รับสมัครผู้ช่วยบรรณารักษ์ @ Neilson Hays Library

วันนี้ผมมีตำแหน่งงานด้านห้องสมุดมานำเสนอให้เพื่อนๆ อีกแล้ว
สำหรับคนที่กำลังหางานอยู่หรือเพิ่งจบใหม่ๆ ผมขอแนะนำงานนี้เลยนะครับ

library-job

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับตำแหน่ง
ชื่อตำแหน่ง : ผู้ช่วยบรรณารักษ์
สถานที่ทำงาน : ห้องสมุด Neilson Hays ตั้งอยู่ที่ 195 ถ.สุรวงศ์ บางรัก กทม

คุณสมบัติประจำตำแหน่งนี้
– เพศหญิง
– จบปริญญาตรีสาขาบรรณารักษศาสตร์ หรือ สารสนเทศศาสตร์
– ติดต่อสื่อสารด้วยภาษาอังกฤพอใช้
– มนุษยสัมพันธ์ดี

ห้องสมุดแห่งนี้รับบรรณารักษ์เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นนะครับ
สาเหตุอาจจะมาจากภูมิหลังของห้องสมุดแห่งนี้ที่ในอดีตครั้งหนึ่งเคยชื่อว่า “สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ”

ภาระงานหลักของตำแหน่งนี้ คือ
– บริการยืมคืนหนังสือที่เคาน์เตอร์
– จัดเก็บหนังสือขึ้นชั้น
– บริการถามตอบปัญหาเรื่องการใช้ห้องสมุดทั่วไป
– งานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับห้องสมุด

เอาเป็นว่าลักษณะงานก็เป็นงานทั่วไปๆ ในห้องสมุดแหละครับ แค่นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์บริการยืมคืนทั้งวัน
และก็นำหนังสือที่ผู้ใช้นำมาคืนไปขึ้นชั้นให้เรียบร้อยก็เท่านั้น

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานนี้

กรุณาส่งเมล์มาถามที่ chompoom@hotmail.com หรือ โทร. 02-233-1731

เว็บไซต์ห้องสมุด Neilson Hays : http://www.neilsonhayslibrary.com/index.shtml

ความทรงจำดีๆ เรื่องเว็บไซต์ห้องสมุดชิ้นแรกของผม

วันนี้ผมลื้อไฟล์งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเจองานชิ้นนี้ (เว็บไซต์แรกที่ผมสร้างให้กับห้องสมุด) โดยบังเอิญ
วันนี้ผมจึงขอรำลึกถึงความหลังและเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบคร่าวๆ นะครับ

ขอ censor ชื่อหน่วยงานและหน้าของสาวๆ นะครับ
ขอ censor ชื่อหน่วยงานและหน้าของสาวๆ นะครับ

ในขณะนั้นผมอยู่ในตำแหน่งบรรณารักษ์ไอทีของห้องสมุดแห่งหนึ่ง (ลองอ่านจากประวัติผมดูนะครับ)
ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการห้องสมุดให้จัดทำเว็บไซต์ของห้องสมุดขึ้นมา

จุดประสงค์ของเว็บไซต์ที่ผมสร้าง
– เพื่อแนะนำข้อมูลทั่วไปของห้องสมุด เช่น ประวัติความเป็นมา เวลาทำการ นโยบายในการให้บริการ ฯลฯ
– เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบรรณารักษ์ และผู้ใช้บริการ
– เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารของห้องสมุด
– เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังสารสนเทศออนไลน์

ต้องขอบอกก่อนเลยนะครับ ช่วงนั้นผมยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับไอทีสักเท่าไหร่
เลยออกแบบเว็บไซต์ห้องสมุดอย่างง่ายๆ ขึ้นมา โดยเขียนด้วย HTML ธรรมดาๆ

แต่ด้วยความโชคดีของผมที่ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ ผมได้เป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์มาก่อน
เลยชำนาญกับการออบแบบงานใน Photoshop
ดังนั้นผมจึงผสานระหว่างความรู้ด้านไอทีและการออกแบบจนได้เว็บไซต์ห้องสมุดออกมา

ในเว็บไซต์นี้ประกอบด้วย
1. ฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม – เพื่อช่วยในการค้นหนังสือจากห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา
โดยเว็บของผมก็จะเชื่อมไปยัง http://uc.thailis.or.th

2. การจัดการความรู้ห้องสมุด – เพื่อสร้างชุมชนการจัดการความรู้ ซึ่งตอนนี้เชื่อมโยงมาที่บล็อกนี้

3. กฤตภาคออนไลน์ – เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นข่าวเก่าๆและบทความดีๆ ได้
ซึ่งส่วนนี้ผมสร้างเองโดยแบ่งหมวดตามสาขาวิชาที่มีการเปิดสอนที่นี่

4. สุดยอดหนังสือน่าอ่าน – เพื่อเป็นการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจในแต่ละเดือน
โดยผมก็ทำจุดเชื่อมโยงไปที่เว็บของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คในส่วนของอันดับหนังสือขายดี

