แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน

หัวข้อที่สองของงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่ผมจะสรุป
คือ แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน
วิทยากรโดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอีกหัวข้อหนึ่ง (จุดประสงค์ที่ผมมาฟังตั้งแต่เช้าก็เพื่อหัวข้อนี้โดยเฉพาะนั่นแหละครับ)

ท่านวิทยากรขึ้นมาเกริ่นถึงประวัติการทำงานของตัวเอง (ซึ่งเยอะมากๆ เลย)
นอกจากนี้ยังมีผลงานทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมายด้วย เช่น โปรแกรมที่ในวงการแพทย์รู้จักดี UCHA

ท่านได้เล่าถึงความประทับใจและกล่าวขอบคุณบรรณารักษ์การแพทย์คนหนึ่ง
ซึ่งย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เครื่อง Electroconvulsive therapy หรือ เครื่อง ECT ซึ่งมีราคา 300,000 บาท (ในช่วงนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือที่แพงมากๆ) ท่านจึงอยากศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่อง ECT บ้าง โดยที่เริ่มจากการค้นหาข้อมูลของเครื่อง ECT ซึ่งท่านก็ได้ขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์คนนั้นให้รวบรวมข้อมูลให้หน่อย ซึ่งผลปรากฎว่าบรรณารักษ์คนนั้นใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็สามารถรวบรวมข้อมูลได้เกือบทั้งหมด (ตอนแรกอาจารย์ทวีทองคิดว่าคงประมาณสองสัปดาห์จึงจะได้อ่าน) เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ มาแล้วอาจารย์ก็ได้วิจัยและพัฒนาจนทำให้สามารถประดิษฐ์เครื่อง ECT ได้ในราคาแค่ 300 บาท

เป็นยังไงกันบ้างครับ เห็นยังว่า บรรณารักษ์ในวงการแพทย์สามารถสนับสนุนการทำงานของแพทย์ได้อย่างไร
จากสไลด์ของอาจารย์ ผมจึงขอนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ บรรณารักษ์ และสิ่งที่ได้มา ให้ดูตามภาพได้เลย

ต่อมาอาจารย์ก็ได้เห็นความสำคัญของงานห้องสมุดกับการบริการฐานข้อมูลการแพทย์

จนในปี 2541 ที่ท่านวิทยากรมาอยู่ที่กรมควบคุมโรค จึงได้มีการจัดซื้อฐานข้อมูล full text ของวารสารการแพทย์ เพื่อให้บริการ โดยรูปแบบการให้บริการก็ คือ แพทย์ พยาบาล บุคลากรในหน่วยงาน สามารถติดต่อขอใช้บริการฐานข้อมูล Full text มาที่ห้องสมุดกรมควบคุมโรค (ผ่าน จดหมาย แฟกซ์ อีเมล์) แล้วทางบรรณารักษ์ก็จะค้นข้อมูลและจัดส่งเนื้อหาไปให้

แต่ผลที่ได้ คือ 1 ปีมีคนค้นหาเพียงแค่ 53 เรื่องท่านั้น เนื่องจากปัญหาของการซื้อฐานข้อมูลต้องดูเรื่องจำนวนสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานข้อมูลด้วย ดังนั้นนอกหน่วยงานจึงไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ จึงทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าที่ควร

ในปี 2549 กรมการแพทย์ได้ลงทุนในการซื้อฐานข้อมูล E-Journal ในราคา 3 ล้านบาท โดยรูปแบบการให้บริการยังคงคล้ายๆ กับการให้บริการในปี 2541 แต่คราวนี้นำเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ intranet และ VPN เข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้แพทย์สามาารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้เมื่ออยู่ในกรมการแพทย์ ส่วนแพทย์ที่อยู่นอกองค์กรก็สามารถใช้ VPN เข้ามาใช้งานฐานข้อมูลได้ด้วย

ผลที่ได้ จำนวนการเข้าถึงฐานข้อมูลมีมากขึ้นแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนอีกเช่นเคย เนื่องจากการใช้ VPN มากๆ บริษัทผู้ขายก็แจ้งเตือนจำนวนการใช้งานมาเป็นระยะๆ และการต่อ VPN เองก็ค่อนข้างซับซ้อน

ในปี 2554 กรมการแพทย์จึงได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องของฐานข้อมูลการแพทย์ โดยที่ขอความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ หรือ สถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ที่ใหญ่ๆ เพื่อนำฐานข้อมูลมารวมกันและให้บริการแก่หน่วยงานที่ขาดงบประมาณ รูปแบบการทำงานแบบง่ายๆ คือ หน่วยงานที่มีฐานข้อมูลนำฐานข้อมูลมาลงไว้ที่ส่วนกลางที่เดียวและสะสมข้อมูลไปเรื่อยๆ การให้บริการก็สามารถทำได้โดยการใช VPN หรือส่งคำข้อผ่านทาง webboard, email ก็ได้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ลดต้นทุนเรื่องการบอกรับฐานข้อมูลแบบ full text และจำนวนการใช้งานฐานข้อมูลก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย

สิ่งที่มุ่งหวังจากการพัฒนาฐานข้อมูล Full text ร่วมกันคือ นักวิชาการเก่ง หมอเก่ง พยาบาลเก่ง ซึ่งจะทำให้องค์กรเก่ง กรมเก่งไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่เก่งก็เพราะว่าบรรณารักษ์นั่นเอง

