หนึ่งตำบลหนึ่งห้องสมุด (One Tumbon One Library)

วันนี้ขอเขียนบล็อกแนวแปลกให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันสักหน่อย
ว่าแต่ว่าเพื่อนๆ เคยได้ยินคำนี้มั้ยครับ คำว่า OTOL(One Tumbon One Library)
หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า “หนึ่งตำบลหนึ่งห้องสมุด” นั่นแหละ

library-country

จริงๆ คำนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับ แค่ผมฟังคำว่า OTOP OTOP OTOP บ่อยมากเกินไป
เลยขอแหวกแนวมาเป็น OTOL สำหรับวงการบรรณารักษ์บ้าง

ทำไมต้องมี 1 ตำบล 1 ห้องสมุดหล่ะ
เพื่อนๆ ก็ลองคิดดูว่าถ้ามีช่องทางในการเข้าถึงความรู้ได้มากๆ คนก็จะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น

แนวความคิดที่อยากเห็นคนไทยทุกคนเข้าถึงสารสนเทศได้ง่ายขึ้น

?แล้วทำไมต้องเป็นห้องสมุดหล่ะ เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ห้องสมุดคงเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นแล้วก็ได้?

คำพูดนี้ผมอาจจะไม่เถียงเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงสารสนเทศได้เร็วขึ้น
แต่เพื่อนๆ เคยคิดถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศมั้ยครับที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ดังนั้นผมจึงบอกว่าห้องสมุดเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากกว่า
โดยที่ห้องสมุดในแต่ละชุมชนไม่ต้องใหญ่โตมากหรอกครับ ขอแค่มีหนังสือที่มีประโยชน์ให้อ่านก็ดีพอแล้ว
ผมว่าก็จะช่วยเพื่อนในชนบทของเราได้แล้ว

โครงการห้องสมุดที่ผมเห็นมากมาย เช่น ห้องสมุดเคลื่อนที่, ชมรมอาสาที่ไปสร้างห้องสมุด
สิ่งเหล่านี้ผมอยากให้เมืองไทยมีมากๆ เพราะว่าการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนในชาติเหมือนกัน
ถ้าคนในชาติมีคุณภาพ ประเทศชาติก็จะเจริญตามไปด้วย

อย่าเพิ่งเครียดกันนะครับ
ผมเพียงแค่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุดก็เท่านั้น
ช่วยๆ กันทำให้เกิดขึ้นนะครับ 1 ตำบล 1 ห้องสมุด

ปล. รูปที่ให้ดูเป็นห้องสมุดของวัดแห่งหนึ่งที่ผมกับเพื่อนๆ ไปช่วยจัด หนังสือไม่เยอะแต่คุณค่าทางใจมีค่ามากที่สุด

ถ้าห้องสมุดเป็นเหมือนคลิปวีดีโอนี้ ผมจะเข้าห้องสมุดทุกวัน

แบบว่าวันนี้เพื่อนผมมันส่งคลิปวีดีโอเพลงนี้มาให้ดู แล้วมันก็บอกผมว่า
“ถ้าห้องสมุดมีบรรยากาศเหมือนในคลิปวีดีโอนี้ มันจะยอมเข้าห้องสมุดทุกวัน”

clipvideo

ผมเลยไม่รอช้าเปิดดูคลิปวีดีโอที่ว่า บอกได้คำเดียวเลยว่า อึ้ง ทึ้ง เสียว จริงๆ
คลิปวีดีโอนี้เป็นการนำเพลงของ Christina Aguilera ชื่อเพลงว่า Candyman
มาทำใหม่ในเวอร์ชั่นของบรรณารักษ์ในห้องสมุด (ทำเล่นๆ กันเองนะครับ)

ไปชมคลิปวีดีโอนี้กันเลย

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=V9CKXrhBffA[/youtube]

