33 เหตุผลที่บรรณารักษ์และห้องสมุดยังคงมีความสำคัญ

บรรณารักษ์และห้องสมุดยังคงมีความสำคัญต่อคนในสังคมอยู่หรือปล่าว บทความนี้จะเป็นคนบอกคุณเอง
โดยบทความนี้ผมแปลมาจากเรื่อง “33 Reasons Why Libraries and Librarians are Still Extremely Important

library-and-librarian

บทความนี้นับว่าเป็นบทความที่น่าสนใจมากๆ เลยครับ ผมเลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังบ้าง

เนื้อหาหลักในบทความนี้สะท้อนถึงสาเหตุที่อินเทอร์เน็ต ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ห้องสมุดได้
รวมถึงเครื่องมือสืบค้นอย่าง search engine ก็ไม่สามารถแทนที่บรรณารักษ์ได้เช่นกัน

แม้ว่าแนวโน้มในอนาคต คือ สื่อดิจิทัลจะมาแทนสื่อสิ่งพิมพ์ก็จริง
แล้วทำไมบทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ยังคงอยู่จะเป็นอย่างไร ไปติดตามได้เลยครับ

33 เหตุผลที่บรรณารักษ์และห้องสมุดยังคงมีความสำคัญ

1. Not everything is available on the internet
อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีทุกอย่าง ? แม้ว่าข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจะมีมหาศาลเพียงใด แต่ในบางเรื่องเราก็ไม่สามารถค้นบนอินเทอร์เน็ตได้ เช่น เอกสารทางด้านปะวัติศาสตร์ หรือหนังสือเก่าๆ บางเล่มที่เราอยากอ่าน แต่ก็ไม่สามารถค้นได้ในอินเทอร์เน็ต

2. Digital libraries are not the internet
ห้องสมุดดิจิทัลไม่ใช่อินเทอร์เน็ต ? อันนี้เกิดจากความเข้าใจผิดของคนบางกลุ่มที่บอกว่า อินเทอร์เน็ตคือห้องสมุดดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเด็นนี้เค้าเปรียบเทียบว่าบนอินเทอร์เน็ตมีการจัดเก็บ Web Sources แต่ห้องสมุดดิจิทัลมีการจัดเก็บแบบ Online Collections

3. The internet isn?t free
หนังสือบนอินเทอร์เน็ตไม่ได้ฟรีอย่างที่คิด ? ในบางครั้งที่เราเข้าไปดูคลังหนังสือออนไลน์ที่บอกว่าฟรี ไม่เสียค่าบริการ ความเป็นจริงแล้วเว็บเหล่านี้ฟรีเฉพาะเอาหนังสือมาฝากไว้บนเว็บให้คนอื่น โหลด แต่คนที่โหลดหนังสือเหล่านี้นั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องความใช้จ่าย ในการดาวน์โหลด ยกตัวอย่างเช่น Project Gutenberg ที่รวบรวมหนังสือมากมายไว้ แต่พอจะดาวน์โหลดก็ต้องเสียเงินอยู่ดี

4. The internet complements libraries, but it doesn?t replace them
อินเทอร์เน็ตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของห้องสมุดที่ควรจะมี แต่ก็ไม่สามารถแทนที่ได้ สาเหตุคล้ายๆ ข้อ 2 เพราะว่าสารสนเทศที่จัดเก็บเป็นคนละรูปแบบ เช่น ความจริง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ

5. School Libraries and Librarians Improve Student Test Scores
ห้องสมุดทางการศึกษาและบรรณารักษ์ที่ทำงานในห้องสมุด ทางการศึกษามีส่วนช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น ? อันนี้ได้มาจากการศึกษากรณีตัวอย่างเรื่องการใช้ห้องสมุดเพื่อพัฒนาการศึกษา ของ Illinois School Libraries

6. Digitization Doesn?t Mean Destruction
การปรับรูปแบบเป็นดิจิทัลไม่ได้หมายความว่าจะต้องลด ภาระงาน ? มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Google Book Search ที่ทาง google เองในช่วงแรกพัฒนาเองแต่ก็เกิดความผิดพลาดหลายส่วน จนต้องดึงห้องสมุดหลายๆ ที่เพื่อเข้ามาปรับปรุงและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการสืบค้นสารสนเทศ เนื่องจาก google มีความชำนาญเรื่องการใช้โปรแกรมในการค้นหาเว็บ แต่ในกรณีหนังสือ Google Book Search นั่นเอง

7. In fact, digitization means survival
ความเป็นจริงแล้วการปรับรูปแบบเป็นดิจิทัลจะเน้นไปใน ความหมายของการรักษาสารสนเทศให้อยู่ได้นาน ? มีกรณีศึกษาจากเรื่อง libraries destroyed by Hurricane Katrina เนื่องจากห้องสมุดแห่งนี้ถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติซึ่งแน่นอนว่าห้ามกันไม่ได้ ดังนั้นจากข้อ 6 ความหมายที่แท้จริงของการทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอลจึงหมายถึงการช่วย ชีวิตสารสนเทศไว้นั่นเอง เพราะถ้าข้อมูลอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเกิดภัยอะไรก็ตามข้อมูลก็จะดำรงคงอยู่ไม่ถูกทำลายง่ายๆ แน่นอน

8. Digitization is going to take a while. A long while.
การปรับรูปแบบเป็นดิจิทัลใช้เวลาปรับนิดเดียวแต่ยาว นาน ? เหมือนขัดๆ กันอยู่ใช่มั้ยครับ จริงๆ แล้วอยากที่รู้ว่าการปรับรูปแบบเป็นดิจิทัลไม่ยากครับก็คือการสแกนตัว หนังสือลงไปในคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้เวลานิดเดียว แต่จำนวนของหนังสือที่มีมากมายมหาศาล ดังนั้นการปรับข้อมูลทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลคงต้องใช้เวลาหลายสิบปีเลยครับ

9. Libraries aren?t just books
ห้องสมุดไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่เก็บหนังสืออย่างเดียว ? ในห้องสมุดไม่ได้มีสารสนเทศประเภทหนังสือเพียงอย่างเดียวนะครับ ความรู้ในการประกอบวิชาชีพ ทักษะในการทำงาน บริการตอบคำถาม เหล่านี้ถือว่าเป็นสารสนเทศที่มีคุณค่าอีกลักษณะหนึ่ง ลองนกภาพตามนะครับว่า ความรู้จากตำรา กับความรู้จากทักษะอย่างไหนน่าจะช่วยเพื่อนๆ ในการทำงานมากกว่ากัน เอาตัวอย่างใกล้ตัวดีกว่า เช่นหนังสือตำราเรียนวิชาบรรณารักษศาสตร์เบื้องต้น กับบล็อกนี้แล้วกัน อิอิ

10. Mobile devices aren?t the end of books, or libraries
อุปกรณ์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ไม่ได้เป็นจุดที่สิ้นสุดของหนังสือ และห้องสมุด ? เนื่องจากอุปกรณ์พวกนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน เช่น มีคือ kindle ของ amazon สามารถดู E-book ได้ก็จริง แต่อุปกรณ์เหล่านี้มีข้อจำกัด เช่น ราคา, เวลาในการใช้งาน, หนังสือที่ต้องโหลดเข้ามา, และอื่นๆ อีกมากมาย เห็นมั้ยหล่ะครับ อุปกรณ์พวกนี้ไม่สามารถแทนห้องสมุดได้ยังไง

