจะอยู่รอดแน่นอน
Photo: Tom Arban

เอาเป็นว่าจากบทความ “No books, lots of ideas” ทำให้เราเห็นแล้วว่า ห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือ สามารถสร้างไอเดียต่างๆ ได้มากมาย หากใครสนใจเรื่องนี้ ผมขอแนะนำเว็บไซต์ https://ideaexchange.org/

ดูวีดีโอการรีวิว “the Idea Exchange Old Post Office”

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*