5. ebook online – เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เมื่ออยู่ที่บ้าน
ไม่ต้องมาที่ห้องสมุด อันนี้ผมก็เชื่อมโยงไปยัง http://www.gutenberg.org/wiki/Main_Page

6. ติดต่อศูนย์วิทยบริการ – ในส่วนนี้จะบอกแผนที่ในการมาที่ห้องสมุด และที่อยู่ในการติดต่อ
รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ด้วย

7. แบบฟอร์มศูนย์วิทยบริการ – ในส่วนนี้เป็นบริการภายในให้บรรณารักษ์สามารถ Download เอกสารประกอบการทำงานได้

8. ศูนย์รวมความรู้นอกตำราเรียน – อันนี้สร้างเองแต่ก็ใช้ข้อมูลจากคนอื่นอยู่ดี
ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมคัดเลือกเรื่องที่น่าสนใจในแต่ละเดือนแล้วนำสไลด์ความรู้ต่างๆ มาให้ผู้ใช้บริการเข้าไปดูได้
โดยผมก็จะเชื่อมโยงไปยังเอกสารต้นฉบับของเจ้าของสไลด์

9. ค้นข้อมูลจาก google – ส่วนนี้มีไว้สำรองเมื่อผู้ใช้บริการไม่สามารถหาหนังสือในห้องสมุด
ก็สามารถค้นข้อมูลได้จาก google ได้

10. แนะนำฐานข้อมูลออนไลน์ – มีการรวบรวมรายชื่อฐานข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย
ที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งฐานข้อมูลที่คัดสรรมานั้นนับว่ามีประโยชน์กับผู้ใช้ที่ต้องการศึกษา
ข้อมูลเพื่อนำไปทำวิจัยได้

11. บริการข่าวสาร –
อันนี้ผมก็ใช้ rss feed ข่าวมาจาก สำนักข่าวต่างๆ โดยแบ่งข่าวเป็น 5 ส่วนคือ
ข่าวการศึกษา / ข่าวไอที / ข่าวสุขภาพ / ข่าวธุรกิจ / ข่าวยานยนต์

12. รวบรวมจุดเชื่อมโยงไปยังห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เพื่อใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม

13. แนะนำหนังสือใหม่ในแต่ละเดือน

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับความสามารถของเว็บไซต์นี้
แต่ถ้าเพื่อนๆ สังเกตจะรู้ว่าหลายๆ เมนู ผมไม่ต้องทำเองก็ได้นะครับ
แค่อาศัยการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ภายนอกก็เพียงพอแล้ว

ของบางอย่างเราสามารถนำมาใช้ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสร้างเอง
สิ่งสำคัญของการทำเว็บไซต์ห้องสมุด คือ ทำออกมาแล้วผู้ใช้ต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด

ผลงานชิ้นนี้ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้มีเว็บไซต์ แต่หลังจากที่ผมลาออกที่นี่ก็เปลี่ยนเว็บไซต์ห้องสมุดใหม่
ซึ่งผมก็แอบน้อยใจนิดๆ เหมือนกัน เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วมีอะไรที่ดีขึ้นผมก็คงยอมได้
แต่นี่เปลี่ยนเว็บไซต์จากที่มีความสามารถดังกล่าวกลายเป็นเว็บไซต์ที่มีแต่แนะนำข้อมูลห้องสมุดอย่างเดียว

เศร้าใจนะ แต่ทำอะไรไม่ได้นี่…

ผู้ชายก็เป็นบรรณารักษ์ได้นะ…

เพื่อนๆ หลายคนคงสงสัยและถามผมอยู่เสมอว่า “ทำไมผู้ชายถึงไม่ค่อยเรียนบรรณารักษ์”
หรือไม่บางคนก็ถามว่า “วิชาชีพบรรณารักษ์ทำไมไม่ค่อยมีผู้ชาย” วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
เกี่ยวกับเรื่องมุมมองของคนส่วนใหญ่ต่อ อาชีพบรรณารักษ์ และ ผู้ชาย

librarian-male

เริ่มจากในสมัยที่ผมเรียนบรรณารักษืก่อนแล้วกันนะครับ
เพื่อนๆ เชื่อหรือไม่ว่า 4 ปี รวมกันมีเพศชายแค่ 10 คนเท่านั้นเอง
ซึ่งถ้าเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ ถือว่าน้อยมากๆ

หลังจากที่ผมเรียนจบแล้ว ได้ไปสมัครงานบรรณารักษ์หลายๆ ที่
ผมมักเจอคำถามลักษณะนี้บ่อยมากว่า ?ผู้ชายแท้หรือปล่าว ทำไมถึงเลือกเรียนและมาเป็นบรรณารักษ์?
ตอนแรกผมก็อึ้งไปนิดหน่อยเพราะไม่คิดว่าเขาจะล้อเล่นได้แรงแบบนี้
แต่พอได้คุยกับหลายๆ คน ผมก็เริ่มเข้าใจครับว่า คงเป็นเพราะมุมมองของวิชาชีพหล่ะมั้ง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า บรรณารักษ์เป็นอาชีพหนึ่งที่มีผู้หญิงทำงานเยอะ หรือมีค่านิยมในการทำงานนั่นเอง
อาชีพที่คนมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้หญิง เช่น พยาบาล บรรณารักษ์ ฯลฯ
อาชีพที่คนมองว่าเป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย เช่น ตำรวจ ทหาร ฯลฯ