11. The hype might really just be hype
การผสมผสานมันก็แค่ผสมผสาน ? มีการพูดถึงความเป็น paper book กับ E-book ว่าโลกนี้จะไม่มี paper book คงไม่ได้เพราะว่าคนยังเคยชินกับความรู้สึกในการใช้กระดาษมากกว่าการใช้ อุปกรณ์ตัวเล็กไว้สำหรับอ่าน ดังนั้นหากทั้งสองสามารถรวมกันได้ ก็ควรจะรวมกัน ไม่ใช่ว่าพอ E-book มาก็ยกเลิก paper book ทิ้ง มันก็อาจจะทำให้ดูไม่ดีก็ได

12. Library attendance isn?t falling ? it?s just more virtual now
การเข้าใช้ห้องสมุดไม่ได้มียอดที่ลดลง แต่มีการเข้าใช้ทางเว็บไซต์ห้องสมุดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะห้องสมุดสถาบันการศึกษา

13. Like businesses, digital libraries still need human staffing
เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ห้องสมุดดิจิทัลก็ยังคงต้องใช้คนในการจัดการและดำเนินงานอยู่ดี

14. We just can?t count on physical libraries disappearing
เราไม่สามารถนับจำนวนการสูญเสียของทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุดทางกายภาพได้ ? เพราะเนื่องจากการปรับเปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์ทางกายภาพเป็นสานสนเทศดิจิทัลมมี ค่าเท่ากัน ดังนั้นการที่ห้องสมุดสูญเสียหนังสือที่เป็นเล่ม แต่ได้มาซึ่งสารสนเทศดิจิตอลจึงเป็นสิ่งที่แทนกันได้ และไม่ได้เรียกว่าสูญเสีย

15. Google Book Search ?don?t work?
แค่หัวข้อคงไม่ต้องบรรยายแล้วหล่ะครับ ตรงไปตรงมาดี เพราะว่า Google Book Search ทำงานไม่ดีพอ

16. Physical libraries can adapt to cultural change
ห้องสมุดที่เป็นกายภาพสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้

17. Physical libraries are adapting to cultural change
จากข้อ 16 เมื่อสามารถทำได้ ดังนั้นห้องสมุดทางกายภาพจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการตลอดเวลา เพื่อ ปรับตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรม

18. Eliminating libraries would cut short an important process of cultural evolution
การที่เรากำจัดห้องสมุดถือว่าเป็นการตัดกระบวนการทางสังคมออก ? ห้องสมุดถือว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมในการศึกษาและ วัฒนธรรมแห่งความรู้ ดังนั้นการตัดความสำคัญของห้องสมุดก็เท่ากับว่าเราตัดความสำคัญทางการศึกษา ออกด้วย

19. The internet isn?t DIY
อินเทอร์เน็ตไม่ใช่คุณเองก็ทำได้ ? ต้องยอมรับอย่างนึงว่าอินเทอร์เน็ตเกิดเพราะคุณ แต่เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเราไม่สามารถกำหนดหรือสั่งการมันได้ เช่น search engine ที่มันทำงานได้เพราะว่าโปรแกรมในบางครั้งการค้นหาที่มีความหมายแบบขั้นลึก โปรแกรมก็ไม่สามารถค้นหาให้ได้เหมือนกัน เอาตรงๆ ก็คือ เวลาค้นกับ search engine มันจะได้คำตอบตรงๆ และตายตัว อยากรู้อย่างอื่นเพิ่มเติมก็ต้องค้นใหม่ แต่ถ้าเป็นบรรณารักษ์ในการตอบคำถาม คำตอบที่ได้มาจะเน้นไปในแนวทางความรู้สึกซึ่งผู้ใช้สามารถค้นได้ง่ายกว่า

20. Wisdom of crowds is untrustworthy, because of the tipping point
ความรอบรู้ของอินเทอร์เน็ตยังไว้ใจไม่ได้ เนื่องจากการแพร่กระจายอาจจะนำมาซึ่งภาวะของข่าวลือ

21. Librarians are the irreplaceable counterparts to web moderators
บรรณารักษ์ไม่สามารถเปลี่ยนจากคนนั่ง counter เป็น web moderators ? ถึงแม้ว่าห้องสมุดจะกลายเป็นห้องสมุดดิจิทัลแต่ก็ต้องมีบรรณารักษ์คอยจัดการ content เนื้อหาอยู่ดี

22. Unlike moderators, librarians must straddle the line between libraries and the internet
บรรณารักษ์เป็นคนช่วยประสานช่องหว่างระหว่างห้องสมุดกับอินเทอร์เน็ต
ครับ

23. The internet is a mess
อินเทอร์เน็ตคือความยุ่งเหยิง ? ครับแน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตคงไม่มานั่งจัดหมวดหมู่ หรือ หัวเรื่องเหมือนห้องสมุดหรอกครับ อิอิ

24. The internet is subject to manipulation
อินเทอร์เน็ตมีหัวเรื่องที่เกิดจากการผสมผสานหลากหลาย วิธีนึงใน web 2.0 ก็คือ การใช้ Tag clould เข้ามากำหนดความนิยมของหัวเรื่อง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการ spam tag กันมากขึ้นจึงทำให้เนื้อหาที่ได้มาบางครั้งไม่ตรงกับจุดประสงค์ของเรา

25. Libraries? collections employ a well-formulated system of citation
ห้องสมุดมีระบบการจัดการที่เป็นระบบมากกว่าบนอินเทอร์เน็ต จาก 2 ข้อด้านบน คงพิสูจน์แล้ว

26. It can be hard to isolate concise information on the internet
มันยากที่จะแยกข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกจากกันในอินเทอร์เน็ต สังเกตได้จากแต่ละเว็บไซต์จะมีการเชื่อมโยงจนบางครั้งข้อมูลในหลากหลายมาก เกินไป จนเราไม่สามารถที่จะพิจารณาว่าจะเชื่อข้อมูลจากที่ไหน

27. Libraries can preserve the book experience
ห้องสมุดสามารถอนุรักษ์หนังสือได้อย่างมีประสบการณ์ช่ำชอง อันนี้คงไม่มีใครเถียงนะครับ แต่อย่างที่เคยเขียนไปคือห้องสมุดอาจจะเปลี่ยนบทบาทเป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือก็ ได้

28. Libraries are stable while the web is transient
ห้องสมุดเป็นอะไรที่เก็บข้อมูลได้มั่นคง แต่อินเทอร์เน็ตเก็บอะไรชั่วคราว ? เห็นด้วยนะครับเพราะว่าบางครั้งพอเราค้นอะไรในอินเทอร์เน็ตวันนี้อาจจะเจอ แต่พอวันรุ่งขึ้นผลการค้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

29. Libraries can be surprisingly helpful for news collections and archives
ห้องสมุดสามารถสร้างประโยชน์ในการสร้าง collection ใหม่ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ? ความสามารถดังกล่าวมาจากห้องสมุดเฉพาะ เพราะว่าห้องสมุดเหล่านี้จะเน้น collection พิเศษที่เกี่ยวกับตัวเอง รวมถึงถ้า collection นั้นยังไม่มีห้องสมุดไหนเคยทำ องค์กรที่เกี่ยวข้องก็จะสนับสนุนในการจัดการห้องสมุดสาขาวิชานั้นๆ