เอาเป็นว่าคลิปวีดีโอนี้ผมอยากให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน แก้เครียดนะครับ
เพราะถ้าเอาไปใช้กับห้องสมุดจริงๆ ผมเกรงว่าจะไม่เหมาะสมอ่ะครับ

เอาเป็นว่าขอแถมด้วยมิวสิควีดีโอของเพลงนี้จริงๆ เลย ดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=9UMU30wHuTE[/youtube]

ปล.ชื่อที่ปรากฎใน youtube คือ??? Orianthi – According To You
ผมลองเข้าไปดูเพลงนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ น่าจะพิมพ์ผิดอ่ะครับ

แนะนำห้องอ่านหนังสือชุมชนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

วันนี้ผมขอแนะนำห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งใหม่เพื่อให้เพื่อนๆ รู้จักดีกว่า
ห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งนี้จัดสร้างและบริหารงานโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นั่นเอง

sac-reading-room

ห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งนี้ให้บริการด้านใดบ้าง
– หนังสือ
– วารสาร
– หนังสือพิมพ์
– วีดีโอ
– อินเทอร์เน็ต
– ข้อมูลตลิ่งชันศึกษา
– หนังสือด้านคุณธรรม

ใครๆ ก็สามารถเข้าใช้บริการที่นี่ได้ครับ และไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
บรรยากาศที่เย็นสบาย สื่อที่ทันสมัย บริการที่น่าประทับใจ แบบนี้ต้องมาลองครับ
กิจกรรมที่ส่งเสริมการอ่านที่นี่ก็จัดเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องอีก เยี่ยมไปเลยใช่มั้ยครับ

ห้องอ่านหนังสือชุมชนแห่งนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552
โดยให้บริการในวันจันทร์ ? ศุกร์ เวลา 7.00 ? 18.00 น. และวันเสาร์ เวลา 8.00 -17.00 น.

เอาเป็นว่าใครที่สนใจหรือว่างๆ อยากอ่านหนังสือก็สามารถแวะไปได้ที่
ห้องอ่านหนังสือชุมชนหน้าศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรแถวๆ ตลิ่งชันนะครับ

ใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อได้ที่ 02-8809429 ต่อ 3101

ปล.เรื่องนี้ผมได้ดองไว้มาหลายเดือนแล้วไม่ว่างที่จะเขียนแนะนำ ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ

ไปดูรูปภาพสวยๆ ของห้องอ่านหนังสือชุมชนกันหน่อยดีกว่า

[nggallery id=22]

รวมเอกสารการฝึกอบรมการใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น (ThaiLIS)

วันนี้ผมขอนำเอกสารการฝึกอบรมการใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น โดย คุณจิรวัฒน์ พรหมพร มาแจกนะครับ
ซึ่งฐานข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารด้านล่างนี้ เป็นฐานข้อมูลที่ ThaiLIS บอกรับในปี 2553 นั่นเอง

online-database

เอกสารข้อมูลและวิธีใช้ฐานข้อมูลนี้ ครอบคลุมฐานข้อมูลทั้งหมด 6 ฐาน ดังต่อไปนี้

ฐานข้อมูล ABI / Inform
ฐานข้อมูล ABI / Inform

1. ABI/Inform – ฐานข้อมูลด้านธุรกิจและการบริหารจัดการ
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ACM Digital Library
ACM Digital Library

2. ACM Digital Library – ฐานข้อมูลด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล Dissertation and theses
ฐานข้อมูล Dissertation and theses

3. Dissertation & Theses – ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล H.W. Wilson
ฐานข้อมูล H.W. Wilson

4. H.W. Wilson – ฐานข้อมูลหลากหลายสาขา
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล IEEE และ IET
ฐานข้อมูล IEEE และ IET

5. IEEE / IEL – ฐานข้อมูลหลากหลายสาขา
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล Web of Science
ฐานข้อมูล Web of Science