ขอเล่าต่อนะครับ ที่ทำงานบางแห่งถามผมว่า “ผู้ชายสามารถเป็นบรรณารักษ์ได้ด้วยหรอ”
ผมก็ตอบไปว่า ?ต้องทำได้สิครับ เพราะว่าผมเรียนจบมาด้านนี้ แถมมันก็เป็นอาชีพที่ผมรักด้วย ทำไมถึงจะทำไม่ได้?
เค้าก็ตอบว่า ?ผู้หญิงน่าจะเป็นบรรณารักษ์ได้ดีกว่าผู้ชาย? ตกลงมันเป็นแบบนี้จริงหรอ

นอกจากนี้ในใบประกาศรับสมัครงานขององค์กรบางแห่ง ได้มีการระบุว่ารับสมัครบรรณารักษ์ที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น
ผมก็แปลกใจว่าทำไมถึงต้องระบุคุณสมบัติว่า เฉพาะเพศหญิง บางทีองค์กรนี้อาจจะมีเหตุผลสักอย่าง ซึ่งผมยังไม่เข้าใจ

ที่ร้ายแรงกว่านั้นยังมีอีกกรณีหนึ่งครับ เนื่องจากผมมีเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลขององค์กรแห่งหนึ่ง
พอผมถามถึงเรื่องนี้ เขาก็ตอบว่า ?ก็เป็นปกติที่เวลารับบรรณารักษ์ เขาจะดูผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย?

ผมจึงถามต่อว่าทำไมหล่ะ ก็ได้คำตอบว่า
?เพราะว่าผู้หญิงทำงานละเอียดกว่าผู้ชาย และมีการบริการที่สุภาพ อ่อนโยน และดึงดูดผู้ใช้บริการได้?
เอาเป็นว่ายังไงๆ ถ้าองค์กรนี้จะรับบรรณารักษ์ องค์กรนี้จะรับบรรณารักษ์ผู้หญิงเท่านั้น

เอาเป็นว่าที่กล่าวมาก็เป็นเพียงบางองค์กรเท่านั้นนะครับ

จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้หรอกนะครับ แต่เพราะว่าในสิ่งที่เพื่อนผมตอบมาให้ฟังนั้น
บางทีผมก็รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่หรอก เพราะ “เพื่อนชายบางคนที่ผมรู้จักเขาก็ทำงานแบบว่าละเอียดกว่าผู้หญิง” ก็มี
เรื่องการบริการ บรรณารักษ์ทุกคนที่เรียนมักจะถูกสอนมาอยู่แล้วว่าเราต้อง service mind อยู่แล้ว
ส่วนสุดท้ายผมคงเถียงไม่ได้ เนื่องจากเพศชายยังไงๆ ก็ไม่สามารถดึงดูดใครเข้าห้องสมุดได้
และอีกอย่างการจะดึงดูดใครเข้าห้องสมุดมันไม่ใช่แค่เรื่องว่าเพศหญิงหรือเพศชาย
แต่มันขึ้นอยู่กับภาพรวมของห้องสมุดว่าสามารถบริการและตอบสนองผู้ใช้บริการมากที่สุดหรือไม่

สรุปจากเรื่องนี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายก็สามารถทำงานบรรณารักษ์ได้ทั้งนั่นแหละ
และจะทำงานดีหรือไม่ดียังไง มันขึ้นอยู่กับลักษณะและพฤติกรรมการให้บริการของแต่ละคนไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเพศ

หมายเหตุก่อนจบ ผมยืนยันครับว่า ผมเป็นผู้ชาย 100% ที่ทำงานบรรณารักษ์นะครับ

เมื่อบรรณารักษ์อย่างผมเจอกับผู้ใช้บริการหัวหมอ

วันนี้ขอเล่าเรื่องในอดีตนิดนึงนะครับ สมัยตอนที่ผมยังเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งหนึ่งอยู่
อ๋อ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ว่าเป็นห้องสมุดสถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (ลองอ่านประวัติผมดูจะรู้ว่าที่ไหน)
ผมก็พบเจอกับผู้ใช้บริการห้องสมุดหลากหลายรูปแบบ (อาจารย์ นักศึกษา พนักงาน เจ้าหน้าที่) วันนี้เป็นเพียงเคสหนึ่งเท่านั้น

userlibrary

ผู้ใช้หัวหมอ คือ ผู้ใช้บริการที่ฉลาดแกมโกง มีความรู้แต่มักใช้ในทางที่ผิด
เมื่อเข้ามาใช้บริการทีไรก็มักจะหาเรื่องปวดหัวมาให้เหล่าบรรณารักษ์ประจำ