30. Not everyone has access to the internet
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น การติดต่อในอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อ, จุดกระจายสัญญาณเครือข่าย, สถานที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต

31. Not everyone can afford books
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีหนังสือ ? อธิบายง่ายๆ ว่า บางคนก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของหนังสือได้ ดังนั้นแล้วคนเหล่านั้นจะอ่านความรู้ต่างๆ ได้อย่างไร ห้องสมุดจึงเป็นตัวช่วยให้คนสามารถเป็นเจ้าของหนงสือได้ร่วมกัน

32. Libraries are a stopgap to anti-intellectualism
ห้องสมุดช่วยหยุดช่องว่างของความไม่มีความรู้ ? พูดง่ายๆ ว่าห้องสมุดช่วยสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า

33. Old books are valuable
ในยุคที่ใกล้เข้าสู่โลกดิจิทัล เกิดไอเดียใหม่สำหรับห้องสมุด นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์หนังสือ(book museum) เพราะว่าหนังสือรุ่นใหม่ๆ จะอยู่ในรูปดิจิทัล ส่วนหนังสือเก่าที่ทรงคุณค่าก็เก็บไว้ใส่พิพิธภัณฑ์แทน

เป็นอย่างไรบ้างครับ จบตอนกันสักที

จุดประสงค์ที่เอามาให้อ่านไม่ใช่ว่าอาชีพอย่างเรา จะอยู่อย่างเป็นนิรันดร์นะครับ
แต่ถ้าเพื่อนๆ ได้อ่านกันจริงๆ บรรณารักษ์จะเปลี่ยนบทบาทการทำงาน
รวมถึงห้องสมุดก็เปลี่ยนบทบาทและรูปแบบในการให้บริการ
ที่เด่นๆ ก็เห็นจะเป็น จากห้องสมุดทางกายภาพจะกลายเป็นห้องสมุดเสมือน
รวมถึงสื่อต่างๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลมากขึ้นนะครับ

การให้หัวเรื่องด้วย BISAC Subject heading

ถ้าเราถามบรรณารักษ์ว่า “คุณให้หัวเรื่องหนังสือเล่มนี้อย่างไร มีมาตรฐานอะไรในการให้
บรรณารักษ์หลายๆ คนก็คงตอบว่า “ก็เปิดดูจาก LC Subject Heading” นะสิ
ตกลงว่าในโลกนี้มีการให้หัวเรื่องอยู่แบบเดียวจริงหรือ

bisac-library

การให้หัวเรื่องที่ผมจะนำเสนอวันนี้อาจจะต่างจากการให้หัวเรื่องตามหลักบรรณารักษ์หน่อยนะครับ
แต่ผมว่ามันก็สามารถนำมาใช้แทนกันได้นะ บางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ

การให้หัวเรื่องที่ผมจะกล่าว ถูกเรียกว่า “BISAC”
ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Book Industry Standards and Communications”
ซึ่งถูกคิดค้นด้วยองค์กรที่ชื่อว่า Book Industry Study Group ซึ่งทำงานกับตัวหนังสือเช่นกัน

วัตถุประสงค์หลักๆ ก็คือ ใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล EDI(electronic data interchange) ของสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและวารสารเป็นหลัก

ลองเข้าดูการให้หัวเรื่องของระบบ BISAC ได้ที่
http://www.bisg.org/what-we-do-0-136-bisac-subject-headings-list-major-subjects—2009-edition.php

ตัวอย่างหัวเรื่องในระบบ BISAC เช่น
ANTIQUES & COLLECTIBLES
ARCHITECTURE
ART
BIBLES
BIOGRAPHY & AUTOBIOGRAPHY
(นี่เป็นหัวเรื่องใหญ่นะครับ หากต้องการรายละเอียดต้องเข้าไปดูในหัวเรื่องอีกที)

และจากการที่ผมได้ลองเข้าไปดู ผมก็พบว่าจริงๆ แล้วมันก็คล้ายๆ กับ LC subject heading เหมือนกัน
บางทีผมว่ามันก็สามารถนำมาใช้แทน LC subject heading ได้เหมือนกัน

เอาเป็นว่าสำหรับผมคิดว่ามันก็เป็นทางเลือกที่ดีในการนำมาใช้นะครับ

หากเพื่อนๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ http://www.bisg.org

ปัญหามากมายที่รอการแก้ไข จากห้องสมุดแห่งหนึ่ง

หลังจากที่ผมได้คุยกับเพื่อนๆ ในวงการห้องสมุดหลายคน ก็รู้ว่าห้องสมุดหลายๆ แห่งมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมากมาย
ซึ่งบางปัญหาก็เกิดจากผู้บริหาร หรือบางปัญหาก็เกิดจากผู้ใช้บริการ และบางปัญหาก็เกิดจากตัวบรรณารักษ์เอง

ที่มาจาก badjonni
ที่มาจาก badjonni

วันนี้ผมมีกรณีตัวอย่างมานำเสนอ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดแห่งนี้ให้เพื่อนๆ ช่วยวิเคราะห์นะครับ

ปัญหาของห้องสมุดนี้ มีดังนี้ครับ

1. ชั้นหนังสือเต็มจนหนังสือไม่มีที่เก็บอีกแล้ว (พื้นที่มีเยอะแต่ชั้นหนังสือมีน้อย)
บรรณารักษ์ทำเรื่องขออนุมัติในการจัดหาครุภัณฑ์ไป 1 ปีกว่าๆ แล้วยังไม่ได้

2. สื่อประเภทซีดีมีมากมายในห้องสมุด แต่ไม่มีที่จัดเก็บ
แม้แต่เครื่องเล่นซีดี คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่มีในห้องสมุด

3. ในห้องสมุดไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น เวลาผู้ใช้ต้องการหาหนังสืออะไร
ก็จะเดินมาถามบรรณารักษ์อย่างเดียว หรือไม่ก็ใช้ความเคยชินเดินหาตามชั้นเอาเอง

4. บุคลากรในห้องสมุดไม่เคยถูกส่งไปเข้าร่วมงานสัมมนา อบรม ประชุมวิชาการต่างๆ เลย
จนบุคลากรบางส่วนต้องลางานเพื่อไปเข้าร่วมงานต่างๆ เอง

5. บุคลากรของห้องสมุด (บรรณารักษ์) มักจะถูกขอให้ไปช่วยงานอื่นๆ ในองค์กร
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงิน ประชาสัมพันธ์ รับสมัครนักศึกษา ฯลฯ

6. นักเรียนเอาโน้ตบุ๊คมาใช้ในห้องสมุดแต่ไม่สามารถต่อ internet ได้
เนื่องจาก wireless มีไว้ให้พนักงานในองค์กรเล่นได้อย่างเดียว

7. เวลาองค์กรจัดงานนิทรรศการ หรืองานกิจกรรมต่างๆ จะมายืมครุภัณฑ์จากห้องสมุดเป็นหลัก
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ทำให้ห้องสมุดไม่มีที่นั่งเพื่อให้บริการผู้ใช้

ฟังปัญหาของห้องสมุดนี้แล้วก็แอบเหนื่อยใจแทนนะครับ
แต่ผมก็ขอนำเสนอวิธีใการจัดการกับเรื่องเหล่านี้นะครับ

