บรรณารักษศาสตร์ เท่ากับ สารสนเทศศาสตร์ หรือไม่

ขอออกตัวก่อนนะครับที่เขียนไม่ได้ว่าจะชวนทะเลาะหรือสร้างความแตกแยก แต่คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยมากๆ และจากประสบการณ์ตรงในช่วงผมเป็นนักศึกษา (รุ่นผมชื่อบรรณารักษศาตร์และสารสนเทศศาสตร์ แต่หลังจากรุ่นผมไปแล้วใช้คำว่า การจัดการสารสนเทศ) วันนี้ผมว่าเด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็อาจสับสนบ้างว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ปล. ที่เขียนบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ถูกผิดหรือไม่แล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน

หลายๆ สถานศึกษาเริ่มมีการเปลี่ยนชื่อหลักสูตรวิชา หรือ บางแห่งเปลี่ยนชื่อภาควิชาไปเลยก็มี

คำถามที่ผมคาใจมากๆ คือ “ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อสาขาวิชานี้” “ชื่อสาขานี้มันล่าสมัยจริงหรือ”
เหตุผลที่ผมได้ยินและได้คุยกับอาจารย์บางท่าน คือ
– “ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วเด็กจะไม่เข้ามาเรียนในสาขานี้”
– “ถ้าเด็กเข้ามาไม่ได้ตามจำนวน ภาควิชาก็ไม่สามารถเปิดสอนได้”
– “สาขาวิชามีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น”
– “เด็กที่จบไปจะได้ชื่อหลักสูตรที่สวยหรู สามารถทำงานอะไรก็ได้”

เอาเป็นว่าเหตุผลต่างๆ มากมายที่ผมก็ขอรับฟัง
แต่…เคยคิดกันหรือไม่ว่า….ประเด็นนี้จะทำให้เด็กสับสน

“หนูไม่รู้นี่ว่าสารสนเทศศาตร์ คือ สอนให้หนูเป็นบรรณารักษ์ หนูนึกว่าเข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์”
“การจัดการสารสนเทศน่าจะสอนการจัดการข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่อิงแต่เรื่องห้องสมุด”
“เข้ามาเพราะชื่อหลักสูตรเท่ห์จัง แต่ทำไมเรียนเรื่องเกี่ยวกับห้องสมุด”

สถานศึกษาบางแห่งเปลี่ยนชื่อหลักสูตรก็จริงแต่เนื้อหาในรายวิชาเกือบครึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดอยู่ดี บางแห่งไม่ได้เปลี่ยนรายวิชาด้านในเลยด้วยซ้ำ จากประเด็นแบบนี้ จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่สับสนกับหลักสูตร หรือ วิชาที่เรียน

จากกรณีเรื่องของชื่อหลักสูตร หรือ ชื่อของภาควิชา ผมขอพูดถึงสภาพของเด็ก 3 กลุ่มให้ฟังคร่าวๆ คือ
1. “รู้ว่าบรรณารักษ์เป็นส่วนหนึ่งของสารสนเทศอยู่แล้ว และตั้งใจมาเรียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ” พูดง่ายๆ ว่าใจรักอ่ะครับ เด็กพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะใจเขามาด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว
2. “รู้และเข้าใจว่าสารสนเทศคือการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่พอมาเจอเนื้อหาของแต่ละวิชา ก็ได้แต่ทำใจและยอมรับสภาพ” พูดง่ายๆ ว่า อดทนให้เรียนจบแล้วเดี๋ยวไปหางานอย่างอื่นทำ กลุ่มนี้ก็พบมากมาย เด็กส่วนหนึ่งที่จบไม่ได้กลับมาทำงานตามสายที่เรียน
3. “รู้และเข้าใจว่าสารสนเทศคือการเรียนคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อเข้ามาเรียนและรู้ว่าไม่ใช่ก็ลาออกไปเรียนอย่างอื่น หรือ ฝืนเรียนแต่ก็รับไม่ได้” พูดง่ายๆ ว่า เมื่อไม่ใช่ทางที่คิดไว้ก็ไปทางอื่นดีกว่า

เรื่องของชื่อว่า “บรรณารักษศาสตร์” หรือ “สารสนเทศศาสตร์” แท้จริงแล้วมันเท่ากันหรือไม่
แค่ชื่อก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผมบอกได้ตรงๆ ครับว่า อาชีพ “บรรณารักษ์” กับ “นักสารสนเทศ” มันก็ต่างกัน

อาชีพ “บรรณารักษ์” กับ “นักสารสนเทศ” ต่างอย่างไร

“บรรณารักษ์” คือการจัดการสื่อ ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ องค์ความรู้ในห้องสมุด กระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินงานในห้องสมุด “บรรณารักษ์” ต้องรู้และสามารถจัดการได้

“นักสารสนเทศ” คือ การจัดการสารสนเทศด้านใดด้านหนึ่งไม่จำเป็นต้องจัดการห้องสมุดทั้งหมด แต่ต้องจัดการข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ได้ ยิ่งถ้าจัดการหรือมีความรู้ด้านวิชาชีพอื่นๆ ด้วยก็ยิ่งดี และถือว่าเป็นนักสารสนเทศของอาชีพนั้นๆ ได้ด้วย เช่น นักสารสนเทศด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