ผู้ใช้หัวหมอที่ผมมักจะพบประจำ คือ นักศึกษา ครับ

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

เพื่อนๆ เคยได้ยินประโยคนี้หรือไม่
ผมเอาหนังสือมาคืนแล้วจริงๆ นะครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า…วันหนึ่งนักศึกษา ก. ก็เข้ามาที่ห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือ
แต่ผมไม่สามารถให้ยืมได้เนื่องจากระบบมีข้อความเตือนว่า “ยังมีหนังสือค้างส่ง”
ผมจึงทวงถามถึงหนังสือเล่มดังกล่าว แต่นักศึกษาบอกว่านำมาคืนแล้ว
ผมจึงได้ให้นักศึกษาไปหาหนังสือบนชั้นหนังสือแล้วนำมาแสดงเป็นหลักฐาน

ผ่านไป 10 นาที นักศึกษากลับมาพร้อมกับหนังสือดังกล่าว แล้วพูดว่า
?ก็บอกแล้วว่าคืนแล้วก็ไม่เชื่อ ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเลยนะครับคุณบรรณารักษ์?

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมโดนผู้ใช้ตำหนิว่าไม่รอบคอบ
แต่ก็เอาเถอะครับผมคงไม่รอบคอบเอง เลยถูกผู้ใช้ตำหนิซะบ้าง

แต่ผมก็ยังมีเรื่องที่สงสัยหลายเรื่อง เช่น
– ระบบห้องสมุดในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
– หนังสือที่มาคืนทุกเล่มผมต้องเพิ่มสัญญาณในแถบแม่เหล็ก แต่เล่มนี้กลับยังไม่ได้เพิ่ม

(ผมทดลองหยิบหนังสือเล่มนี้เดินผ่านประตูจับสัญญาณ)

แต่เอาเถอะครับ บรรณารักษ์มือใหม่อย่างผมอาจจะพลาดเองก็ได้

อีกหลายสัปดาห์ต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันกับคนๆ เดิมอีกแล้ว
นักศึกษาคนนี้มาขอยืมหนังสือ และระบบก็เตือนอีกแล้วว่ายังมีหนังสือค้างส่ง
ผมจึงต้องทวงถามไปตามปกตินั่นแหละครับ ซึ่งนักศึกษาก็บอกว่าคืนไปแล้ว “ระบบมั่วปล่าว
วิธีเดิมครับ ถ้าคืนแล้วก็ต้องอยู่ที่ชั้น ผมจึงบอกให้เด็กคนนี้ไปหาที่ชั้นอีกที

หลังจากที่เด็กคนนี้เดินไปสักพัก ผมก็เดินตามไปแบบเงียบๆ

สุดท้ายผมก็พบความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้
นั่นคือ “นักศึกษาคนนั้นเดินไปที่ชั้นหนังสือ สักพักก็หยิบหนังสือที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าออกมา

พอเขาหันหลังกลับมา ก็เห็นผมยืนอยู่ข้างหลังก็ตกใจเล็กน้อย
แล้วก็ยังหยิบหนังสือมาโชว์ผมอีกว่า “นี่ไงหาเจอแล้ว
ผมก็เลยบอกไปว่ามา “ยืนดูอยู่นานแล้ว…

เอาเป็นว่าผมคงไม่ลงโทษอะไรมากมายหรอกครับ แค่ทำเรื่องส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาก็เท่านั้น

เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ อ่านแล้วรู้สึกยังไง มีใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างมั้ยครับ
เอาเป็นว่าเล่าสู่กันฟังครับ แล้วหาทางแก้ไขกันดีกว่า…

ความสัมพันธ์ระหว่างงานห้องสมุดกับงานฝ่ายบุคคล

เรื่องราวที่ผมกำลังจะเขียนต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีตที่ผมทำงานเป็นบรรณารักษ์ให้องค์กรแห่งหนึ่งอยู่
และผมเชื่อว่าห้องสมุดภายในองค์กรหลายๆ แห่งมักประสบปัญหานี้เช่นกัน (องค์กรที่มีห้องสมุดให้บริการคนภายใน)

hr-library

เมื่อบุคลากรคนหนึ่งลาออกไปแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลไม่แจ้งให้ห้องสมุดทราบ
วันดีคืนดีห้องสมุดมาตรวจสอบข้อมูลอีกที ก็พบว่าบุคลากรที่ลาออกคนนั้นมีหนังสือค้างส่ง
ซึ่งถ้าเป็นหนังสือทั่วไปค้างส่งคงไม่เท่าไหร่ แต่นี่เป็นหนังสือที่ค้างส่งที่เป็น text book ราคาแพงและหลายเล่มด้วย
และเมื่อขอข้อมูลจากผ่านบุคคลและติดต่อไปยังบุคลากรคนนั้นกลับติดต่อไม่ได้

ห้องสมุดเกิดความเสียหายเนื่องจากบุคลากรลาออกไปหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหา…

ห้องสมุดพยายามทำเรื่องไปให้ฝ่ายบุคคลหลายรอบแล้ว (เรื่อง ขอตรวจสอบสถานะการยืมของบุคลากรที่มีความประสงค์จะลาออก)
แต่กลับถูกเมินเฉย และต่อว่ากลับมาว่า “เป็นหน้าที่ของห้องสมุดที่ต้องทวงถามการยืมจากบุคลากรเอง
แต่เมื่อชี้แจงว่า “ในเมื่อห้องสมุดมิอาจจะทราบได้ว่าเดือนนี้ใครจะลาออกบ้างแล้วจะให้ห้องสมุดทำอย่างไร
กลับได้รับคำตอบว่า “ห้องสมุดก็ต้องมาตรวจสอบจากฝ่ายบุคคลเอง