1. ทำงานเท่าที่หน้าที่ของตนรับผิดชอบ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
เราจะฝืนทำมากกว่าที่เป็นอยู่แล้วเดือดร้อนถึงเราไม่ได้ แต่ขอให้ดูว่าผู้ใช้ต้องไม่เดือดร้อนด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถึงไม่มีคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้สืบค้น แต่เราก็สามารถที่จะค้นให้ผู้ใช้ได้มิใช่หรือครับ
เท่านี้นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบรรณารักษ์และผู้ใช้อีกด้วย


2. บางอย่างก็อย่าคาดหวังหากหวังมาก

เช่น คาดว่าจะได้ชั้นหนังสือเดือนหน้า เราก็จะรอคอยในสิ่งที่จะทำให้ผิดหวังได้
ให้คิดซะว่าถ้ามันมีก็ดีนะ แต่ถ้าขาดมันก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เท่านี้ก็สบายใจทั้งเรา ทั้งผู้บริหารแล้ว

3. บางอย่างเราก็คอยติดตามสอบถาม/ทวงถามบ้าง
เช่น หากชั้นหนังสือล้นออกมาเยอะมากแล้วเราก็ควรเริ่มกระตุ้นผู้บริหารได้แล้ว
ไม่ใช่ปล่อยให้มันล้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วไปคาดหวังว่าสักวันผู้บริหารจะเห็นอันนั้นมันคงเป็นไปไม่ได้กระมั้ง

4. ปล่อยวางบ้างเถอะ
บางครั้งการที่องค์กรขาดอุปกรณ์บางอย่างแล้วมาขอยืมไปจากห้องสมุดเช่น โต๊ะ เก้าอี้
หากช่วงนั้น ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องใช้ก็ปล่อยๆ ให้เขาไปเถอะแต่ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเอาไปหมดเลย
ควรจะเหลือไว้ให้ห้องสมุดสักครึ่งหนึ่งก็จะดี เพราะอย่าลืมว่าเราต้องบริการผู้ใช้ด้วย ไม่ใช่บริการองค์กรเพียงอย่างเดียว


คำแนะนำเหล่านี้ ถ้าเพื่อนๆ รับฟังมันก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจแล้วหล่ะครับ

แล้วเพื่อนๆ หล่ะคิดยังไงกับปัญหาเหล่านี้ มีแนวทางในการแก้ไขบ้างหรือปล่าวครับ

ลักษณะทั่วไปของมุมกาแฟในห้องสมุด

บริการใหม่ๆ และทัศนคติใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เช่น
อดีตห้องสมุดหลายแห่งไม่อนุญาติให้นำของกินหรือเครื่องดื่มเข้ามาในห้องสมุด
แต่ปัจจุบันห้องสมุดเหล่านั้นก็เริ่มเปลี่ยนอนุญาติให้นำของกินหรือเครื่องดื่มเข้ามาในห้องสมุดได้

coffee-in-library

โดยเฉพาะมุมกาแฟ ช่วงหลังๆ ที่ผมไปเยี่ยมห้องสมุดหลายๆ ที่
ผมก็เริ่มสังเกตว่าห้องสมุดส่วนใหญ่พักหลังมักจะนิยมมีมุมกาแฟด้วย

จะเพิ่มอีกสักมุมก็คงไม่แปลกเนอะ “มุมกาแฟ” ในห้องสมุด

มุมกาแฟที่ผมพบหลักๆ ผมจะขอแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ นะครับ ซึ่งมีดังนี้

แบบที่ 1 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟเข้ามาเปิดกิจการในห้องสมุด

ลักษณะแบบนี้ห้องสมุดก็ได้ผลตอบแทนหลายๆ อย่าง เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ฯลฯ
ห้องสมุดที่ดำเนินการแบบนี้ได้จะต้องเป็นห้องสมุดที่มีบริเวณหน่อยนะครับ


แบบที่ 2 จัดมุมกาแฟแบบง่ายๆ ด้วยการให้ผู้ใช้บริการบริการตัวเอง

ลักษณะแบบนี้ห้องสมุดก็จะจัดเครื่องทำน้ำร้อน แก้วกระดาษ ช้อนคน และกาแฟสำเร็จรูปประเภทซอง
จากนั้นการคิดเงินก็ให้ผู้ใช้บริการหยอดเงินใส่กล่อง หรือไม่ก็เก็บเงินที่หน้าเคาน์เตอร์
แบบนี้ก็ดีครับง่ายดีแต่การเขียนขออนุมัติกับผู้บริหารจำเป็นต้องเล่าถึงจุดประสงค์ที่ชัดเจนนะครับ
(ไม่งั้นผู้บริหารจะมาหาว่าคุณกำลังหากินกับผู้ใช้บริการห้องสมุดด้วย)


แบบที่ 3 จัดตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือตู้กดน้ำกระป๋อง

ลักษณะนี้ก็จะคล้ายๆ กับข้อที่หนึ่ง คือ ให้ผู้ประกอบการตามติดตั้งให้และดูแลเครื่องเอง
จากนั้นห้องสมุดก็เก็บค่าไฟ หรือ ค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายด้วย

เอาเป็นว่าจริงๆ แล้วอาจจะมีรูปแบบอื่นๆ อีก ยังไงก็ขอให้เพื่อนๆ เล่าให้ผมฟังบ้างนะ

ตามหาห้องสมุดในฝันในร้านหนังสือ

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับว่า “ห้องสมุด” อะไรจะไปอยู่ในร้านหนังสือ
“ห้องสมุดในฝัน” ที่ผมหมายถึง นั่นคือ ชื่อหนังสือ ของอาจารย์น้ำทิพย์ครับ

book-in-library

รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : ห้องสมุดในฝัน
ผู้แต่ง : น้ำทิพย์ วิภาวิน
ISBN : 9789748816395
ปีพิมพ์ : 2550
ราคา : 139 บาท

เรื่องที่ผมจะเขียนนี้คงไม่ใช่การแนะนำหนังสือหรอกนะครับ
แต่ผมจะเล่าเรื่องการหาซื้อหนังสือหมวดหมู่บรรณารักษ์ในร้านหนังสือต่างหาก

เรื่องมันมีอยู่ว่า…

วันก่อนผมไปเดินเล่นที่ร้านหนังสือมา แล้วดันอยากอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบรรณารักษ์
แต่ไม่รู้ว่าปกติในร้านหนังสือ เขาจะเอาหมวดของบรรณารักษ์ไปไว้กับหมวดอะไร
(ปกติรู้แต่ในห้องสมุด หมวดบรรณารักษ์จะอยู่ที่ 020 หรือไม่ก็ Z)

อ๋อ ลืมบอกไปก่อนเข้าร้านหนังสือ ผมได้เข้าไปดูในเว็บของร้านหนังสือนี้แล้ว
และเห็นชื่อหนังสือ “ห้องสมุดในฝัน” ว่ามีในร้านหนังสือแห่งนี้

จนปัญญาจริงๆ ครับ ไม่รู้ว่าจะหายังไงดี สุดท้ายก็ถามที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน
พนักงานก็บอกว่าให้ลองไปหาที่ชั้นนวนิยายดู หรือไม่ก็เรื่องสั้นก็ได้