ปัจจุบัน Elibrary ของกรมการแพทย์ คือ http://www.dms.moph.go.th

แนวคิดระบบข้อมูลใหม่ของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– อยากรู้อะไรต้องได้รู้
– ทำได้ด้วยตนเอง
– เรียนรู้ง่าย จำนวนคลิ๊กที่เข้าถึงข้อมูลต้องน้อยที่สุด
– เมื่อส่งคำถามแล้วต้องได้คำตอบเดี๋ยวนั้นเลย
– ทำกราฟ และสถิติได้หลายรูปแบบ
– ฟรี ไม่ต้องตั้งงบประมาณ

แนวคิดเสริมของระบบห้องสมุดด้านการแพทย์
– โปรแกรมเดียวสามารถใช้ได้ทุกงาน
– ฝึกอบรมรอบเดียวก็เพียงพอ
– ไม่ต้องสร้างหลายโปรแกรม
– ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ก็สามารถใช้งานได้
– พัฒนาต่อยอดได้เรื่อยๆ
– ประหยัดงบประมาณ
– มาตรฐานด้านเทคโนโลยี

ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำโปรแรกม UCHA ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานกับระบบห้องสมุดได้ด้วย
ใช้งานได้ง่ายแถมครอบคลุมการทำงานในโรงพยาบาลได้อีก ค่อนข้างสมบูรณ์เลยทีเดียว

สามารถหาอ่านข้อมูลโปรแกรม UCHA ได้เพิ่มเติมที่ http://110.164.65.40/wiki/doku.php

กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์

หัวข้อแรกที่ผมจะสรุปจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์
คือ กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์ (KPI สำหรับบรรณารักษ์แพทย์)
วิทยากรโดย นางสาวนุชนาท บุญต่อเติม ข้าราชการบำนาญ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ก่อนจะเข้าสู่การบรรยายในหัวข้อนี้ วิทยากรได้ถามคำถามชี้นำว่า “การประเมินผลการปฏิบัติงานมีความสำคัญอย่างไร และ เราเองที่ได้มาฟังการบรรยายในวันนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไหน”

สิ่งที่เราต้องรู้จักก่อนจะเข้าเรื่องการประเมินผลงาน คือ ตัวประเมิน หรือ งานที่เราจะใช้ประเมิน
ซึ่งทำความเข้าใจง่ายๆ คือ งานที่เราได้ทำให้องค์กรมีอะไรบ้าง และงานไหนที่เป็นงานหลัก งานรอง หรืองานจร บ้าง
เราต้องรู้จักเรียงลำดับความสำคัญของงานให้ได้ ว่างานไหนสำคัญมากหรือน้อย ซึ่งแต่ละช่วงเวลาในการประเมินจะไม่เหมือนกัน

เช่น ปีก่อนเราถูกมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยนักวิจัย (งานประเมินในปีนั้นก็อาจจะนำเรื่องนี้มาประเมินได้) ปีนี้เราถูกมอบหมายให้ดูเรื่องการสร้างเครือข่ายกลุ่มงาน (งานประเมินในปีนี้ก็จะนำเรื่องนี้มาประเมินได้เช่นกัน) ดังนั้นจะสังเกตว่า ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ตัวประเมินไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นตัวเดียวกันเสมอ

ตัวประเมิน หรือ งานที่เราจะใช้ประเมินในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 7 ตัว (รวมกับสิ่งที่องค์กรกำหนดมาให้แล้ว)

การประเมินผลงานในระดับบุคคล คือ การวัดผลการปฏิบัติงานของบุคลากรคนหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามลักษณะงานของบุคลากรนั้น

วัตถุประสงค์ของการประเมิน สามารถมองได้ 2 มุม คือ
– มุมมองขององค์กร – ผู้บังคับบัญชา
– มุมมองของบุคลากร

องค์ประกอบของการประเมิน มีดังนี้
1. ผู้ประเมิน
2. ผู้ถูกประเมิน
3. เกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมิน
5. การให้คำปรึกษา
6. การใช้ประโยชน์

KPI = Key Performance Indicator = ตัวชี้วัดผลงาน
ก่อนอื่นเราต้องมานั่งดู PI เป็นหลัก ซึ่งหมายถึง กิจกรรม หรือ งานประจำวัน ซึ่งหลักๆ แล้วนั่นคือ job descriptions นั่นเอง

ขั้นตอนการหา KPI
1. จัดกลุ่มงาน = เอา job descriptions มาดูแล้ว จัดกลุ่มงานที่มีความใกล้เคียงกันอยู่ในชุดเดียวกัน
2. ผลที่คาดหวัง = ให้วิเคราะห์ผลที่คาดหวังจากแต่ละกลุ่มงาน ส่วนนี้อาจจะใช้เครื่องมือเพิ่ม คือ Balance Scorecard***
3. ตัวชี้วัดผลงาน (ดูที่ PI เป็นหลัก) = ให้นำผลที่คาดหวังมาวัดผลโดยกำหนดคะแนนตาม ร้อยละของงาน, สัดส่วนของงาน, ระยะเวลา, มูลค่า, จำนวน
4. ตัวชี้วัดผลงานหลัก = ให้เลือกตัวชี้วัดผลงานหลักของตำแหน่งงานออกมา 3-7 ตัว เพื่อพิจารณาอีกที โดยดูจากความสำคัญของผลงานที่มีต่อองค์กรมากที่สุด