สรุปง่ายๆ หน้าที่ของห้องสมุดนอกเหนือจากงานที่ต้องดูแลหนังสือแล้ว
ยังต้องมาดูแลว่าบุคลากรคนไหนจะลาออกเมื่อไหร่และก็ต้องตามเช็คให้อีก
มันถูกต้องหรือไม่ อันนี้ผมคงไม่อยากให้ความเห็น
เพราะว่าผมคิดว่าเพื่อนๆ คงคิดกันได้ว่าใครควรรับผิดชอบงานอะไรกันแน่

เอาเป็นว่าถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ลองอ่านสิ่งที่ผมจะเขียนด้านล่างดูนะครับ

ห้องสมุดควรจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของตัวเอง
เช่นฝ่ายการเงิน / ฝ่ายบุคคล เพื่อพูดคุยและตกลงข้อกำหนดต่างๆ ร่วมกัน
มิใช่ผลักภาระและปัญหาให้กันอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้

เมื่อมีบุคลากรมาขอลาออก คนๆ นั้นก็จะยื่นเรื่องขอลาออกที่ฝ่ายบุคคล
ฝ่ายบุคคลก็จะควรตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคนๆ นั้นที่มีต่อองค์กร
โดยทั่วไปฝ่ายบุคคลก็จะติดต่อไปยังฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายตรวจสอบวัสดุ ฝ่ายการเงินและควรติดต่อกับห้องสมุดด้วย

ฝ่ายห้องสมุดก็จะได้ตรวจสอบหนังสือค้างส่งและค่าปรับค้างชำระของบุคลากรท่านนั้นด้วย
หากไม่ทำเช่นนี้แล้ว เมื่อบุคลากรท่านนั้นลาออกไปแล้ว ห้องสมุดจะไม่รู้เรื่องเลยและหนังสือที่มีคุณค่าก็จะกลายเป็นหนังสือสูญหาย

เอาเป็นว่าการพูดคุยทำความเข้าใจในหน้าที่ จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้
หากพูดคุยกันแล้วมีเรื่องถกเถียงกันก็ให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้ก็ได้นะครับ

นี่ก็เป็นเพียงข้อเสนอของผม และเรื่องราวที่อยากเล่าสู่กันฟังก็เท่านั้นเอง

ไอเดียในการจัดกิจกรรมสำหรับห้องสมุดจากเว็บบอร์ดชื่อดัง (Pantip.com)

วันนี้อยู่ว่างๆ 1 วันเลยขอเปิดเว็บไซต์ต่างๆ อ่านเพื่อเก็บไอเดียจากเว็บไซต์มาคิดกิจกรรมห้องสมุด
หลังจากที่เปิดเว็บนู้นนี้มาตั้งเยอะ สุดท้ายก็มาจบที่เว็บบอร์ดชื่อดังของประเทศ นั่นก็คือ Pantip.com นั่นเอง

idealibrary

ใน Pantip.com มีห้องอยู่ห้องหนึ่งที่น่าสนใจมากและชื่อก็เหมือนกับวงการของเรา นั่นก็คือ “ห้องสมุด”
ซึ่งภายในห้องนี้จะเน้นเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ วรรณกรรม นักเขียน ปรัชญา และอื่นๆ ที่น่าสนใจมากมาย
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆสนใจก็ลองเข้าไปที่ http://pantip.com/ แล้วเลือก “ห้องสมุด” ดูนะครับ

ในห้องสมุดแห่งนี้ ผมได้พบกับกระทู้ถามตอบมากมาย
จนไอเดียเกี่ยวกับกิจกรรมรักการอ่านก็ผุดขึ้นมากมายเช่นกัน
ซึ่งเดี๋ยวผมจะขอสรุปกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับห้องสมุดให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ

ไอเดียในการจัดกิจกรรมสำหรับห้องสมุด
เช่น
1. หนังสือทำมือ
หนังสือทำมือถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากโดยเน้นการส่งเสริมให้รักการอ่านและพัฒนาการเขียนอีกด้วย
การทำหนังสือทำมือสักเล่มหนึ่งไม่ได้ยากเกินไป ใครๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่
ดังนั้นห้องสมุดน่าจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมหนังสือทำมือบ้าง เช่น
– นิทรรศการและการแสดงผลงานหนังสือทำมือ
– การอบรมการทำหนังสือทำมือ
– ประกวดหนังสือทำมือประเภทรูปเล่มสวยงามและน่าสนใจ
– ประกวดหนังสือทำมือประเภทเนื้อหาโดดเด่นและมีสาระ