แบบว่าผมอึ้งไปชั่วขณะ นึกว่าเขาจัดหนังสือผิด
แล้วผมก็ลองเดินไปหาตามที่เขาแนะนำ ไล่หาไปสักระยะก็ยังไม่เจอ
เดินมาถามอีกที พนักงานบอกว่า “หนังสือหมด” เออเอาเข้าไปในเว็บบอกว่ามีแต่ที่ร้านหมด

สุดท้ายก็เปลี่ยนร้านไปดูที่ร้านหนังสืออื่น ปัญหาที่ผมพบเหมือนกันทุกร้าน คือ
– ไม่รู้ว่าหนังสือหมวดบรรณารักษ์ หรือห้องสมุด วางรวมกับหมวดอะไร
– พนักงานทุกคนเข้าใจว่า “ห้องสมุดในฝัน” คือ นวนิยาย
– คนขายและพนักงานทำหน้างงใส่เหมือนกัน และคำตอบสุดท้าย คือ “หมด”

เรื่องนี้ผมคงต้องปรึกษาเจ้าของร้านหนังสือหลายๆ ร้านแล้วหล่ะครับ
ว่าจะแก้ไขยังไงดี เช่น ระบุหมวดของบรรณารักษ์ ในร้านหนังสือเลยดีมั้ย
(แต่คิดในอีกแง่นึง คือ หนังสือในหมวดบรรณารักษ์มีค่อนข้างน้อย)

เอาเป็นว่าขอแนะนำสำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการอ่านหนังสือที่อยู่ในหมวดบรรณารักษ์หรือห้องสมุด
ให้เพื่อนๆ เดินไปหาที่ศูนย์หนังสือจุฬาแล้วกันนะครับ หรือไม่ก็เปิดเว็บไซต์แล้วสั่งซื้อออนไลน์น่าจะง่ายกว่า

ปล. สุดท้ายแล้วผมก็ได้หนังสือ “ห้องสมุดในฝัน” ด้วยการสั่งซื้อออนไลน์ครับ
เนื่องจากราคาถูกกว่า และได้รับของถึงบ้านเลย อิอิ

เว็บไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาฯ – http://www.chulabook.com/

เว็บไซต์ซีเอ็ดยูเคชั่น – http://www.se-ed.com/

?ผมยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา? ผมต้องเสียค่าปรับหนังสือด้วยหรอ?

นี่อาจจะเป็นเพียงปัญหาที่บรรณารักษ์เจออยู่บ่อยๆ แต่พูดอะไรไม่ได้เท่านั้น
วันนี้ผมขอนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้เพื่อนๆ แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

overdue-library

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผมเป็นบรรณารักษ์สถานศึกษาแห่งหนึ่ง
ในตอนนั้นบรรณารักษ์ของที่นี่จะถูกจำกัดตำแหน่ง คือ “เจ้าหน้าที่” ไม่ใช่ “บรรณารักษ์”
ดังนั้นอาจารย์หลายๆ คนในสถานศึกษาแห่งนี้มักจะใช้อำนาจในการต่อรองต่างๆ นานา

อาทิเช่นเรื่องการจ่ายค่าปรับที่ผมจะเล่านี้…

ก่อนอื่นผมขอเกริ่นเรื่องนโยบายของห้องสมุดก่อนนะครับ
สำหรับการยืมหนังสือของอาจารย์ 1 คน ยืมได้ 10 เล่ม และได้ระยะเวลา 1 เดือน
หากคืนเกินกำหนด ก็จะต้องเสียค่าปรับ เล่มละ 5 บาท / วัน

เข้าเรื่องแล้วกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า…
มีอาจารย์แผนกหนึ่งเอาหนังสือมาคืนที่ห้องสมุด แล้วระบบแจ้งเตือนว่า “คืนหนังสือเกินกำหนด”
ซึ่งทำให้มีค่าปรับหนังสือ 15 บาท ดังนั้นบรรณารักษ์จึงจำเป็นที่จะต้องปรับอาจารย์คนนั้น

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงที่ว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ยอมจ่าย ด้วยการให้เหตุผลว่า
?ต้องปรับผมด้วยหรอครับ ในเมื่อผมก็ยืมหนังสือไปสอนนักศึกษา
นี่ผมใช้เพื่อการเรียนการสอนนะ ไม่ได้เอาไปอ่านเล่นหรือเอาไปดอง?

ทางบรรณารักษ์ก็ให้เหตุผลว่ามันเป็นกฎระเบียบที่ห้องสมุดตั้งขึ้น
ถ้าจะขอยกเว้นเรื่องค่าปรับหนังสือก็ต้องเขียนหนังสือให้เหตุผลแบบเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่อาจารย์คนนี้ก็ยังไม่ยอมจ่าย หรือไม่ยอมเขียนหนังสือใดๆ
(ทั้งๆ ที่อาจารย์คนอื่นๆ เวลาทำผิดกฎเขาจะรู้ตัวเองและยอมทำตามกฎที่ห้องสมุดกำหนดไว้)

สุดท้ายอาจารย์ท่านนี้ก็ยืนยันว่าไม่จ่าย แถมยังขู่ว่าจะเอาไปฟ้องผู้บริหารขององค์กรอีก
ในข้อหา “บรรณารักษ์ปรับค่าหนังสือที่คืนกำหนดกับอาจารย์ที่นำไปใช้ในการเรียนการสอน”

สรุปค่าปรับแค่ 15 บาท อาจารย์คนนี้สามารถทำให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ขนาดนี้

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม

การยืมหนังสือไปใช้เพื่อการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่เหมาะสม
หากถึงวันที่กำหนดคืนแล้วยังใช้หนังสือเล่มนั้นไม่เสร็จ ก็น่าจะแจ้งห้องสมุดเพื่อต่ออายุการยืม
หรือไม่ก็ทำหนังสือมาเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่าจะมาบอกปากเปล่าว่าไม่จ่าย
เพราะทางห้องสมุดก็ต้องทำบัญชีส่งฝ่ายกการเงินเช่นกัน
หากระบบแจ้งค่าปรับกับเงินที่ส่งให้ไม่สอดคล้องกัน ห้องสมุดจะได้มีหลักฐาน

วิธีแก้ที่ผมจะขอเสนอ
สำหรับอาจารย์อย่างเดียวคือถ้าคืนหนังสือเกินกำหนด
เราจะไม่ปรับตรงบริเวณเคาน์เตอร์ยืม-คืน แต่เราจะปรับทุกสิ้นเดือน (ตัดเงินเดือนแทน)
และทุกๆ ครั้งที่เปิดเทอมใหม่หลังจากเราอบรมการใช้ห้องสมุดให้นักศึกษาแล้ว
ควรจะจับอาจารย์มาอบรมการใช้และกฎระเบียบของห้องสมุดด้วย
(ขนาดกฎเรื่องการปรับค่าหนังสืออาจารย์ยังไม่รู้เลย สมควรอบรมและชี้แจงอย่างยิ่ง)

เพื่อนๆ ว่ามีวิธีแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร หรือต้องการให้เรื่องนี้เป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าให้ฟังนะครับ

————————————————

อ่านเรื่องแนวทางการแก้ไขเรื่องค่าปรับหนังสือที่พี่โตเขียนตอบได้ ในเรื่อง “ว่าด้วยค่าปรับหนังสือ”
อ่านได้ที่ http://iteau.wordpress.com/2007/08/15/libraryfine/

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณพี่โต ที่เสนอแง่คิดดีๆ ให้พวกเราอ่านด้วยครับ