***Balanced Scorecard ของ ก.พ.ร.นำมาใช้ในการบริหารภาครัฐของไทย ได้มีการกำหนดกรอบ 4 มิติ ดังนี้ (1) คุณค่าด้านประสิทธิผลการปฏิบัติราชการ (2) คุณค่าด้านคุณภาพการบริการ (3) คุณค่าด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และ (4) คุณค่าด้านการพัฒนาองค์การ

หลักการของ S-M-A-R-T
S = Specific = ชัดเจน ไม่คลุมเครือ
M = Measurable = วัดผลได้
A = Achievable without compromising another result = สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ
R = Realistic = สามารถทำได้จริงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
T = Time framed = มีการกำหนดเวลาที่แล้วเสร็จแน่นอน

ตัวอย่าง KPI ของห้องสมุดแพทย์
– ร้อยละของการค้นหาเอกสารทางการแพทย์ได้ทันเวลาที่กำหนด
– ร้อยละความพึงพอใจของผู้รับบริการต่อการบริการของห้องสมุด
– ร้อยละของการส่งหนังสือสำรองตามกำหนดยืม
– ร้อยละของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการซ่อมแซมหนังสือชำรุด
– ร้อยละของการสรรหาหนังสือที่ได้รับอนุมัติให้ทันตามเวลาที่กำหนด
– ร้อยละความสำเร็จของการพัฒนา website
– ร้อยละของจำนวนหนังสือหายในห้องสมุด
ฯลฯ

สรุปเนื้อหาจากการฟังและจากสไลด์คงได้เท่านี้นะครับ เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการบรรยายค่อนข้างสั้นจึงได้ข้อมูลเพียงเท่านี้ แต่จากการดูสไลด์บรรยายยังเหลือข้อมูลอีกมากเลยครับ เอาไว้ถ้าทางเจ้าภาพนำสไลด์ขึ้นเมื่อไหร่ผมจะนำมาลงให้ชมอีกทีแล้วกันครับ

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์”

วันก่อน (วันที่ 2-3 สิงหาคม 54) ได้รับเกียรติให้ขึ้นบรรยายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์” ที่โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์ เป็นคนจัดงาน หลายคนเลยสงสัยว่าผมไปเกี่ยวกับห้องสมุดการแพทย์ได้อย่างไร ผมเลยขอนำเรื่องราวที่ได้ไปร่วมมาเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมได้อ่านกัน

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับงานอบรมชมเชิงปฏิบัติการ
ชื่องานภาษาไทย : การเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์ รุ่นที่ 3
ชื่องานภาษาอังกฤษ : Value Added for Medical Librarian
วันที่จัดงาน : 1-3 สิงหาคม 2554 (4-6 สิงหาคม 2554 ศึกษาดูงาน ณ ประเทศสิงคโปร์)
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุมกาญจนาภิเษก ชั้น 25 โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์
ผู้จัดงาน : โรงพยาบาลเลิศสิน กรมการแพทย์

เอาหล่ะครับ ขอตอบคำถามแรกก่อนดีกว่าว่า “ผมไปเกี่ยวอะไรกับบรรณารักษ์การแพทย์ และทำไมถึงถูกเชิญมาบรรยายในงานนี้ด้วย” หลักๆ แล้วถูกเชิญเพราะว่าพี่บรรณารักษ์ที่ห้องสมุดของโรงพยาบาลเลิศสินส่งเมล์มาเชิญ ซึ่งตอนแรกๆ ก็งงเหมือนกันว่าผมจะไปบรรยายได้หรอ เพราะผมเองไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์มากก่อนเลย แต่หัวข้อที่บรรยายก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับ “บรรณารักษ์การแพทย์กับการประยุกต์ใช้งานด้านไอที” เลยรู้สึกว่าเข้ากับตัวเองมากขึ้น ยิ่งได้รู้โครงการที่จะตั้งชมรมบรรณารักษ์การแพทย์ด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกว่าห้องสมุดในกลุ่มการแพทย์น่าสนใจมากเลยทีเดียว เลยตอบรับเข้าร่วมงานในครั้งนี้

งานที่เป็นการบรรยายจะมีแค่วันที่ 1 – 3 สิงหาคมเท่านั้น ซึ่งผมเองได้เข้าร่วมแค่วันที่ 2 – 3 สิงหาคม (วันที่ 1 สิงหาคมป่วยครับ)
ผมก็คงจะสรุปเนื้อหาได้แค่ของวันที่ 2 และ 3 เท่านั้นนะครับ ยังไงก็ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยล่วงหน้าเลยแล้วกัน

หัวข้อที่บรรยายอยากบอกว่าเยอะมากๆ เลยครับ เอางี้ดีกว่า ผมขอแยกเป็นตอนๆ ให้อ่านแล้วกันนะครับ โดยหัวข้อที่ผมสรุปมาก็มีดังนี้

กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ : บรรณารักษ์แพทย์ โดย นางสาวนุชนาท บุญต่อเติม
แนวทางการใช้ E-Medical Library ร่วมกัน โดย นายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล
การจัดการข้อมูลข่าวในสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ โดย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม
บรรณารักษ์การแพทย์กับการสนับสนุนงานวิจัย โดย นายแพทย์วุฒิชัย จตุทอง
E-Medical Librarian and Social Network โดย นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์
IT Management in Medical Library โดย นายแพทย์ธีรชัย ยงชัยตระกูล
Use the Medical Library ? : Resident  โดย นายแพทย์ภัทรกานต์ สุวรรณทศ
Hand ? Medical Librarian  โดย นายแพทย์สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์
การศึกษาดูงาน ณ ห้องสมุดเนลสันเฮย์