2. การเข้าเล่ม การเย็บเล่ม และการซ่อมแซมหนังสือ

งานเทคนิคต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับงานเทคนิคของบรรณารักษ์อยู่แล้ว
ดังนั้นห้องสมุดสามารถถ่ายทอดความรู้ในงานเทคนิคเหล่านี้ให้ผู้ใช้บริการได้เข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วย
ดังนั้นห้องสมุดจึงควรจัดกิจกรรมเกี่ยวการซ่อมแซมหนังสือต่างๆ เช่น
– นิทรรศการการเข้าเล่มและการเย็บเล่มหนังสือแบบต่างๆ
– นิทรรศการเรื่องการอนุรักษ์และการใช้หนังสืออย่างถนุถนอม
– อบรมการซ่อมแซมหนังสือด้วยตัวเอง

3. นักเขียนกับห้องสมุด
ในชุมชนออนไลน์แห่งนี้เพื่อนๆ หลายๆ คนมักจะมีนักเขียนในดวงใจของตัวเอง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยให้เพื่อนๆ รักการอ่าน
เช่นเดียวกันผมว่าผู้ใช้ห้องสมุดหลายๆ คนเอง ก็คงมีนักเขียนในดวงใจของเขาเหมือนกัน
ดังนั้นห้องสมุดจึงควรจัดกิจกรรมร่วมกับนักเขียนหนังสือชื่อดัง หรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักเขียน เช่น
– นิทรรศการรู้จักนักเขียนรางวัลซีไรต์
– อบรมหลักสูตรการเป็นนักเขียน
– การตกแต่งห้องสมุดด้วย Quote เด็ดๆ จากนักเขียนชื่อดัง (จากไอเดีย กิจกรรมวาทะคนแถวหน้า @B2S)
– กิจกรรมเปิดตัวหนังสือใหม่และเสวนากับนักเขียน
– แนะนำหนังสือที่นักเขียนแนะนำ
– ร้อยคำเป็นเรื่องเป็นราว (กิจกรรมนำคำที่กำหนดมาแต่งเป็นเรื่องราว)

4. หนังสือ
กิจกรรมที่เกี่ยวกับหนังสือมีมากมายเลยครับในเว็บไซต์เห็นนี้
หากเพื่อนๆ จับประเด็นได้จะพบกับกิจกรรมที่สามารถนำมาใช้จัดในห้องสมุดได้ครับ เช่น
– นิทรรศการหนังสือหายากและหนังสือทรงคุณค่า
– กิจกรรม Rainy Read Rally หรือ กิจกรรมเหมันต์ขยันอ่าน (Winter Wonder Read : WWR)
– อ่านหนังสือเดือนละเรื่อง (ไอเดียจาก TRB Challange โครงการทลายกองดอง 12 เล่มใน 12 เดือน)
– การวิจารณ์หนังสือ (Book Review)
– แรงบันดาลใจในหนังสือเล่มโปรด
– การเล่านิทานในวันหยุดสุดสัปดาห์
– งานหนังสือมือสอง (ไอเดียจาก งานหนังสือมือสองที่ห้องสมุด Neilson Hayes)


5. เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับห้องสมุด

– การรับบริจาคหนังสือและช่วยเหลือห้องสมุดที่ขาดแคลนสื่อ
(ไอเดียจาก โครงการ “เติมหนังสือสู่สมอง” http://www.books4brains.org/)
– การจัดมุมหนังสือเพื่อชุมชน (นำหนังสือมือสองของคนในชุมชนมาจัดเป็นมุมหนังสือ)
– พนักงานตำแหน่ง Book Specialists และ Book Consultants ให้คำแนะนำผู้ใช้บริการในการเลือกหนังสือ
– เสวนาเพื่อสร้างกระแสนักอ่าน (ไอเดียจาก งานเสวนา วรรณกรรมเยาวชน..ในหัวใจคนรักอ่าน)

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมที่ผมเก็บมาจากไอเดียต่างๆ ในเว็บไซต์ Pantip.com นะครับ
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่างๆ ก็ลองแว๊บเข้าไปอ่านกันดูแล้วเอามาแชร์ไอเดียแลกเปลี่ยนกันนะครับ

สุดท้ายก็ขอขอบคุณทุกไอเดียที่เขียนใน Pantip.com นะครับ
ไอเดียมีอยู่ทุกที่เพียงแค่คุณจะรู้จักหยิบมันมาใช้หรือเปล่าก็เท่านั้น

มีอะไรในห้องสมุดมารวย

ไม่ได้ไปเที่ยวห้องสมุดมานาน วันนี้ผมจึงขอหยิบแผ่นพับห้องสมุดแห่งหนึ่งมาอ่าน
แล้วก็ขอเขียนเล่าเรื่องห้องสมุดแห่งนี้ขึ้นมา ห้องสมุดแห่งนี้คือ “ห้องสมุดมารวย” นั่นเอง

maruey-library

“ห้องสมุดมารวย” แต่เดิมมีชื่อว่า “ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518
โดยเน้นหนังสือและสื่อสารสนเทศที่เกี่ยวกับการเงิน การออม การลงทุน ตลาดหุ้น และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้องสมุดมารวยในปี พ.ศ. 2547 เพื่อเป็นเกียรติแด่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 5