6. Web of Science – ฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ลองเข้าไปอ่านวิธีใช้งานและข้อมูลภาพรวมดูนะครับ
ผมว่าอย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใจรายละเอียดของเนื้อหาในฐานข้อมูลนั้นๆ ได้ครับ
แถมข้อดีอีกอย่างคือเราก็ไม่ต้องสร้างคู่มือการใช้ฐานข้อมูลให้ผู้ใหญ่ด้วย
เนื่องจากเราสามารถดึงข้อมูลต่างๆ ในนี้ไปจัดทำคู่มือการใช้ฐานข้อมูลประจำห้องสมุดได้ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอลาไปก่อนนะครับ

ปล. เอกสารต่างๆ ที่นำมาเผยแพร่นี้ ผมได้ขออนุญาต คุณจิรวัฒน์ พรหมพร แล้วนะครับ
ดังนั้นหากห้องสมุดหรือบรรณารักษ์ต้องการนำไปเผยแพร่ต่อขอความกรุณาช่วยแจ้ง คุณจิรวัฒน์ พรหมพร ด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ คุณจิรวัฒน์ พรหมพร ที่ได้จัดทำเอกสารดีๆ ให้เราได้เรียนรู้ฐานข้อมูลต่างๆ ครับ

บรรณารักษ์ต้องไม่พลาดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2553

Hilight ของเดือนมีนาคมใกล้จะมาถึงแล้วนะครับ เพื่อนๆ บรรณารักษ์รู้หรือปล่าวว่าคืออะไร
ถูกกกกกก..ต้องงงงงงคร้าบบบบบ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั่นเอง
วันนี้ผมขอประชาสัมพันธ์และเชิญชวนเพื่อนๆ นิดนึงนะครับ…

thailandbookexpo

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2553
ชื่องานภาษาไทย : งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 8 และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 38
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Bangkok International Book Fair 2010 and National Book Fair 2010
วันที่ในการจัดงาน : 27 มีนาคม – 6 เมษายน 2553 เวลา 10.00-21.00 น.
สถานที่จัดงาน : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้จัดงาน : สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

เตรียมพร้อมกันหรือยังครับเหล่าบรรณารักษ์ เหลือเวลาไม่ถึงอาทิตย์เท่านั้นเองนะครับ
งานสัปดาห์หนังสือครั้งใหญ่แบบนี้ผมเองก็อยากให้บรรณารักษ์มาเข้าร่วมกันมากๆ นะครับ

ทำไมบรรณารักษ์อย่างพวกเราต้องมางานนี้
– มาคัดเลือกหนังสือและพูดคุยกับตัวแทนจำหน่ายหนังสือถึงหนังสือที่น่าสนใจ
– มาจัดซื้อจัดหาหนังสือและสื่อสารสนเทศราคาถูกเข้าห้องสมุด
– มาดูกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านในห้องสมุด
– เข้าร่วมฟังสัมมนาและเข้าร่วมอบรมในหัวข้อที่น่าสนใจ

กิจกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เช่น
– นิทรรศการจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
– ห้องสมุด กทม. ……เปิดห้องเรียนรู้สู่โลกกว้าง
– กิจกรรมและนิทรรศการที่สร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว
– นิทรรศการห้องสมุดหนังสือใหม่
– นิทรรศการหนังสือภาพถ่าย
– นิทรรศการหนังสือดีเด่นประจำปี 2553
– กิจกรรม All for Book : Book for All
– บูธรับบริจาคหนังสือจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

จริงๆ แล้วกิจกรรมยังมีอีกเยอะเลยนะครับ แต่ผมขอนำมาเล่าเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ครับ
แต่หากเพื่อนๆ ต้องการรายละเอียดกิจกรรมทั้งหมดก็ให้เข้าไปดูที่หน้าของกิจกรรมและนิทรรศการนะครับ
http://thailandbookfair.pubat.or.th/bangkokibf/index.php?option=com_content&view=article&id=14&Itemid=21