เอาเป็นว่าภายในอาทิตย์นี้ ผมจะสรุปหัวข้อต่างๆ ลงในบล็อก Libraryhub นะครับ
อยากให้เพื่อนๆ ค่อยๆ ติดตาม เพราะจะได้อ่านและคิดตามไปด้วยกัน
ผมว่าห้องสมุดในกลุ่มการแพทย์มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจมากๆ เยอะเลย

ปล. วันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ก่อน เรื่องไหนที่เขียนแล้ว ผมจะนำ link มาไว้ที่บล็อกนี้แล้วกันนะครับ
สำหรับภาพในวันงานทั้งหมดเพื่อนๆ ติดตามได้จากด้านล่างนี้เลยแล้วกันนะครับ

ภาพบรรยากาศในงานการเพิ่มมูลค่าบรรณารักษ์การแพทย์ รุ่นที่ 3

[nggallery id=45]

[InfoGraphic] 5สิ่งที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุดในอเมริกา

วันนี้นั่งค้นรูป InfoGraphic ไปเรื่อยๆ ก็พบกับภาพ InfoGraphic ที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดอีกแล้ว
ผมจึงขอนำภาพๆ นี้มานำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ดูกันสักนิดแล้วกัน (ข้อมูลค่อนข้างน่าสนใจ)

อย่างที่เคยบอกเอาไว้แหละครับว่า ภาพ InfoGraphic ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว บางคนใช้นำเสนอข้อมูลจำพวกสถิติ บางคนนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อความหรือสรุปเรื่องราว ….. วันนี้ InfoGraphic ที่ผมจะให้ดู เป็นเรื่องของการนำเสนอข้อมูลแบบสรุปนะครับ ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า “5 Fun Facts You may not know about libraries” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุด

ชมภาพ InfoGraphic : 5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุด

ทสรุปจากภาพด้านบน (5 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับห้องสมุด)
1. ห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษาจะต้องให้บริการตอบคำถาม จำนวนถึง 56.1 ล้านคำถามในแต่ละปี โดยที่คำถามประมาณ 10 ล้านคำถามจะเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอล (ข้อมูลจาก ALA)

2. ชาวอเมริกันไปห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษามากกว่าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ถึง 3 เท่า (ข้อมูลจาก ALA)

3. ในประเทศอเมริกามีห้องสมุดประชาชนมากกว่าร้านแมคโดนัลด์ – ปัจจุบันห้องสมุดประชาชนมีสาขามากถึง 16,604 แห่ง (ข้อมูลจาก ALA)

4. Benjamin Franklin เป็นผู้ที่ก่อตั้งห้องสมุดประชาชนในฟิลลาเดเฟีย ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ให้บริการยืมคืนครั้งแรกของอเมริกา (ข้อมูลจาก USHistory) อ่านประวัติเพิ่มเติมของ Benjamin Franklin ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Benjamin_Franklin

5. 1 ใน 3 ของห้องสมุดประชาชนในอเมริกาจะมี account Facebook (ข้อมูลจาก library Research)

เป็นยังไงกันบ้างครับ ข้อมูลในภาพน่าสนใจมากใช่หรือเปล่า
ผมเองก็เพิ่งจะรู้ว่าที่อเมริกามีห้องสมุดมากกว่าร้านแมคโดนัลด์ซะอีก

เอาเป็นว่าถ้ามีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจอีก ผมจะนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันต่อนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอตัวไปเก็บข้อมูลอย่างอื่นก่อนแล้วกันนะครับ

ที่มาของภาพ Infographic : http://knovelblogs.com/2011/06/13/knovel-presents-5-fun-facts-you-may-not-know-about-libraries/

[InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ

เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 1 ปีของการปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์ความรู้กินได้ ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี (วันครบรอบ 24 กรกฎาคม) ผมจึงถือโอกาสสรุปผลการดำเนินงานและข้อมูลที่น่าสนใจตลอด 1 ปีที่ผ่านมาให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน

แต่ถ้าจะสรุปข้อมูลสถิติของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีแบบธรรมดาๆ (แบบตาราง หรือ แผนภูมิ) ผมว่ามันก็ไม่น่าสนใจเท่าไหร่ ดังนั้นผมจึงขอนำแนวความคิดของการจัดทำ Infographic ของต่างประเทศมาช่วยเพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอข้อมูลแบบใหม่ๆ

Infographic ที่เพื่อนๆ จะได้เห็นนี้ ผมเชื่อว่าเป็น Infographic แรกของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ใช้เวลาในการทำ 5 ชั่วโมง (ไม่ใช่แค่เรื่องออกแบบ และทำ graphic เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ด้วย)

เอาเป็นว่าผมคงไม่อธิบายอะไรมากนอกจากให้เพื่อนๆ ได้ดู Infographic นี้เลย

[หากต้องการดูรูปใหญ่ให้คลิ๊กที่รูปภาพได้เลยครับ]

เป็นยังไงกันบ้างครับกับการนำเสนอข้อมูลห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีของผม
เพื่อนๆ คิดเห็นยังไงก็สามารถเสนอแนะได้นะครับ ผมจะได้นำแนวทางไปปรับปรุงต่อไป