สำหรับการเปลี่ยนแปลงห้องสมุดจาก ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็น ห้องสมุดมารวย
มีแนวคิดในการปรับปรุงห้องสมุดทั้งกายภาพและบริการให้เข้าสู่ความเป็น ห้องสมุดเพื่อคนรุ่นใหม่สไตร์ Modern Library นี้
เกิดขึ้นจากแนวคิดของ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 9

ภายในห้องสมุดมารวยมีการตกแต่งบรรยากาศในลักษณะที่เป็นห้องสมุดแห่งความทันสมัย และดูน่าใช้บริการ
ซึ่งภายในห้องสมุดมารวยนี้ มีบริการต่างๆ มากมาย อาทิเช่น
– คอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้นข้อมูล
– อินเทอร์เน็ตไร้สาย (wifi)
– มุมนันทนาการ
– เสวนาวิชาการ
– มุมดูหนังฟังเพลง
– มุมเกมลับสมอง
– ร้านกาแฟ
– ร้านหนังสือ settrade.com
– และอื่นๆ

และที่สำคัญที่ผมชอบ คือ เรื่องเวลาเปิดและปิดบริการครับ
เนื่องจากที่นี่ไม่มีวันหยุดเลย แม้แต่วันเดียว และเปิดให้บริการตั้งแต่ 8.30 – 23.00 น.
และในวันศุกร์ เสาร์จะเปิดในเวลา 8.30 – 24.00 น.
เป็นยังไงกันบ้างครับ มีที่ไหนที่ทำได้อย่างนี้มั้ยครับ

เอาเป็นว่า แนะนำให้ลองเข้าไปชมดู แล้วจะรู้ว่าห้องสมุดดีๆ ยังมีอีกเยอะในเมืองไทย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมลองเข้าไปที่เว็บ www.maruey.com

เทคนิคการ catalog หนังสือด้วยวิธีง่ายๆ

งานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ หรืองาน catalog เป็นงานที่สำคัญอีกงานหนึ่งในห้องสมุด
เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวกับการให้เลขหมู่และหัวเรื่องของหนังสือหรือสื่อสารสนเทศในห้องสมุด

cataloging

หนังสือหรือสื่อสารสนเทศในห้องสมุดจะถูกค้นหาได้ง่ายหรือยากก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการในส่วนนี้
ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับงาน catalog เช่นเดียวกับการให้บริการสารสนเทศในห้องสมุด

เอาเป็นว่าผมขอพูดถึงปัญหาที่พบของงาน catalog ให้เพื่อนๆ ฟังก่อนนะครับ

หลักๆ ก็ไม่มีอะไรมากหรอก แค่เพื่อนๆ เคยสังเกตมั้ยครับว่า
“หนังสือเล่มนึงอาจจะมีการถูก catalog ไม่เหมือนกัน”
เช่น หอสมุดแห่งชาติให้เลขหมู่อย่างหนึ่ง ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาให้อีกอย่างหนึ่ง ฯลฯ

ดังนั้นหนังสือ ก. จึงมีข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไม่เหมือนกัน

เอางี้ เวลาเพื่อนๆ ไปห้องสมุด ก แล้วพาหนังสือ และเจอหนังสือที่ต้องการในชั้นหนังสือทั่วไป
แต่เวลาไปห้องสมุด ข เดินไปที่ชั้นหนังสือเดียวกันกลับไม่เจอ ทำให้ต้องเสียเวลาค้นหาใหม่
และพบว่าหนังสือเล่มนั้นไปอยู่อีกชั้นหนึ่งทั้งๆ ที่รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง

ดังนั้นหลายๆ ครั้งที่ไปพบกับเพื่อนๆ ในห้องสมุดที่ต่างๆ ผมจึงแนะนำให้เพื่อนๆ ใช้งาน copy catalog
เพื่อที่จะช่วยลดเวลาในการทำงานให้เพื่อนๆ และที่สำคัญคือ เพื่อปรับข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือเล่มใหม่ๆ
ให้มีข้อมูลบรรณานุกรมที่เหมือนกัน หรือคล้ายกันมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการให้เลขหมู่และหัวเรื่อง

หลักการง่ายๆ คือ เข้าไปที่เว็บไซต์สหบรรณานุกรม แล้วค้นหาหนังสือดังกล่าว แล้วก็ copy
ง่ายไปหรือปล่าวครับ —> ไม่ง่ายหรอกครับ เพราะเมื่อ copy มาแล้วเพื่อนๆ จะใช้ตามนั้นเลยคงไม่ได้

เพื่อนๆ จะต้องมาพิจารณาข้อมูลรายการบรรณานุกรมเล่มนั้นจริงๆ จังๆ สักหน่อย
เพราะบางแห่งก็ใช้การจัดหมวดหมู่ที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางที่ใช้แอลซี บางที่ใช้ดิวอี้
ดังนั้นเพื่อนๆ ต้องดูรายละเอียดเหล่านี้ให้ดีๆ ด้วยนะครับ

สำหรับเว็บไซต์ที่ผมจะแนะนำเพื่อการ Copy Catalog มีดังนี้
– สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษ –> http://catalog.loc.gov

lc

– สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษ –> http://www.oclc.org/worldcat/

oclc

– สำหรับหนังสือภาษาไทย –> http://uc.thailis.or.th/

thailis

นอกจากนี้ก็ยังมีเว็บไซต์ของห้องสมุดต่างๆ โดยเฉพาะห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของไทย

เอาเป็นว่าก็ลองเข้าไปใช้กันดูนะครับ แต่ผมก็ขอบอกไว้ก่อนว่า
ในเว็บไซต์เหล่านี้ก็ใช่ว่าจะมีหนังสือครบทุกเล่ม ดังนั้นเล่มไหนที่ไม่มีเพื่อนๆ ก็ต้องลองประยุกต์กันเองนะครับ

สัมมนาเรื่อง “มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้”

วันนี้ผมมีงานสัมมนาที่น่าสนใจสำหรับงานห้องสมุดมาประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ เข้าร่วม
งานนี้เป็นงานสัมมนาที่ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานของสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง

digital-media

รายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานสัมมนานี้
ชื่องานสัมมนา : มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้
วันและเวลาที่จัดงาน : วันที่ 27 มกราคม 2553 เวลา 8.30-17.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

งานสัมมนาครั้งนี้จะทำให้เพื่อนๆ เข้าใจในเรื่องของการเผยแพร่เนื้อหาสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งจะเน้นในเรื่องของรูปแบบและมาตรฐานในการเข้าถึงสารสนเทศต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณภาพต่อการให้บริการ
ในอนาคตผมว่าสื่อประเภทดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทต่อวงการห้องสมุดอีกมากมาย
ดังนั้นเพื่อนๆ ควรจะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงด้วย

หัวข้อที่น่าสนใจในงานนี้
– การบรรยายพิเศษ เรื่อง ความสำคัญของมาตรฐานสื่อดิจิทัล โดย ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงศ์
– การพัฒนาคลังความรู้ด้วย Open Source Software โดย นางสาวสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์
– ข้อกำหนดการพัฒนาสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดย นายบุญเลิศ อรุณพิบูลย์
– โครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทย และการหารือเพื่อจัดทำโครงการ โดย แผนงาน ICT สสส.

งานสัมมนาครั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ ดังนั้นเพื่อนๆ รีบๆ ลงทะเบียนกันด้วยนะครับ
ลงทะเบียนได้ที่ http://library.tu.ac.th/registeronline3/register.asp
และเพื่อนๆ สามารถตรวจดูชื่อของคนลงทะเบียนได้ที่ http://library.tu.ac.th/registeronline3/master.asp

งานนี้เป็นงานที่น่าสนใจและน่าเข้าร่วมมากๆ ครับ
เพื่อที่จะทำให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจและสามารถนำไปใช้ประยุกต์ต่องานห้องสมุดของเพื่อนๆ ได้

เอาเป็นว่าสำหรับเพื่อนๆ ที่ไป ก็สามารถเข้ามาทักทายผมได้นะครับ เพราะว่าผมก็เข้าร่วมงานนี้เช่นกัน
แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานนี้ได้ เอาไว้กลับมาผมจะเขียนเล่าเรื่องในบล็อกนี้ให้นะครับ

หากเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://library.tu.ac.th/digitalconference/

LibrarianMagazine ปีที่ 2 เล่ม 8

นิตยสารบรรณารักษ์ออนไลน์ ปี 2 เล่มที่ 8
ออกในเดือนธันวาคม 2552

librarianmagazine

นิตยสารบรรณารักษ์ออนไลน์ฉบับนี้ออกมาในช่วงเทศกาลปีใหม่พอดีเลย
ดังนั้น hilight คงไม่พ้นการอวยพรและส่งความสุขให้เพื่อนๆ นะครับ แต่สาระความรู้ก็ยังคงมีให้อ่านเช่นกัน

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ

เนื้อหาในนิตยสารบรรณารักษ์ออนไลน์เล่มนี้ มีดังนี้

เรื่องจากปก – ส่งความสุข

พาเที่ยว – จากดอยปุยถึงสะเงาะ

บทความ เรื่องสั้น เรื่องแปล – สวัสดี ดี ดี๊ ดี ปี 53

บทความ เรื่องสั้น เรื่องแปล – หยิบหนังสือใส่ตะกร้า

บทความ เรื่องสั้น เรื่องแปล – เก็บตกความสุขจากลานพระราชวังดุสิต

สาระน่ารู้ – ดนตรีของโมสาร์ท

เป็นยังไงกันบ้างครับเนื้อหาดีๆ และน่าสนใจมากมาย ยังไงก็ลองอ่านกันดูนะครับ

เนื่องในโอกาสเทสกาลแห่งความสุขนี้
ผมจึงขออวยพรให้ผู้จัดทำและผู้เขียนบทความทุกคนในนิตยสารบรรณารักษ์ออนไลน์
ให้พบแต่ความสุขและความสมหวังตลอดทั้งปี 2553 นี้นะครับ และอยู่คู่วงการบรรณารักษืไปนานๆ นะครับ

เว็บไซต์บรรณารักษ์ออนไลน์ : http://www.librarianmagazine.com

นิตยสารบรรณารักษ์ออนไลน์ ปี 2 เล่ม 8 : http://librarianmagazine.com/VOL2/NO8/index.htm