นักศึกษาภาคค่ำก็ต้องการใช้ห้องสมุดเหมือนกัน

วันนี้ผมขอเขียนถึงเรื่องการให้บริการห้องสมุดในช่วงกลางคืนบ้างนะครับ และเข้าใจว่าหลายๆ ห้องสมุดก็ให้บริการซึ่งดีอยู่แล้ว
แต่ห้องสมุดบางแห่งกลับละเลยเกี่ยวกับการให้บริการผู้ใช้เฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะ “นักศึกษาภาคค่ำ” หรือ “นักเรียนภาคค่ำ
ซึ่งวันนี้ผมจะเขียนแสดงความคิดเห็นในฐานะของผู้ใช้บริการห้องสมุดและผู้ให้บริการห้องสมุดให้เพื่อนๆ อ่านกัน

libraryinnight

เมื่อสถาบันการศึกษาเปิดรับนักเรียนหรือนักศึกษาภาคค่ำแล้ว (โดยเฉพาะโรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนพาณิชย์ ฯลฯ)
การบริการสนับสนุนด้านการศึกษา เช่น ห้องสมุด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาดังกล่าว
เนื่องจากนักเรียนและนักศึกษาเหล่านี้ก็ต้องจ่ายค่าเทอมและค่าบริการต่างๆ ให้กับสถาบันการศึกษา เช่น ค่าบำรุงห้องสมุด ฯลฯ

หลายๆ สถาบันการศึกษาก็มีการบริการห้องสมุดให้นักศึกษาภาคค่ำด้วยโดยจะเปิดให้บริการดึกขึ้น
แต่ประเด็นตรงนั้นผมจะไม่พูดถึง แต่จะขอกล่าวถึงบางสถาบันการศึกษาเท่านั้น
ที่มีการเปิดการเรียนการสอนภาคค่ำแต่ไม่จัดบริการพื้นฐานดังกล่าว
โดยเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะที่ผมเป็นทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ

มุมมองของผมในฐานะผู้ใช้บริการ (นักศึกษาปริญญาโทภาคค่ำ) ต่อห้องสมุดคณะ
ผมเรียนปริญญาโทในภาคค่ำ ซึ่งเรียนเวลา 18.00 – 21.00 น. แต่ห้องสมุดของสถาบันที่ผมเรียนปิดเวลา 21.00 น.
ซึ่งทำให้ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ห้องสมุดในวันที่ผมเรียน เนื่องจากพอเรียนเสร็จห้องสมุดก็ปิดไปแล้ว
และข้อจำกัดของคนที่เรียนปริญญาโทภาคค่ำ คือ เป็นคนที่ทำงานประจำอยู่แล้ว พอมาถึงที่เรียนก็มักจะถึงเวลาเข้าเรียนพอดี
ดังนั้นหากพิจารณาจากเหตุการณ์ต่างๆ จะรู้ว่านักศึกษาเหล่านี้แทบไม่ได้ใช้ห้องสมุดเลยในช่วงกันธรรมดา


มุมมองของผมในฐานะบรรณารักษ์ของสถานศึกษาที่มีการเปิดหลักสูตรภาคค่ำ

นโยบายของผู้บริหารมีการกำหนดช่วงเวลาการเปิดปิดห้องสมุดอย่างชัดเจน คือ ให้บริการในช่วงเวลา 8.00 – 18.00 น.
ซึ่งทางบรรณารักษ์ได้ยื่นเรื่องขอขยายเวลาในการเปิดให้บริการห้องสมุดไปจนถึงเวลา 22.00 น.
แต่ผู้บริหารปฏิเสธในการขยายเวลาเนื่องจากมองในเรื่องของการใช้ทรัพยากรและความคุ้มค่าของการให้บริการเป็นหลัก
(ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เครื่องปรับอากาศ ค่าจ้างพนักงานล่วงเวลา ฯลฯ)

อ่านแล้วเข้าใจภาพรวมกันบ้างหรือยังครับ จริงๆ แล้วเรื่องนี้สำหรับผมเองในฐานะที่เป็นบรรณารักษ์
ผมก็อยากให้บริการห้องสมุดกับนักศึกษาภาคค่ำด้วยเช่นกันนะครับ ผมใช้หลักการเอาใจเขามาใส่ใจเรานะครับ
ลองมองย้อนว่าถ้าคุณเป็นนักศึกษาเหล่านี้ คุณเองอยากจะใช้ห้องสมุดบ้างหรือปล่าว

แนวทางที่ผมจะเสนอจะทำได้หรือไม่ได้อันนี้เพื่อนๆ ก็ลองพิจารณากันดูนะครับ
ผมขอเสนอให้ห้องสมุดปิดหลังจากหมดการเรียนการสอนของนักศึกษาภาคค่ำสัก 1 ชั่วโมงครับ
เช่น ถ้านักศึกษาภาคค่ำเลิกเรียน 21.00 น. ห้องสมุดก็ควรปิดสักประมาณ 22.00 น.

ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริการในการยืมคืนกับนักศึกษาภาคค่ำบ้าง

สุดท้ายก็ขอฝากว่า “การบริการเราต้องยึดผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่ยึดความสบายของบรรณารักษ์เป็นหลัก”
อย่างน้อยนักศึกษาภาคค่ำจะได้ไม่ต้องมาบ่นว่า ?เสียเงินจ่ายค่าห้องสมุดไปแล้วไม่เห็นได้ใช้เลย?

เรื่องเล่าของผมกับห้องสมุดในวัยเด็ก

ก่อนอื่นต้องขออวยพรให้เด็กๆ อนาคตของชาติสักหน่อยดีกว่า เนื่องจากวันนี้เป็น “วันเด็กแห่งชาติ”
ผมอยากเห็นอนาคตของชาติรักการอ่านมากๆ และมีความคิดสร้างสรรค์มากๆ ครับ

library-kid

คำขวัญวันเด็กปี 2553 = “คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม”

วันนี้ผมขอเขียนเรื่องแบบสบายๆ หน่อยแล้วกัน และขอเข้ากับบรรยากาศวันเด็กนิดๆ นะ
ประมาณว่าจะขอเล่าเรื่องสมัยตอนผมเป็นเด็กแล้วกัน เกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดในวัยเด็กของผม

ผมเริ่มชอบห้องสมุดตั้งแต่เมื่อไหร่น้า…

ผมคงต้องเริ่มต้นเล่าตั้งแต่สมัยผมเรียนเลยหล่ะมั้ง
ซึ่งผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีมาตลอดตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6
ผมยังคงจำห้องสมุดโรงเรียนแห่งนี้ได้เสมอและเห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

หลักๆ การเปลี่ยนแปลงห้องสมุดครั้งใหญ่ที่ผมเห็นมีอยู่ 3 ครั้ง ดังนี้

1. ห้องสมุดเล็กๆ ที่ให้บริการแบบดั้งเดิมต้องยืมคืนด้วยบัตรกระดาษ และยังไม่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาให้บริการ
ภายในห้องสมุดเองก็ติดพัดลมไว้ทั่ว ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศเลย แต่ห้องสมุดก็ไม่ร้อนนะ
คนมายืมหนังสือที่นี่ก็เยอะเหมือนกัน จะยืมแต่ละทีต้องเข้าแถวรอนานมาก
แต่ผมเองก็ใช้บริการแทบจะทุกสัปดาห์เลย ตอนนั้นจำได้ว่าอยู่ประมาณ ป.3-4 ได้มั้ง
หนังสือที่ผมยืมส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มีภาพเยอะๆ พวกการ์ตูนวิทยาศาสตร์ครับ