ปล. หากต้องการนำไปเป็นตัวอย่างหรือนำไปลงในเว็บไซต์หรือบล็อกอื่นๆ กรุณาอ้างอิงผลงานกันสักนิดนะครับ

บทสรุปงานเสวนา เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเท​ศ

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสไปบรรยายในงานเสวนาประสบการณ์วิช​าชีพนักสารสนเทศ ในประเด็นเรื่อง “เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเท​ศ” ที่จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสต​ร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันนี้เลยขอนำสไลด์และรูปภาพมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ

รายละเอียดเบื้องต้นของงานนี้
ชื่องาน : เส้นทางสู่อาชีพนักสารสนเทศ
จัดโดย : นักศึกษาชั้นปี 3 เอกบรรณฯ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
วันและเวลาที่จัดงาน : วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.00 น.
สถานที่จัดงาน : ห้องพิบูลสงคราม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสต​ร์

พักหลังมานี่ผมเริ่มรับบรรยายให้น้องๆ ฟังมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนความคิดของน้องๆ หลายคนว่า วิชาด้านบรรณารักษ์ก็สามารถทำให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากมายไม่แพ้วิชาในสาขาอื่นๆ การที่ได้มาบรรยายที่นี่ จริงๆ แล้วเริ่มมาจากการคุยกันเมื่อเดือนที่แล้วระหว่างผมกับน้องที่อ่านบล็อกของผมและการทาบทามของอาจารย์ในภาคฯ จนทำให้ผมต้องตอบรับมาที่นี่ (ทั้งๆ ที่ไม่เคยบรรยายให้จังหวัดอื่นเลย)

เอกสารที่ผมใช้ในการบรรยายครั้งนี้ คือ
– สไลด์เรื่อง I would like to be librarian
– เอกสาร Social Revolution

สำหรับสไลด์ เพื่อนๆ สามารถดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ

หรือเข้าไปดูได้ที่ http://www.slideshare.net/projectlib/i-would-like-to-be-librarian

คำถามหลักๆ ที่พบในงานเสวนาครั้งนี้ คือ
– การเลือกเข้ามาเรียนในสาขาวิชาสารสนเทศ ซึ่งอาจจะมีเรื่องเข้าใจผิดกันในชื่อวิชาที่เรียน (นึกว่ามาเรียนคอมฯ แต่ที่ไหนได้บรรณารักษ์นั่นเอง)
– การเลือกสถานที่ฝึกงานที่เหมาะกับตัวเอง ย่อมดีกว่าเลือกตามคนอื่น
– การทำงานในสายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ห้องสมุด ซึ่งก็มีให้เลือกมากมาย เช่น เว็บไซต์, เปิดร้านขายหนังสือ……..
– เรียนต่อปริญญาโทด้านไหนดี : อันนี้ต้องแล้วแต่ว่าใจเราอยากไปทางไหน

เท่าที่พบในการเสวนาครั้งนี้ มีน้องๆ บางคนเริ่มเห็นอนาคตของตัวเองแล้ว เช่น บางคนไม่ชอบงานเทคนิคและอยากไปในสายไอที, บางคนอยากทำงานในห้องสมุดสายการแพทย์, บางคนอยากเปิดธุรกิจของตัวเองจำพวกร้านขายหนังสือ…….. ต่างๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าถ้ามีเป้าหมายแบบนี้แล้วจะทำให้น้องๆ เห็นภาพอนาคตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บทสรุปที่ผมบรรยายหลักๆ ก็เป็นเรื่องประสบการณ์การทำงานของผมที่ผ่านมา รวมไปถึงเล่าย้อนไปในช่วงที่ผมเรียนบรรณารักษศาสตร์ที่ ม.สงขลานครินทร์บ้างเล็กน้อย รวมถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาเรียนในสาขาวิชานี้

ความประทับใจในงานเสวนาครั้งนี้ : น้องๆ ที่เข้าร่วมฟังเสวนาได้มีการซับถามคำถามกันอย่างคึกคัก นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก (ปกติเวลาผมไปบรรยายที่อื่นไม่เคยเจอคำถามเยอะขนาดนี้) แต่ต้องขอบอกว่าเป็นการซักถามที่สนุกมากๆ ครับ

สุดท้ายนี้ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์ทิพภา และทีมงานนักศึกษาที่ร่วมกันจัดงานดีๆ แบบนี้ และเชิญผมมาเข้าร่วมกิจกรรม ณ ที่แห่งนี้ รวมไปถึงการดูแลวิทยากรได้ดีมากๆ ครับ ตั้งแต่ต้อนรับจนถึงส่งขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ขอบคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งครับ

เอาเป็นว่าคราวหน้าผมจะไปบรรยายที่ไหนอีกเดี๋ยวจะเอามาเล่าให้อ่านในบล็อกนะครับ อย่าลืมติดตาม Libraryhub กันไปได้เรื่อยๆ นะครับ

ปล. ภาพทั้งหมดที่ผมนำมาลงเป็นฝีมือการถ่ายภาพของน้องๆ ที่เข้าฟังในวันนั้นนะครับ ต้องขอขอบคุณมากที่ส่งมาให้ผมได้ดู

ภาพถ่ายในงานเสวนาประสบการณ์วิชาชีพนักสารสนเทศ

[nggallery id=40]

สรุปการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (3 พ.ค.) ผมได้มีโอกาสไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians วันนี้ผมจึงขอนำเนื้อหาในวันนั้นมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

รายละเอียดเบื้องต้นของงานบรรยาย
ชื่อโครงการ : โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์สู่ e-Librarians
ชื่อวิทยากร : คุณเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ เจ้าของบล็อก libraryhub
วันที่จัดงาน : วันที่ 3 พฤษภาคม 2554
สถานที่บรรยาย : ห้องราชมงคลเธียเตอร์ อาคารวิทยบริการ
ผู้จัดงาน : สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลธัญบุรี

ก่อนที่จะสรุปการบรรยาย ผมว่าเพื่อนๆ คงอยากเห็นสไลด์ของผมแล้ว เอาเป็นว่าไปชมสไลด์กันก่อนดีกว่า

สรุปเนื้อหาจากสไลด์ “การพัฒนาทักษะด้าน IT สู่การเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่

การบรรยายเริ่มจากเรื่องทักษะและความหมายแบบกว้างๆ เกี่ยวกับการเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่ ซึ่งผมชอบเรียกบรรณารักษ์ยุคใหม่ว่า Cybrarian นั่นเอง โดยบรรณารักษ์ยุคใหม่นอกจากจะต้องแม่นเรื่องของทักษะด้านบรรณารักษ์แล้ว ยังต้องเพิ่มทักษะอื่นๆ อีก เช่น ทักษะไอที ความคิดสร้างสรรค์ สื่อสังคมสมัยใหม่ และเครือข่ายสังคมออนไลน์

เรื่องของงานบรรณารักษ์ผมคิดว่าทุกคนคงแม่นอยู่แล้ว ผมจึงขออธิบายภาพรวมของงานห้องสมุดนิดนึง ว่ามีงานอะไรบ้าง และที่สำคัญสมัยนี้เกือบทุกงานล้วนแล้วแต่มีไอทีเข้ามาช่วยงานในห้องสมุดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น งานบริหาร งานบริการ งานเทคนิค ฯลฯ

จากนั้นผมให้ดูวีดีโอห้องสมุดของประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นห้องสมุดที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เกือบทุกอย่าง

จากนั้นอธิบายในเรื่องของทักษะไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ ซึ่งผมได้อัพเดทข้อมูลทักษะเพิ่มเติม (อัพเดทจาดสไลด์เก่า) ซึ่งมีดังนี้
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานระบบห้องสมุด
8. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0

ในการบรรยายในช่วงนี้ผมให้เวลา 15 นาทีเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้งานระบบห้องสมุดอัตโนมัติร่วมกัน เนื่องจากที่นี่ใช้ระบบ Walai Autolib อยู่จึงมีการพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาการเชื่อมต่อ การจัดทำบาร์โค้ด …… เอาเป็นว่าก็น่าจะได้หนทางดีๆ ในการแก้ปัญหาบ้างนะ

เมื่อจบเรื่องทักษะด้านไอทีแล้วผมก็เข้าสู่เรื่อง “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ทันที
เปิดวีดีโอแนะนำและให้คำอธิบายว่าทำไมเราต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์
(อ่านบทความประกอบเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ได้ที่ โอกาสในการใช้ Social media ในโลกปัจจุบัน)

จากนั้นผมให้ดูสไลด์ไอเดียของการนำเว็บไซต์ 2.0 มาใช้ในงานห้องสมุด ชมสไลด์ด้านล่างได้เลยครับ

นั่นก็เป็นอีกสไลด์นึงที่ผมใช้ในการบรรยายครั้งนี้

บรรยายช่วงเช้าจบตรงที่เรื่องของภาพรวมของสื่อสังคมออนไลน์ เริ่มต้นในช่วงบ่ายเป็นกรณีศึกษาการใช้ Blog Facebook Twitter ในงานห้องสมุด

Blog – ใช้ทำอะไรได้บ้าง ตัวอย่างการใช้บล็อกห้องสมุดในหลายจุดประสงค์ เราสามารถเขียนเรื่องอะไรลงในบล็อกได้บ้าง
Facebook – คำอธิบาย ตัวเลขของการใช้ facebook ทั่วโลก facebook กับงานห้องสมุด 10 อันดับหน้าแฟนเพจห้องสมุดระดับโลก
Twitter – คำอธิบาย ตัวเลขของการใช้ twitter ทั่วโลก อธิบายการใช้งานเบื้องต้น 10 อันดับ twitter ห้องสมุดที่มีคนตามเยอะ

แนวโน้มของห้องสมุดในปี 2011 เพื่อนๆ อ่านได้ที่ “แนวโน้มของ Social Media กับงานห้องสมุดในปี 2011
เรื่องที่ผมแถมจากเรื่องของ trend แล้วยังมีวีดีโอและเว็บไซต์ Library101 ที่น่าสนใจด้วย ลองเข้าไปดูต่อได้ที่ http://libraryman.com/library101/

กรณีศึกษาการใช้งานและการพัฒนาเว็บไซต์
http://www.kindaiproject.net – เว็บไซต์โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
http://www.libraryhub.in.th – เว็บบล็อกเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog – บล็อกห้องสมุด ม ศิลปากร
http://tanee.oas.psu.ac.th – ห้องสมุด JFK มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
http://www.facebook.com/kindaiproject – Facebook โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
http://www.facebook.com/thlibrary – Fanpage เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
http://www.twitter.com/kindaiproject – Twitter โครงการศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