นอกจากนี้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติรอบนี้ก็มีการเปิดตัวหนังสือที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น
– “ทุกข์มาโปรด ความสุขโปรยปราย” โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)
– หนังสือดีที่ต้องมีทุกบ้าน “คู่ฟ้า สองพระบารมี”
– “คุณธรรมนำความรู้” โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
– วรรณกรรมสุดยอดแห่งทศวรรษ “The Left Hand of God” ที่เยาวชนไทยต้องอ่าน
– “คนไทยทึ้งแผ่นดินภาค 3” โดย ท่านว.วชิรเมธี

เอาเป็นว่าขอแนะนำเพียงเท่านี้ก่อนแล้วกัน แบบว่ามีเปิดตัวหนังสือเยอะมากอ่ะ
และที่สำคัญหนังสือที่เปิดตัวล้วนแล้วแต่น่าสนใจมากๆ ทั้งสิ้น

สรุปส่งท้ายเลยดีกว่า คงไม่ต้องบรรยายมากนะครับ
เพราะเพื่อนๆ คงรู้ว่ามันน่าสนใจมากแค่ไหน เอาเป็นว่าเจอกันในงานนะครับ

Reading make a full man = การอ่านทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์
กล่าวโดย Francis Bacon

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของงานสัปดาห์หนังสือ 2553 = http://thailandbookfair.pubat.or.th/bangkokibf/

ห้องสมุดควรมีของที่ระลึกหรือไม่

เวลาผมไปเที่ยวไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ผมก็มักจะหาของที่ระลึกของสถานที่นั้นกลับมาฝากเพื่อนๆ เสมอ
ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองย้อนกลับมาสู่ห้องสมุดต่างๆ บ้างว่า …
“ถ้าผมไปห้องสมุดต่างๆ แล้วพบว่ามีของที่ระลึกของห้องสมุด … มันจะดีแค่ไหนน้า”

ภาพจาก The Library Store at Central Library
ภาพจาก The Library Store at Central Library

แบบสอบถามวันนี้ผมจึงขอตั้งคำถามเกี่ยวกับของที่ระลึกในห้องสมุด
ลองเข้ามาตอบกันดูนะครับ

[poll id=”16″]

หลักๆ แล้วของที่ระลึกที่ผมเห็นมีอยู่สองรูปแบบใหญ่ๆ ก็คือ

1. ของที่ระลึกที่แจกฟรี เช่น ที่คั่นหนังสือ, ปฏิทิน, โปสการ์ดห้องสมุด ฯลฯ
ของที่ระลึกประเภทนี้ห้องสมุดทำขึ้นเพื่อแจกให้ผู้ใช้ทั่วไปของห้องสมุด
บางที่วางไว้ที่โต๊ะสำหรับอ่านหนังสือ บางที่วางไว้ที่เคาน์เตอร์
ซึ่งผู้ที่เข้ามาใช้ก็สามารถนำของเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างสะดวก

2. ของที่ระลึกที่มีไว้จำหน่าย เช่น เสื้อยืดห้องสมุด, ปากกา, แว่นตา, กระเป๋าสะพาย ฯลฯ
ของที่ระลึกประเภทนี้มักเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวหรือไม่ก็แฟนพันธุ์แท้ของห้องสมุดนั้นๆ
ห้องสมุดบางแห่งเปิดเป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึกด้านหน้าของห้องสมุดเลย
ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ของห้องสมุดอีกช่องทางหนึ่ง แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่าแล้วแต่นโยบายของห้องสมุด

calendars2009

บางแห่งไม่สนับสนุนให้มีของที่ระลึกเนื่องจากเป็นภาระของห้องสมุดเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ
นอกจากนี้อาจจะมองในเรื่องของการจัดการที่ค่อนข้างยุ่งยากด้วย เกี่ยวกับการเคลียร์เงินให้ฝ่ายบัญชี

การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ห้องสมุดในต่างประเทศหลายๆ แห่งมีวิธีจัดการโดย
มอบหมายหน้าที่ในเรื่องการจัดทำของที่ระลึกและการจำหน่ายให้เครือข่ายของห้องสมุดเป็นคนจัดการ
เพื่อเป็นเป็นการลดภาระเรื่องการจัดการและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายคนรักห้องสมุดด้วย

เอาเป็นว่าที่เกริ่นมาเยอะๆ แบบนี้เพียงแค่อยากจะรู้ว่า
ห้องสมุดเมืองไทยสมควรมีของที่ระลึกบ้างหรือปล่าว ถ้ามีต้องการของที่ระลึกแบบไหน

เอาเป็นว่าช่วยๆ กันตอบนะครับ

ปล.ภาพประกอบจาก http://www.lfla.org/store/

ขออภัยที่หายไปจากบล็อกห้องสมุดเกือบหนึ่งเดือน…

ไม่ได้เขียนบล็อกมาเกือบหนึ่งเดือนเพื่อนๆ ยังคิดถึงผมกันบ้างหรือปล่าวครับ
วันนี้ผมกลับมาแล้ว และจะมาเล่าให้ฟังว่าหาไปไหนมาบ้าง…

welcomebacklibraryhub

หลายๆ คนที่ติดตามบล็อกผมมานานคงจะรู้ว่า…
ปกติต่อให้มีงานเยอะแค่ไหนผมก็จะเขียนบล็อกอยู่ตลอด
ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ผมเรียนปริญญาโท สอบปริญญาโท
ผมก็ยังคงเขียนบล็อกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนๆ อ่านอยู่ทุกวัน

เหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องหยุดเขียนบล็อกในช่วงที่ผ่านมา
เช่น
– ไม่สบาย ปวดหัว ซึ่งจะหยุดเขียนประมาณ 1-2 วัน
– การเดินทางไปต่างจังหวัด (ไปแต่ละครั้ง 3-4 วัน) ซึ่งจะหยุดเขียนประมาณ 2-3 วัน
– การปรับปรุงและเปลี่ยนจาก Projectlib มาเป็น Libraryhub หยุดเขียนประมาณ 1 เดือน

หลายๆ ครั้งก่อนที่ผมจะหยุดเขียนบล็อก ผมก็จะแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบก่อนทุกครั้ง
แต่ในครั้งนี้ผมหายไปโดยไม่ได้แจ้งใครไว้เลย ทำให้มีเพื่อนๆ ส่งเมล์มาถามข่าวคราวมากมาย

ถ้าเพื่อนๆ สังเกตก็คือ ผมเขียนเรื่องสุดท้ายเมื่อเดือนที่แล้ววันที่ 23 กุมภาพันธ์ แล้วผมก็หายไป
จนวันนี้วันที่ 19 มีนาคม 2553 เท่ากับว่าผมหายไปเกือบ 1 เดือนเลย…

สาเหตุหลักมาจากงานที่ผมได้รับมอบหมายในช่วงนี้ ที่มีเยอะมากและต้องรีบสะสางให้เสร็จ
ผมทำงานอย่างไม่มีวันหยุด 7 วันทำงาน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ที่ต้องอยู่ที่ออฟฟิต
ทำงานเสร็จพอกลับถึงบ้านก็ไม่มีแรงที่จะเขียนบล็อกเหมือนเช่นเคย

ความรู้สึกที่อยากเขียนบล็อกของผมก็ยังคงมีนะครับ แต่กำลังกายก็ไม่เอื้ออำนวย
เวลาผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนผมเองก็มีเรื่องให้คิดอะไรมากมายอยากเขียนอยากระบายอะไรมากมาย
แต่ก็ทำได้แค่โทรไปบ่นๆ หรือตอบเมล์เพื่อนๆ หลายๆ คนแล้วบอกว่า “อีกไม่นานผมจะกลับมา”