อย่างที่เกริ่นข้างต้นว่า ห้องสมุด คือส่วนหนึ่งของการจัดการสารสนเทศแบบภาพรวม บรรณารักษ์ก็คือนักสารสนเทศในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อหลักสูตร สถานศึกษาก็ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับเด็กๆ ที่เข้ามาเรียนด้วย…

หรือแม้แต่ครูแนะแนวเด็ก ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ก็ควรรู้และเข้าใจในแง่นี้ด้วย มิเช่นนั้นเด็กๆ ของท่านก็จะเข้าใจผิดว่า “สารสนเทศ” ก็คือ “คอมพิวเตอร์” ต่อไป

วันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน อิอิ

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

10 Comments

  1. ครูแนะแนวบางโรงเรียน ไม่แนะนำให้เด็กเรียนสาขานี้เลย (ทั้งบรรณารักษศาสตร์ หรือ สารสนเทศศาสตร์) ทำให้กลุ่มสาขาของเรา เป็นสาขาวิชาในมุมมืด ….

  2. เด็กรุ่นใหม่ยังไม่เข้าใจกับสาขานี้มุ่งแต่คิดว่าสารสนเทศคือการเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์ เหมือนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คือบางครั้งดิฉันว่ายังไม่ชัดเจน
    แล้วครูแนะแนวบางโรงเรียนไม่เคยแนะแนวในสาขาวิชาชีพนี้มุ่งแนะแนวแต่สาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เลยทำให้หลายต่อหลายคนไม่รู้ถึงแก่นแท้ของสาขานี้TT

  3. ห้องสมุด คือ หัวใจอันสำคัญของสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชน เข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นผู้ดูแลระบบงานห้องสมุดจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญนั่นก็คือบรรณารักษ์ จริง ๆ แล้วความคิดเห็นส่วนตัวคือไม่อยากจะให้เปลี่ยนสาขาเป็นสารสนเทศศาสตร์เลยซะทีเดียว ที่ดิฉันจบมาก็ โปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสานิเทศศาสตร์ ได้เรียนวิชาบรรณารักษ์ด้วย และเรียนการจัดการสารสนเทศด้วย เพราะถึงให้เปลี่ยนสาขาเป็นสาสนเทศศาสตร์แล้วให้เด็กเรียนบรรณารักษ์แล้วการเปลี่ยนชื่อก็ไม่มีประโยชน์อะไร อยากจะให้มีสวัสดิการหรืออะไรที่ดึงดูดว่าถ้าคุณเรียนจบด้านบรรณารักษ์แล้วคุณจะมีการงานที่มั่นคง หรือมีสวัสดิการดี ดีกว่ามั้ยคะ ?

  4. ขอคำแนะนำหน่อยค่ะ หนูจบปตรีบรรณารักษ์ ทำงานเป็นบรรณารักษมา 3 ปีของหน่วยงานแห่งหนึ่ง และจบโทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตอนนี้อยากจะเปลี่ยนงานที่มีการบูรณาการทั้งสองด้าน หนูสามารถทำอะไรได้บ้างค่ะ

    • จริงๆ ผมก็เป็นเหมือนคุณ joony เลยนะครับ จบตรีบรรณ และโทไอที ตอนนี้ผมก็ทำงานได้โดยนำไอทีมาประยุกต์กับงานห้องสมุดก็ได้ ซึ่งนอกเหนือจากความสามารถด้านไอทีแล้วถ้าเรายังเปิดรับทักษะใหม่ๆ อื่นๆ ด้วยจะทำให้เราทำงานได้อีกมากมายครับ

  5. เพิ่งได้อ่านกระทู้นี้ค่ะ รู้สึกโดนใจมากๆ เพราะสภาพของเด็กกลุ่ม 2 เป็นสภาพและความคิดที่เคยเกิดตอนเรียนอยู่ และพอจบมาก็พยายามหลีกหนีการทำงานที่เกี่ยวกับบรรณารักษ์มาโดยตลอด เนื่องจากไม่ค่อยอยากรับความจริงที่ว่าเป็นบรรณารักษ์ ก็เพราะตอนเรียนไม่ได้เรียนบรรณารักษ์ แต่เรียนการจัดสารสนเทศมานะ ทำนองนี้ค่ะ แต่ตอนนี้ก็คิดได้ และยอมรับกับมันได้แล้วค่ะ แต่มีบางเรื่องที่อยากจะบอกเล่าก็คือ ข้อเสียของการพยายามเป็นการจัดการสารสนเทศก็คือ พยายามนำไอทีเข้ามาสอน แต่ผู้สอนไม่เชี่ยวชาญพอ ส่วนการเรียนการสอนเกี่ยวกับบรรณารักษ์ก็ไม่เข้มข้นเหมือนเรียนบรรณารักษณ์โดยตรง สรุปคือไม่ได้อะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่แข็งอะไรเลย พอจบมาก็กลุ้มใจเหมือนกัน เพราะทั้งคนสอนและคนเรียนต่างก็ต้องพยายามปรับตัวเองให้เป็นการจัดการสารสนเทศ ถ้าเข้าใจในชื่อก็จบ ไม่เข้าใจก็ทนไป ไม่ก็ออกจากตรงนั้นไปเลย ซึ่งก็อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดถึงตรงนี้เยอะๆ อย่างที่ Admin สรุปมาก็เป็นอะไรที่ตรงใจมากค่ะ ขอบคุณนะคะ