จากนั้นก็ให้ดูตัวอย่างการสร้างแผนกลยุทธ์ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในห้องสมุดด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการใช้งาน
(ปัจจุบันห้องสมุดมีสื่อสังคมออนไลน์แล้วแต่มีการใช้งานที่ไร้ทิศทางทำให้ได้ประสิทธิภาพน้อย จึงแนะนำเรื่องนี้ด้วย)

ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องการดูแล้วสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ห้องสมุด 6 ข้อ ดังนี้
1. อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
2. สามารถให้บริการผ่านสื่อออนไลน์
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องแย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการ
6. จัดกิจกรรมทุกครั้งควรนำมาลงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาชม

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นบทสรุปของสไลด์และงานบรรยายของผมแบบคร่าวๆ นะครับ
ถ้าเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลส่วนไหนเพิ่มเติมหรือสงสัยอะไรก็ส่งเมล์มาถามได้นะครับที่ dcy_4430323@hotmail.com

เอาเป็นว่าวันนี้ผมคงหยุดไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ แล้วเจอกันใหม่ อิอิ

ชมภาพบรรยากาศในวันนั้นได้ที่ http://www.library.rmutt.ac.th/?p=4860

ปล. ขอบคุณภาพสวยๆ จากทีมงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ห้องสมุดดิจิทัล คือ 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ

วันนี้เจอบทความดีๆ ที่มีเรื่องห้องสมุดอยู่ในนั้น ผมก็เลยขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังต่อนะครับ
บทความนี้มาจาก “10 Technologies That Will Transform Your Life” จากเว็บไซต์ http://www.livescience.com

10 เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ มีดังนี้
อันดับที่ 10 Digital Libraries (ห้องสมุดดิจิทัล)
อันดับที่ 9 Gene Therapy and/or Stem Cells (เซลล์ต้นกำเนิด)
อันดับที่ 8 Pervasive Wireless Internet (อินเทอร์ไร้สาย)
อันดับที่ 7 Mobile Robots (หุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมได้)
อันดับที่ 6 Cheaper Solar Cells (เครื่องเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า)
อันดับที่ 5 Location-Based Computing (เทคโนโลยีการระบุพื้นที่)
อันดับที่ 4 Desktop 3-D Printing (การพิมพ์ภาพแบบสามมิติ)
อันดับที่ 3 Moore’s Law Upheld (กฎของมัวร์ในเรื่องประสิทธิภาพและขนาดของชิป)
อันดับที่ 2 Therapeutic Cloning (การโคลนนิ่ง)
อันดับที่ 1 The Hydrogen Economy (พลังงานน้ำ, พลังงานทดแทน)


เป็นยังไงกันบ้างครับ 1 ใน 10 ของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณ คือห้องสมุดดิจิทัล (อันดับที่ 10)
นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของเราชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์เลยก็ว่าได้นะครับ

เมื่อเรารู้ว่าห้องสมุดดิจิทัลสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนแล้ว
พวกเราในฐานะคนทำงานห้องสมุดและบรรณารักษ์ขอสัญญาว่าจะพัฒนาวิชาชีพนี้ต่อไป
เพื่อให้ห้องสมุดตอบสนองการใช้ชีวิตของคนในสังคมต่อไป

50 เหตุผลที่บรรณารักษ์ไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในห้องสมุด บรรณารักษ์ก็ควรยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้น
ซึ่งสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในห้องสมุดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กระบวนการทำงาน การบริหารงาน รวมถึงเทคโนโลยี
ผมว่ามันก็ต้องมีเหตุผลของการที่ทำสิ่งใหม่เข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ก็แก้ปัญหาเดิมๆ ได้

และแน่นอนครับว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ทำให้บรรณารักษ์บางส่วนไม่พอใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของงานไอที
คำถามหลักที่จะต้องเจอต่อมาคือ “ทำไมถึงไม่ยอมรับหรือเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆหล่ะ”

คำตอบของคำถามนี้อยู่ในแผนภาพด้านล่างนี้ครับ

ภาพนี้เป็นภาพจากบล็อก http://13c4.wordpress.com ซึ่งพูดถึงเรื่อง “50 เหตุผลที่ไม่ยอมเปลี่ยน

ในภาพอาจจะมองไม่ค่อยเห็น เอาเป็นว่าผมขอยกตัวอย่างมาสักเล็กน้อยแล้วกัน

– It’s too expensive
(มันแพงมาก – สงสัยผู้บริหารจะเป็นคนพูด)

– I’m not sure my boss would like it
(ฉันไม่มั่นใจว่าหัวหน้าของฉันจะชอบมัน – ตัดสินใจแทนผู้บริหารซะงั้น)

– We didn’t budget for it.
(พวกเราไม่มีงบประมาณสำหรับมัน – ไม่มีทุกปีเลยหรอครับ)

– Maybe Maybe not.
(อาจจะ หรือ อาจจะไม่ – ยังไม่ได้คิดอะไรเลย ก็ไม่ซะแล้ว)

– It won’t work in this department.
(มันไม่ใช่งานในแผนกเรา – แล้วตกลงเป็นงานของแผนกไหนหล่ะ)

– We’re waiting for guidance on that.
(พวกเรากำลังคอยคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ – แล้วตกลงอีกนานมั้ยหล่ะครับ)

