Food for Thought : บรรณารักษ์ขี้สงสัยถึงอยู่รอด

อาหารสมองยามเย็นวันนี้มาจากการอ่านนิตยสาร Business+ ฉบับเดือนกันยายน 2562 ซึ่งมีคอลัมน์หนึ่งที่ทำให้ผมต้องหยุดอ่าน คอลัมน์นี้ คือ Management Strategies ซึ่งเขียนเรื่อง “ยุคนี้ (อยู่ให้) รอด ด้วยความขี้สงสัย” และเขียนโดยคุณอริญญา เถลิงศรี (MD ของ SEAC)

“ความขี้สงสัย” คือบ่อเกิดแห่งปัญญา อุปนิสัยพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เด็กจนโตเรามักจะชอบตั้งคำถามว่า “ทำไม” อยู่เสมอ

ถ้าใครที่เคยดูการ์ตูนเณรน้อยเจ้าปัญญา (อิคคิวซัง) คงจะคุ้นกับตัวละครตัวหนึ่ง นั่นคือ “เจ้าหนูจำไม” (ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะถามว่า “จำไมหล่ะ”) ซึ่งนั่นก็บ่งบอกแล้วว่า คำถามมาตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก

พอโตขึ้นความขี้สงสัยของเราบางทีก็เริ่มหายไป คงเป็นเพราะความกลัวต่างๆ นานา เช่น กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่เก่ง กลัวว่าคนอื่นจะว่าเราโง่ …. จนในที่สุดเราก็จะไม่กล้าถามอะไรกับใครใดใดทั้งสิ้น งานที่เราทำถ้าทำได้ดีอยู่แล้วก็ทำตามๆ กันมา

ในส่วนของงานด้านห้องสมุดก็เช่นเดียวกันครับ บางเรื่องเพื่อนๆ เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า

  • ทำไมต้องจัดหนังสือเรียงตามตัวเลขหรือตัวอักษร
  • ทำไมห้องสมุดต้องเป็นสถานที่ที่เงียบสงบเสมอ
  • ทำไมเราต้องจัดทำรายการบรรณานุกรมแบบนั้นแบบนี้
  • ทำไมการจัดซื้อหนังสือในหน่วยงานต้องมีขั้นมีตอนมากมาย

ซึ่งการตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ดีระดับหนึ่ง แต่จะดีมากถ้าเราเริ่มหาคำตอบ และหาวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน บางเรื่องมันอาจดีที่สุดในอดีตและไม่เคยมีรูปแบบการปฏิบัติใหม่ๆ มาจนถึงปัจจุบัน (บางทีก็เหมือนจะดีแต่ไม่เข้ากับบริบทที่เป็นอยู่ก็ได้)

กลับมาที่นิตยสารครับ ในบทความนี้ได้ถอดสูตรสำเร็จขององค์กรระดับโลกไว้และแบ่งเป็น 5 ข้อ ดังนี้

1) เราต้องไม่หยุดที่จะสงสัย
2) เราต้องรู้สึกอยากรู้และวิเคราะห์ข้อมูลตลอดเวลา
3) เราต้องรู้สึกดีและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เรียนรู้และปรับใช้ได้)
4) เราต้องทำทุกอย่างให้เร็วกว่าเดิม
5) เราต้องทำงานกับคนในหลาย generation ได้

ข้อคิดเพิ่มเติมที่ได้จากการอ่านบทความนี้ : ความรู้และทักษะที่เราเคยเรียนรู้มาทุกๆ 4 ปีจะใช้ไม่ได้ถึง 30% (อย่างที่เคยเกริ่นว่าความรู้ของเราก็มีวันหมดอายุ) ดังนั้นเราจะต้อง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) ลบสิ่งที่เรียนรู้เดิมๆ ไปบ้าง (Unlearn) และปรับสิ่งที่เรียนรู้ให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน (Relearn) เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราอยู่รอดได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนะครับ

Mindset ต่อการเรียนรู้ที่สำคัญมีอยู่ 3 ระดับ ดังนี้
1) Lifelong learning mindset : การค้นหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเรา
2) Learn to be learner mindset : การรู้จักการเรียนเพื่อจะเป็นผู้เรียนที่ดี
3) Dealing with uncertainty mindset : การเรียนรู้ที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน (ไม่ชัดเจน)

ปิดท้ายบทความนี้ด้วย “ห่วงโซ่ขี้สงสัย (Chained Why) จะพาเราไปพบโอกาสในการพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนเร้น เพิ่มทักษะรอบด้าน และนำพาไปสู่การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

จริงๆ มีหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แนะนำหลายเล่มเลย หนึ่งในนั้นผมขอแนะนำเรื่อง
ทำไมต้องเริ่มด้วย “ทำไม” : Start with Why อ่านต่อที่ https://www.maruey.com/article/contentinbook/488

มาฝึกตั้งคำถามกันเถอะ

  1. ทำไมผู้ใช้บริการถึงเข้ามานั่งทำงานในห้องสมุด (โดยไม่หยิบหนังสือของเราอ่าน)
  2. หนังสือที่ห้องสมุดของเรามีถูกใช้ครบทุกเล่มจริงหรือไม่ (Data Driven in Library work)
  3. จะทำอย่างไรผู้ใช้บริการจึงจะอ่านหนังสือ
  4. ทำไมผู้ใช้บริการไม่หยิบหนังสือต่างประเทศมาอ่าน

ใครได้คำตอบแล้วช่วยแสดงความคิดเห็นกันหน่อยนะครับ … “จำไมหล่ะ”

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*