  6. ผมก็เป็นคนนึงที่จบหลักสูตรการจัดการสารสนเทศ ตอนจบม.6 เลือกเรียนสาขานี้เพราะอยากเรียนคอมพิวเตอร์ และก็ได้เรียนอย่างใจหวัง ในหลักสูตรการจัดการสารสนเทศที่ผมเรียน มีวิชาแกนเป็นวิชาทางด้านบรรณารักษศาสตร์ เป็นวิชาจำพวก การจัดเก็บค้นคืน การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ แหล่งสารสนเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เรียนในรูปแบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และวิชาเลือกที่มหาวิทยาลัย นิสิตสามารถเลือกได้ 3 แขนงวิชา ได้แก่ แขนงทางด้านสารสนเทศ แขนงทางด้านสื่อสารสนเทศและการเผยแพร่สารสนเทศ และแขนงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งแขนงนี้จะเกี่ยวข้องกับวิชา ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ การค้นคืนสารสนเทศ และห้องสมุดดิจิทัล ปัจจัยแรกผมดีใจที่ได้เรียนสาขานี้ถึงแม้ว่า ตอนเลือกที่จะเรียนยังไม่รู้ถึงแก่นสารที่แท้จริง แต่เมื่อเรียนแล้ว จะเห็นว่า ระบบสารสนเทศไหน ก็ไม่ยากเท่าระบบห้องสมุดอัตโนมัติ เพราะมีความซับซ้อนทางข้อมูล กระบวนการ ต่างๆ และตอนนี้ผมก็ทำงานตรงสายที่เรียน และเงินเดือนก็มากพอสมควรในวุฒิการศึกษานี้
    บรรณารักษ์ศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ การจัดการสารสนเทศ สารสนเทศศึกษา ผมว่าล้วนแล้วแต่เป็นชื่อเรียกกลุ่มสาขาที่เรียนมาทางด้านจัดการข้อมูล สื่อ หนังสือ ทั้งสิ้น การเปลี่ยนชื่อให้น่าสนใจ ทันยุคและสมัย ทันกับเทคโนโลยีทีเปลี่ยนไป หลักสูตรจึงต้องเปลี่ยนแปลงตาม บางมหาวิทยาลัยประสบกับปัญญหาไม่มีนัีกศึกษาเข้ามาเรียน จึงต้องเปลี่ยนชื่อ จากประสบการณ์ของผมตอนนี้ มหาวิทยาลัยที่ผมเรียน ในหลักสูตรการจัดการสารสนเทศ ปัจจุบันมีนักศึกษาไม่ถึงสิบคน แต่หลังจากเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว มียอดการสมัครรอบโควต้าเกือบร้อยคน ผมเห็นด้วยกับที่พี่วายเขียนเรื่องเด็กสามกลุ่ม ด้านบน ในยอดร้อยกว่าคนที่สมัคร ก็จะมีเด็กสามกลุ่มนี้ปะปนอยู่ แต่อย่างน้อยๆ เราก็มีนักสารสนเทศ บรรณรักษ์ เพิ่มขึ้น
    ในเรื่องของชื่อหลักสูตร ผมอยากให้มองว่า เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เพราะ สกอ. จะต้องให้หลักสูตร จัดทำหลัดสูตร ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทุกๆ 5 ปี ดังนั้นภาควิชาจึงต้องเปลี่ยนแปลงตาม แต่วิชาแกนก็ยังคงเป็นบรรณารักษ์ เหมือนเดิม.

  7. เรียนจบสารนิเทศสาตร์ (สารสนเทศ)ไม่รู้จะสมัครงานอะไร เพราะไม่มีใคร ระบุว่ารับ สาขานี้ แม้แต่ไปสมัคร บรรณารักษ์ เขายังไม่รับ เขาบอกต้องจบบรรนารักษ์ ตกลงสาขานี้เรียนอะไร ทำไม่มีงานรองรับ แล้วเปิดมาเพื่ออะไรอะ

  8. มีปัญญามากกับชื่อเอก สารสนเทศศาตร์จบเอกนี้มาแล้วไปสมัครสอบเข้ารับราชการของกองทัพเรือตำแหน่งบรรณารักษ์ แต่เขาบอกว่าชื่อเอกไม่ตรงสมัครไม่ได้ คืองงมากทั้งที่เรียนเกี่ยวกับห้องสมุดมาทั้ง4ปี

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*