– It can’t be done.
(มันไม่สามารถทำได้หรอก – แล้วคุณรู้ได้ไงว่าทำไม่ได้ ลองแล้วหรอ)

นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากแผนภาพนี้เท่านั้นนะครับ
เอาเป็นว่าเหตุผลบางอย่างในแผนภาพ ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่ยังฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่นะ

แต่ที่เอามาให้เพื่อนๆ ดูนี่ ไม่ได้หมายความว่าจะตำหนิหรือว่าอะไรใครหรอกนะครับ
เรื่องนี้อาจจะเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง แล้วเพื่อนๆ หล่ะคิดอย่างไรกับเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ในห้องสมุดบ้าง

บทสรุป เรื่อง ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เมื่อวานผมเกริ่นไปแล้วว่าผมไปบรรยายในงานประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน (รุ่นที่4) แล้วก็ทิ้งท้ายว่าผมจะสรุปการบรรยายของผมให้อ่าน วันนี้เลยขอทำหน้าที่ในส่วนนี้ต่อ เรื่องที่ผมบรรยายในงานนี้ คือ “ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เอกสารประกอบการบรรยายเพื่อนๆ สามารถชมได้จาก

หรือเปิดได้จาก http://www.slideshare.net/projectlib/ict-for-living-library-at-school

ดูสไลด์แล้วอาจจะงงๆ หน่อย งั้นอ่านคำอธิบายและบทสรุปของเรื่องนี้ต่อเลยครับ

บทสรุป ICT กับงานห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน

เริ่มต้นจากการบรรยายถึงความหมายและบทบาทของบรรณารักษ์ยุคใหม่ หรือที่ผมชอบเรียกว่า cybrarian ซึ่งหลักๆ ต้องมีความรู้ด้านบรรณารักษ์และความรู้ที่เกี่ยวกับไอที

จากนั้นผมจึงเปรียบเทียบว่าทำไมบรรณารักษ์ต้องรู้ไอที ซึ่งหลายๆ คนชอบมองว่าเป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์ ผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่า บรรณารักษ์ ไม่ใช่ โปรแกรมเมอร์ เราไม่ต้องรู้ว่าเขียนโปรแกรมอย่างไรหรอก แต่เราต้องรู้จัก เข้าใจ และนำโปรแกรมไปใช้ให้ถูกต้อง

ทักษะด้านไอทีที่บรรณารักษ์ควรรู้ (สำหรับห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน) ผมขอแยกเรื่องหลักๆ ออกเป็น 7 กลุ่ม คือ
1. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำนักงาน
2. ความรู้และทักษะในกลุ่มโปรแกรมสำหรับสื่อ
3. ความรู้และทักษะด้านการใช้งานระบบเครือข่าย
4. ความรู้และทักษะในกลุ่มพื้นฐานคอมพิวเตอร์
5. ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่นๆ
6. ความรู้และทักษะในกลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต
7. ความรู้และทักษะการใช้งานเว็บไซต์ 2.0


เมื่อเห็นทักษะไอทีที่ผมนำเสนอไปแล้ว เพื่อนๆ อาจจะบอกว่าง่ายจะตาย ไม่ต้องทำงานซับซ้อนด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เรื่องง่ายๆ ของบรรณารักษ์ บางครั้งมันก็ส่งผลอันใหญ่หลวงอีกเช่นกัน

จากนั้นผมก็ให้ชมวีดีโอเรื่อง social revolution (คลิปนี้ถูกลบไปจาก youtube แล้ว โชคดีที่ผมยังเก็บต้นฉบับไว้)

จากนั้นผมก็ได้พูดถึง social media tool ว่ามีมากมายที่ห้องสมุดสามารถนำมาใช้ได้
เช่น Blog email msn facebook twitter youtube slideshare Flickr

ซึ่งผมขอเน้น 3 ตัวหลักๆ คือ blog, facebook, twitter โดยเอาตัวอย่างของจริงๆ มาให้ดู
Blog – Libraryhub.in.th
Facebook – Facebook.com/kindaiproject / Facebook.com/Thlibrary
twitter – twitter.com/kindaiproject

จากนั้นผมก็ฝากข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องการดูแล้วสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ห้องสมุด 6 ข้อ ดังนี้
1. อัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
2. สามารถให้บริการผ่านสื่อออนไลน์
3. ใส่ใจกับความคิดเห็นหรือคำถามของผู้ใช้บริการ
4. ไม่นำเรื่องแย่ๆ ของผู้ใช้บริการมาลง
5. พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการ
6. จัดกิจกรรมทุกครั้งควรนำมาลงให้ผู้ใช้บริการเข้ามาชม

ก่อนจบผมได้แนะนำให้เพื่อนๆ ตามอ่านเรื่องราวห้องสมุด บรรณารักษ์ และหนังสือจากบล็อกต่างๆ ด้วย
ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากไหนให้เข้าไปที่ http://blogsearch.google.co.th
แล้วค้นคำว่า ห้องสมุด บรรณารักษ์ หนังสือ จะทำให้เจอเรื่องที่น่าอ่านมากมาย

เอาเป็นว่าสไลด์นี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ครับ ไว้วันหลังผมจะถยอยนำสไลด์มาขึ้นเรื่อยๆ นะครับ
จริงๆ ไปบรรยายมาเยอะแต่เพิ่งจะได้เริ่มเขียนเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ให้เพื่อนๆ อ่าน

วันนี้ก็ขอลาไปก่อนครับ