2. ห้องสมุดถูกย้ายไปอยู่อีกตึกซึ่งเป็นห้องสมุดชั่วคราวเนื่องจากตอนนั้นมีการทุบตึกห้องสมุดเดิมเพื่อสร้างห้องสมุดใหม่
ในห้องสมุดชั่วคราวนี้เปิดดำเนินการแค่ประมาณปีครึ่งเอง
แต่ก็มีเครื่องปรับอากาศในห้องสมุดนะ ซึ่งผมก็ชอบมาก และเข้าไปนั่งอ่านหนังสือเล่นประจำเพราะว่ามันเย็นดี
แต่ในช่วงนั้นผมไม่ค่อยได้ยืมหนังสือเลย หรือว่าโตแล้วเริ่มขี้เกียจนะ

3. ห้องสมุดใหม่เสร็จกลายเป็นตึกหอสมุดใหญ่มาก มีคอมพิวเตอร์เพื่อการสืบค้น มีอินเทอร์เน็ตให้เล่นด้วย
ในตึกหอสมุดใหม่นี้มีทั้งห้องคอมที่ใช้สำหรับวิชาเรียนในชั้น 2 ส่วนในชั้น 3 กับ 4 เป็นห้องสมุด
ซึ่งมีความทันสมัยมากๆ ทำให้ผมเข้ามาประจำเลย โดยเฉพาะเวลาพักเที่ยงเกือบทุกวันผมจะอยู่ที่ห้องสมุดเสมอๆ
เวลาเพื่อนจะตามหาผมก็มักจะมาหากันที่ห้องสมุดนั่นแหละ
ในช่วงนั้นเวลาใครต้องการทำรายงาน ผมจะอาสาเป็นคนค้นหาข้อมูลเพื่อประกอบรายงานตลอด
คงเป็นเพราะตอนนั้นแน่ๆ ที่ทำให้ผมอยากเป็นบรรณารักษ์มั้ง

นอกจากห้องสมุดโรงเรียนของผมแล้วผมยังมีห้องสมุดที่ผมไปประจำอีกสองที่นั่นคือ

1. หอสมุดแห่งชาติ (ไปค่อนข้างบ่อย)
ช่วงที่ผมได้รับมอบหมายให้ทำรายงาน ผมก็จะเลือกที่ค้นหาข้อมูลหลัก ซึ่งนั่นก็คือ หอสมุดแห่งชาติ นั่นเอง
เวลาอยากได้เนื้อหาอะไร ข้อมูลอะไร ความรู้อะไร คำตอบของผมที่ได้มักจะมาจากห้องสมุดเป็นหลัก
อาจจะเป็นเพราะว่าในสมัยนั่นอินเทอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มต้น จึงทำให้ค้นหาข้อมูลแล้วไม่ค่อยได้อะไรนั่นเอง


2. ห้องสมุดภาษาญี่ปุ่นที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

เนื่องจากทุกๆ วันเสาร์ผมจะเรียนภาษาญี่ปุ่นที่นั่นและในห้องสมุดนั่นมีหนังสือที่สอนภาษาญี่ปุ่นมากมายด้วย
เวลามาเรียนผมจึงต้องแวะห้องสมุดนี้สักชั่วโมงเพื่อหาอะไรอ่านเล่น และเพื่อเป็นการฝึกภาษาไปในตัวด้วย

เอาเป็นว่าผมขอหยุดเวลาเด็กไว้แค่นี้ก่อนแล้วกัน
ไว้วันหลังจะมาเล่าต่อในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยก็แล้วกันนะครับ

สุดท้ายนี้ก็ขอให้เพื่อนๆ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติกันนะครับ

ความทรงจำดีๆ เรื่องเว็บไซต์ห้องสมุดชิ้นแรกของผม

วันนี้ผมลื้อไฟล์งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเจองานชิ้นนี้ (เว็บไซต์แรกที่ผมสร้างให้กับห้องสมุด) โดยบังเอิญ
วันนี้ผมจึงขอรำลึกถึงความหลังและเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบคร่าวๆ นะครับ

ขอ censor ชื่อหน่วยงานและหน้าของสาวๆ นะครับ
ขอ censor ชื่อหน่วยงานและหน้าของสาวๆ นะครับ

ในขณะนั้นผมอยู่ในตำแหน่งบรรณารักษ์ไอทีของห้องสมุดแห่งหนึ่ง (ลองอ่านจากประวัติผมดูนะครับ)
ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการห้องสมุดให้จัดทำเว็บไซต์ของห้องสมุดขึ้นมา

จุดประสงค์ของเว็บไซต์ที่ผมสร้าง
– เพื่อแนะนำข้อมูลทั่วไปของห้องสมุด เช่น ประวัติความเป็นมา เวลาทำการ นโยบายในการให้บริการ ฯลฯ
– เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบรรณารักษ์ และผู้ใช้บริการ
– เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารของห้องสมุด
– เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังสารสนเทศออนไลน์

ต้องขอบอกก่อนเลยนะครับ ช่วงนั้นผมยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับไอทีสักเท่าไหร่
เลยออกแบบเว็บไซต์ห้องสมุดอย่างง่ายๆ ขึ้นมา โดยเขียนด้วย HTML ธรรมดาๆ

แต่ด้วยความโชคดีของผมที่ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ ผมได้เป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์มาก่อน
เลยชำนาญกับการออบแบบงานใน Photoshop
ดังนั้นผมจึงผสานระหว่างความรู้ด้านไอทีและการออกแบบจนได้เว็บไซต์ห้องสมุดออกมา

ในเว็บไซต์นี้ประกอบด้วย
1. ฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม – เพื่อช่วยในการค้นหนังสือจากห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา
โดยเว็บของผมก็จะเชื่อมไปยัง http://uc.thailis.or.th

2. การจัดการความรู้ห้องสมุด – เพื่อสร้างชุมชนการจัดการความรู้ ซึ่งตอนนี้เชื่อมโยงมาที่บล็อกนี้

3. กฤตภาคออนไลน์ – เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นข่าวเก่าๆและบทความดีๆ ได้
ซึ่งส่วนนี้ผมสร้างเองโดยแบ่งหมวดตามสาขาวิชาที่มีการเปิดสอนที่นี่

4. สุดยอดหนังสือน่าอ่าน – เพื่อเป็นการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจในแต่ละเดือน
โดยผมก็ทำจุดเชื่อมโยงไปที่เว็บของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คในส่วนของอันดับหนังสือขายดี

5. ebook online – เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เมื่ออยู่ที่บ้าน
ไม่ต้องมาที่ห้องสมุด อันนี้ผมก็เชื่อมโยงไปยัง http://www.gutenberg.org/wiki/Main_Page

6. ติดต่อศูนย์วิทยบริการ – ในส่วนนี้จะบอกแผนที่ในการมาที่ห้องสมุด และที่อยู่ในการติดต่อ
รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ด้วย

7. แบบฟอร์มศูนย์วิทยบริการ – ในส่วนนี้เป็นบริการภายในให้บรรณารักษ์สามารถ Download เอกสารประกอบการทำงานได้