เมื่อวานนี้ขณะที่ผมนอนป่วยอยู่ที่บ้าน ผมก็เริ่มทบทวนเรื่องราวต่างๆ มากมายว่า
ตกลงผมจะกลับมาเขียนบล็อกได้อีกหรือปล่าว สมองผมเริ่มสั่งการว่า…

ถ้าผมปล่อยให้บล็อกว่างปล่าวไปอีกสักระยะ ผมคงอาจจะไม่มีแรงอยากเขียนบล็อกอีกแล้วก็ได้
ดังนั้นอย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปนานกว่านี้เลย รีบๆ กลับมาเขียนบล็อกให้เพื่อนๆ อ่านเหมือนเดิมดีกว่า

ว่าแล้วผมก็เริ่มที่จะเขียนบล็อกเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อ :-
– เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ว่าผมหายไปไหนมา
– ขอโทษเพื่อนๆ ที่ไม่ได้อัพเดทความเคลื่อนไหวของข่าวคราวในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์
– ประกาศจุดเริ่มต้นของการเขียนบล็อกต่อไป

เอาเป็นว่าอย่างที่เกริ่นไว้ว่า วันนี้จะมาขอโทษเพื่อนๆ ผมก็ต้องขอกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการว่า
“ขอโทษที่หายหัวไปจากบล็อกทำให้เพื่อนๆ หลายๆ คนเป็นห่วงและไม่ได้อัพเดทเรื่องราวในวงการฯ”

วันนี้ผมจะขอเริ่มต้นใหม่ในการอัพเดทบล็อกให้เพื่อนๆ ได้อ่านนะครับ
หวังว่าเพื่อนๆ คงจะกลับมาอ่านและติดตามข่าวสารในวงการบรรณารักษ์เช่นเคย

Welcome Back Libraryhub….

หนึ่งวันกับงานบรรณารักษ์ด้านไอที

เพื่อนอยากรู้มั้ยว่าบรรณารักษ์ไอทีวันๆ นึงต้องทำงานอะไรบ้าง
วันนี้ผมขอนำ Job Description ของงานในตำแหน่งนี้มาให้เพื่อนๆ ดูครับ

it-librarian

ปล. ที่นำมาให้ดูนี้เป็นงานที่ผมทำสมัยตอนเป็นบรรณารักษ์ไอทีอยู่ที่ห้องสมุดแห่งนึงนะครับ
และงานบรรณารักษ์ไอทีแต่ละห้องสมุดอาจจะมีหน้าที่ๆ แตกต่างกว่านี้ก็ยังมีเช่นกัน
ดังนั้น
กรุณาอย่ายึดติดว่าบรรณารักษ์ไอทีทุกห้องสมุดจะเหมือนกัน

บรรณารักษ์ไอทีมีภาระกิจ ดังนี้

1. ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำหรับโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

2. จัดทำ Homepage และ Website ห้องสมุดโดยกำหนด Website ต่างๆ ในการให้บริการ

3. ประสานงานการจัดทำ Website กับเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

4. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ห้องสมุดในการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Office / โปรแกรมตกแต่งภาพ / การสแกนภาพและตัวอักษร / การจัดทำ link ข้อมูลในส่วนต่างๆ / โปรแกรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับสำนักหอสมุด

5. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสำนักหอสมุด

6. จัดทำข่าวประชาสัมพันธ์งานบริการห้องสมุดและให้บริการ Internet

7. รับผิดชอบการจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้บริการผ่านเครือข่าย Internet
7.1 E-book
7.2 E- journal
7.3 E-Document

8. Update ข่าวสารและสารนิเทศใหม่บน Website

9. บริการสืบค้นสารนิเทศผ่านระบบเครือข่าย Internet

10. จัดการแปลงไฟล์ / คัดลอกไฟล์ต่างๆ เพื่อออกให้บริการกับผู้ใช้

11. จัดหารวบรวมสื่อโสตทัศนวัสดุ

12. ดูแลรักษาเครือข่ายระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

13. ดูแลห้องประชุมกลุ่มเมื่อมีการติดต่อของใช้งาน

เป็นยังไงกันบ้างครับ ภาระหน้าที่เยอะเกินไปหรือปล่าว จริงๆ แล้วนอกจากภาระงานด้านบนนี้แล้ว
งานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการ บรรณารักษ์ไอทีก็ต้องทำด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการยืมคืน การตอบคำถาม และอื่นๆ