8. ศูนย์รวมความรู้นอกตำราเรียน – อันนี้สร้างเองแต่ก็ใช้ข้อมูลจากคนอื่นอยู่ดี
ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมคัดเลือกเรื่องที่น่าสนใจในแต่ละเดือนแล้วนำสไลด์ความรู้ต่างๆ มาให้ผู้ใช้บริการเข้าไปดูได้
โดยผมก็จะเชื่อมโยงไปยังเอกสารต้นฉบับของเจ้าของสไลด์

9. ค้นข้อมูลจาก google – ส่วนนี้มีไว้สำรองเมื่อผู้ใช้บริการไม่สามารถหาหนังสือในห้องสมุด
ก็สามารถค้นข้อมูลได้จาก google ได้

10. แนะนำฐานข้อมูลออนไลน์ – มีการรวบรวมรายชื่อฐานข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย
ที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งฐานข้อมูลที่คัดสรรมานั้นนับว่ามีประโยชน์กับผู้ใช้ที่ต้องการศึกษา
ข้อมูลเพื่อนำไปทำวิจัยได้

11. บริการข่าวสาร –
อันนี้ผมก็ใช้ rss feed ข่าวมาจาก สำนักข่าวต่างๆ โดยแบ่งข่าวเป็น 5 ส่วนคือ
ข่าวการศึกษา / ข่าวไอที / ข่าวสุขภาพ / ข่าวธุรกิจ / ข่าวยานยนต์

12. รวบรวมจุดเชื่อมโยงไปยังห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เพื่อใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม

13. แนะนำหนังสือใหม่ในแต่ละเดือน

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับความสามารถของเว็บไซต์นี้
แต่ถ้าเพื่อนๆ สังเกตจะรู้ว่าหลายๆ เมนู ผมไม่ต้องทำเองก็ได้นะครับ
แค่อาศัยการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ภายนอกก็เพียงพอแล้ว

ของบางอย่างเราสามารถนำมาใช้ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสร้างเอง
สิ่งสำคัญของการทำเว็บไซต์ห้องสมุด คือ ทำออกมาแล้วผู้ใช้ต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด

ผลงานชิ้นนี้ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้มีเว็บไซต์ แต่หลังจากที่ผมลาออกที่นี่ก็เปลี่ยนเว็บไซต์ห้องสมุดใหม่
ซึ่งผมก็แอบน้อยใจนิดๆ เหมือนกัน เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วมีอะไรที่ดีขึ้นผมก็คงยอมได้
แต่นี่เปลี่ยนเว็บไซต์จากที่มีความสามารถดังกล่าวกลายเป็นเว็บไซต์ที่มีแต่แนะนำข้อมูลห้องสมุดอย่างเดียว

เศร้าใจนะ แต่ทำอะไรไม่ได้นี่…

เมื่อบรรณารักษ์อย่างผมเจอกับผู้ใช้บริการหัวหมอ

วันนี้ขอเล่าเรื่องในอดีตนิดนึงนะครับ สมัยตอนที่ผมยังเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งหนึ่งอยู่
อ๋อ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับ ว่าเป็นห้องสมุดสถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ (ลองอ่านประวัติผมดูจะรู้ว่าที่ไหน)
ผมก็พบเจอกับผู้ใช้บริการห้องสมุดหลากหลายรูปแบบ (อาจารย์ นักศึกษา พนักงาน เจ้าหน้าที่) วันนี้เป็นเพียงเคสหนึ่งเท่านั้น

userlibrary

ผู้ใช้หัวหมอ คือ ผู้ใช้บริการที่ฉลาดแกมโกง มีความรู้แต่มักใช้ในทางที่ผิด
เมื่อเข้ามาใช้บริการทีไรก็มักจะหาเรื่องปวดหัวมาให้เหล่าบรรณารักษ์ประจำ

ผู้ใช้หัวหมอที่ผมมักจะพบประจำ คือ นักศึกษา ครับ

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

เพื่อนๆ เคยได้ยินประโยคนี้หรือไม่
ผมเอาหนังสือมาคืนแล้วจริงๆ นะครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า…วันหนึ่งนักศึกษา ก. ก็เข้ามาที่ห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือ
แต่ผมไม่สามารถให้ยืมได้เนื่องจากระบบมีข้อความเตือนว่า “ยังมีหนังสือค้างส่ง”
ผมจึงทวงถามถึงหนังสือเล่มดังกล่าว แต่นักศึกษาบอกว่านำมาคืนแล้ว
ผมจึงได้ให้นักศึกษาไปหาหนังสือบนชั้นหนังสือแล้วนำมาแสดงเป็นหลักฐาน

ผ่านไป 10 นาที นักศึกษากลับมาพร้อมกับหนังสือดังกล่าว แล้วพูดว่า
?ก็บอกแล้วว่าคืนแล้วก็ไม่เชื่อ ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเลยนะครับคุณบรรณารักษ์?

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมโดนผู้ใช้ตำหนิว่าไม่รอบคอบ
แต่ก็เอาเถอะครับผมคงไม่รอบคอบเอง เลยถูกผู้ใช้ตำหนิซะบ้าง

แต่ผมก็ยังมีเรื่องที่สงสัยหลายเรื่อง เช่น
– ระบบห้องสมุดในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
– หนังสือที่มาคืนทุกเล่มผมต้องเพิ่มสัญญาณในแถบแม่เหล็ก แต่เล่มนี้กลับยังไม่ได้เพิ่ม

(ผมทดลองหยิบหนังสือเล่มนี้เดินผ่านประตูจับสัญญาณ)

แต่เอาเถอะครับ บรรณารักษ์มือใหม่อย่างผมอาจจะพลาดเองก็ได้

อีกหลายสัปดาห์ต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันกับคนๆ เดิมอีกแล้ว
นักศึกษาคนนี้มาขอยืมหนังสือ และระบบก็เตือนอีกแล้วว่ายังมีหนังสือค้างส่ง
ผมจึงต้องทวงถามไปตามปกตินั่นแหละครับ ซึ่งนักศึกษาก็บอกว่าคืนไปแล้ว “ระบบมั่วปล่าว
วิธีเดิมครับ ถ้าคืนแล้วก็ต้องอยู่ที่ชั้น ผมจึงบอกให้เด็กคนนี้ไปหาที่ชั้นอีกที

หลังจากที่เด็กคนนี้เดินไปสักพัก ผมก็เดินตามไปแบบเงียบๆ

สุดท้ายผมก็พบความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้
นั่นคือ “นักศึกษาคนนั้นเดินไปที่ชั้นหนังสือ สักพักก็หยิบหนังสือที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าออกมา

พอเขาหันหลังกลับมา ก็เห็นผมยืนอยู่ข้างหลังก็ตกใจเล็กน้อย
แล้วก็ยังหยิบหนังสือมาโชว์ผมอีกว่า “นี่ไงหาเจอแล้ว
ผมก็เลยบอกไปว่ามา “ยืนดูอยู่นานแล้ว…

เอาเป็นว่าผมคงไม่ลงโทษอะไรมากมายหรอกครับ แค่ทำเรื่องส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาก็เท่านั้น

เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ อ่านแล้วรู้สึกยังไง มีใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างมั้ยครับ
เอาเป็นว่าเล่าสู่กันฟังครับ แล้วหาทางแก้ไขกันดีกว่า…