เอาเป็นว่าใครอยากเป็นบรรณารักษ์ด้านไอทีก็ลองเอามาศึกษา แล้วลองคิดดูดีๆ นะครับ
ว่า “ถ้าเจองานแบบนี้เพื่อนๆ จะยังอยากเป็นบรรณารักษ์ไอที” อยู่หรือปล่าว

ห้องสมุดประชาชนแสงอรุณรับสมัครบรรณารักษ์

วันนี้มีข่าวรับสมัครบรรณารักษ์มาฝากกันอีกแล้ว
สำหรับคนที่ต้องการหางานบรรณารักษ์ก็ลองแวะเข้ามาอ่านที่นี่ก่อนนะ

job-librarian1

ห้องสมุดที่ผมจะมาประชาสัมพันธ์วันนี้คือ
ห้องสมุดประชาชนแสงอรุณ ซึ่งตั้งอยู่ที่ สาทรซอย 10 นี่เอง
รับสมัครบรรณารักษ์ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2553 เลยนะครับ

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัคร
1. รักการอ่านและงานดูแลหนังสือ
2. รับข่าวสารสร้างสรรค์อย่างสม่ำเสมอ
3. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
4. ละเอียด รอบคอบ และมีวินัย

ปล.จำเป็นต้องใช้วุฒิบรรณารักษ์หรือปล่าวอันนี้ผมไม่แน่ใจนะครับ

เพื่อนๆ ที่สนใจก็ลองเขียน resume และจดหมายสมัครงานนะครับ
แล้วส่งไปที่ ห้องสมุดประชาชนแสงอรุณ เลขที่ 64 ซอยศึกษาวิทยา ถนนสาทรเหนือ บางรัก กรุงเทพ 10500
หรือไม่ก็ส่งอีเมล์ไปที่ tuinui_may@hotmail.com
หรือถ้าอยากรู้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม ลองโทรไปที่ 0-2237-0080 ต่อ 101

เอาเป็นว่าก็ขอให้เพื่อนๆ โชคดีทุกคนนะครับ

ข่าว (ไม่ดี) เรื่องการซื้อหนังสือในโครงการห้องสมุดสามดี

เรื่องดีๆ ในวงการห้องสมุดมีให้อ่านเยอะแล้ว วันนี้ผมขอนำข่าวๆ นึงมาลงให้อ่านนะครับ
ผมเชื่อว่าบรรณารักษ์ในห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่ คงต้องได้ยินข่าวนี้บ้างหล่ะ

old-book-in-library

ขอเกริ่นให้ทราบสักนิดนะครับว่า…
เมื่อเดือนที่แล้วผมก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่นะครับ
เท่าที่รู้ คือ ทาง กศน. ได้งบเพื่อจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดตามนโยบาย “ห้องสมุดสามดี”
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ข่าวเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นการจัดซื้อหนังสือก้อนใหญ่อีกครั้งนึงของห้องสมุดประชาชน

แต่หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ผมก็ได้ยินข่าวจากบรรณารักษ์หลายๆ คนว่า
การจัดซื้อหนังสือครั้งนี้ มีความแปลกและไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง

เอาเป็นว่าผมคงบอกรายละเอียดแบบลึกๆ ไม่ได้
แต่ก็ได้แค่ให้กำลังใจและปลอบบรรณารักษ์ว่า “อย่าคิดมาก”
ยังไงก็ถือว่าได้หนังสือใหม่เข้าห้องสมุดแล้วกัน

เอางี้ดีกว่าเพื่อนๆ ลองอ่านข่าวด้านล่างนี้ก่อนนะ

หัวข้อข่าว : ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดกศน.ส่งกลิ่น
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 คอลัมน์การศึกษา

URL : http://dailynews.co.th/newstartpage/printmode.cfm?categoryid=42&contentid=49149

เนื้อข่าวมีดังนี้

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย? (สำนักงาน กศน.) กล่าวถึงปัญหาการร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ประชาชนของ กศน. ตามโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ว่า ที่ผ่านมา กศน. ได้รับงบฯซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน แห่งละ 30,000 บาท แต่ปีนี้ได้รับงบฯเอสพี 2 เพื่อจัดซื้อหนังสือแห่งละ 450,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15% ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนในการจัดซื้อมากขึ้น โดยที่ผ่านมามี กศน.อำเภอหลายแห่งในภาคกลางร้องเรียนว่ารายชื่อหนังสือที่ได้ไม่ตรงกับความ ต้องการ ตนจึงสั่งการให้ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ผอ.กศน.) อำเภอไปทบทวนแล้ว

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่คาดว่าจะกลายเป็นกลียุคต่อไป คือ เรื่องการส่งหนังสือไม่ครบตามรายการที่ประมูลได้ เพราะมีบางบริษัทจับกลุ่มฮั้วกัน เช่น บางพื้นที่บริษัทประมูลหนังสือ จำนวน 1,200 รายการ ในวงเงิน 450,000 บาท แต่ส่งหนังสือได้เพียง 800 รายการ เพราะที่เหลือบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไม่ยอมขายให้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นสถานศึกษาจะต้องรายงานมาโดยเร็วเพื่อจะได้หา ทางแก้ปัญหาต่อไป แต่หากอำเภอใดรับหนังสือไม่ครบตามสัญญาที่ประมูล แล้วอ้างว่าบริษัทส่งหนังสือไม่ครบ ผอ.กศน.อำเภอ ในฐานะผู้จัดซื้อต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าได้มอบอำนาจให้แล้ว

?ปัญหาเรื่องการจัดซื้อส่วนกลางไม่สามารถควบคุมได้ เพราะได้กระจายอำนาจให้สถานศึกษาไปแล้ว และที่ผ่านมาทราบว่ามีคนไปแอบอ้างว่าเป็นทีมงานของผม ขอให้ดำเนินการจัดซื้อกับบริษัทนั้น บริษัทนี้ ซึ่งมี กศน.อำเภอหลายแห่งโทรศัพท์มาถาม ผมก็ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เคยมีทีมงาน อย่าไปเชื่อและขอให้จัดซื้อตามระเบียบและขั้นตอน? นายอภิชาติกล่าวและว่า ส่วนที่มีการแอบอ้างผู้ใหญ่ในกระทรวงนั้น ยอมรับว่าได้ยินมาเช่นกันว่า ขณะนี้มีการสถาปนาดีลเลอร์เฉพาะกิจขึ้นมาและอ้างว่าเกี่ยวพันกับผู้ใหญ่ใน กระทรวง แต่ก็ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือ ผอ.กศน.อำเภอ ดังนั้นหากสถานศึกษาใดถูกกดดันให้จัดซื้อโดยไม่สมัครใจ ก็ขอให้ร้องมายังส่วนกลางจะได้เร่งแก้ไขให้.

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คิดยังไงกับข่าวแบบนี้ครับ
ลองช่วยกันเสนอความคิดเห็นให้ผมฟังหน่อยว่าเรื่องแบบนี้ เพื่อนๆ คิดยังไง

ปล. หลังจากที่ข่าวนี้ออกมาผมเชื่อว่าห้องสมุดประชาชนหลายที่คงต้องระงับการซื้อหนังสือชั่วคราวทันที
และก็รอให้มีการตรวจสอบผ่านไปก่อนจึงจะดำเนินการจัดซื้อได้เช่นเดิม