นายห้องสมุดชวนอ่าน : มาตรฐานและตัวชี้วัดสำหรับห้องสมุดมีชีวิต

เพิ่งจะผ่านพ้นการประกวดห้องสมุดมีชีวิตของ TK park มาไม่นาน วันนี้ผมจึงขอแนะนำหนังสือและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงานห้องสมุดมีชีวิตสักหน่อยนะครับ

หนังสือที่ผมจะแนะนำในวันนี้ คือ “คู่มือการใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดการดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิตรูปแบบอุทยานการเรียนรู้” ซึ่งเป็นคู่มือที่ออกมาเพื่อใช้เป็นหลักในการประเมินห้องสมุดมีชีวิต

ห้องสมุดไหนอยากรู้ว่าห้องสมุดตัวเองจะเข้าข่ายการเป็นห้องสมุดมีชีวิตหรือไม่ ก็สามารถนำความรู้จากหนังสือเล่มนี้มาเทียบดูได้

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้

ชื่อเรื่องภาษาไทย : คู่มือการใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดการดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิตรูปแบบอุทยานการเรียนรู้
ผู้จัดทำ : ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานันท์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.บุญศรี พรหมมาพันธุ์
จัดพิมพ์โดย : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้
ปีพิมพ์ : 2554
จำนวนหน้า : 48 หน้า

มาตรฐานและตัวชี้วัดการดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิตในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้ มี 5 มาตรฐาน 21 ประเด็นย่อย 100 ตัวชี้วัด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

มาตรฐานที่ 1 ด้านกายภาพ – เน้นเรื่องสภาพทางกายภาพและบรรยากาศของห้องสมุด
มาตรฐานที่ 2 ด้านสาระและกิจกรรม – เน้นเรื่องสื่อที่มีในห้องสมุด และการจัดกิจกรรมต่างๆ
มาตรฐานที่ 3 ด้านการบริการ – เน้นเรื่องการบริการเชิงรุกและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ
มาตรฐานที่ 4 ด้านบุคลากร – เน้นเรื่องของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด
มาตรฐานที่ 5 ด้านการบริหารจัดการ – เน้นข้อมูลบริหารและการจัดการห้องสมุด เช่น เครือข่ายห้องสมุด

(สำหรับประเด็นและตัวชี้วัดสามารถอ่านได้ในหนังสือครับ หรืออ่านออนไลน์ได้จาก link ด้านล่าง)

มาตรฐานและตัวชี้วัดทั้งหมดอาจจะมองว่ามีจำนวนมาก ห้องสมุดบางแห่งอาจจะมองว่าไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วห้องสมุดสามารถหยิบตัวชี้วัด  หรือ มาตรฐานมาใช้ขึ้นอยู่กับบริบท หรือเรื่องที่จะเน้นก็ได้ ซึ่งแนวทางการวัดผลมีอยู่ในหนังสือคู่มือเรียบร้อยแล้ว โดยรวมค่าเฉลี่ยที่ถือว่าผ่านจะอยู่ที่คะแนน 3.50

ห้องสมุดสามารถนำมาตรฐานและตัวชี้วัดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ตัวชี้วัดต่างๆ สามารถใช้เป็นตัวตั้งต้นในการประเมินห้องสมุดของเพื่อนๆ ได้ หรืออาจจะนำมาเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตต่อไป

เพื่อนๆ ที่อยากอ่านตัวเล่มก็สามารถมายืมได้ที่ TK park นะครับ
แต่ใครไม่สะดวกก็สามารถอ่านออนไลน์ได้ที่นี่ “มาตรฐานและตัวชี้วัดการดำเนินงานห้องสมุดมีชีวิตในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้

เอาเป็นว่าก็ฝากไว้เท่านี้นะครับ

สั้นๆ ง่ายๆ บรรณารักษ์ยุคใหม่ในสายตาผม

คำถาม : บรรณารักษ์ยุคใหม่คืออะไร บรรณารักษ์ยุคใหม่หมายถึงบรรณารักษ์อายุน้อยๆ หรือไม่ บรรณารักษ์ที่อายุมากแล้วมีโอกาสเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่หรือไม่

คำถามข้างต้นนี้ผมได้รับฟังมากจน ผมรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว
เอาเป็นว่าวันนี้เลยขอนำเสนอภาพการ์ตูนสักนิดนึง แล้วคำอธิบายสักหน่อยแล้วกัน

ชมภาพกันก่อนเลยครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับกับภาพดังกล่าว
จริงๆ แล้วข้อความผมว่าก็อธิบายด้วยตัวของมันแล้วนะครับ

บรรณารักษ์ยุคใหม่ =?
แน่นอนครับว่าบรรณารักษ์ยุคใหม่ไม่ได้หมายความถึงความหนุ่มสาวและไม่ได้ยึดติดที่อายุ
แต่บรรณารักษ์ยุคใหม่ในสายตาของผม คือ
– บรรณารักษ์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานได้ตามยุคตามสมัย
– บรรณารักษ์ที่สามารถแสดงให้ผู้ใช้บริการเห็นได้ว่าห้องสมุดเป็นสถานที่ที่มากกว่าห้องเก็บหนังสือ
– บรรณารักษ์ที่ไม่ต้องเก่งไอทีเหมือนโปรแกรมเมอร์แต่สามารถประยุกต์ใช้ไอทีกับงานห้องสมุดได้
– บรรณารักษ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์คิดกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ
– บรรณารักษ์ที่สามารถทำให้ห้องสมุดธรรมดาๆ เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตชีวาได้

ฯลฯ

เอาเป็นว่าสั้นๆ ง่ายๆ คือ บรรณารักษ์ที่เป็นมากกว่าคนเฝ้าหนังสือในห้องสมุดแล้วกัน ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนมีความเป็นบรรณารักษ์ยุคใหม่อยู่ในตัวอยู่แล้ว ดังนั้นดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้กันมากๆ นะครับ

สุดท้ายนี้ ชวนคิดต่อ เพื่อนๆ หล่ะคิดว่าบรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องเป็นอย่างไร
ส่งมาให้ผมอ่านบ้างแล้วกัน สู้ๆ ครับคุณบรรณารักษ์ยุคใหม่

สรุปผลการประกวดห้องสมุดมีชีวิต ครั้งที่ 4

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ วันนี้ผมขอสรุปผลการประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4 ที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ได้จัดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมและเพิ่งจะประกาศผลเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555

อ่านข้อมูลโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4 ย้อนหลังได้ที่
http://www.libraryhub.in.th/2012/06/28/living-library-award-2012/

ผมขอสรุปผลการประกวดเลยแล้วกันนะครับ

รางวัลชนะเลิศ ห้องสมุดมีชีวิต TK park ได้แก่……
ห้องสมุดประชาชนอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ (เยเย้ ยินดีด้วยนะครับ)

รางวัลรองชนะเลิศ ห้องสมุดมีชีวิต TK park ลำดับ 1 (อันดับสอง) ได้แก่
ห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

รางวัลรองชนะเลิศ ห้องสมุดมีชีวิต TK park ลำดับ 2 (อันดับสาม) ได้แก่
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสงขลา

รางวัลรองชนะเลิศ ห้องสมุดมีชีวิต TK park ลำดับ 3 (อันดับสี่)
ได้แก่
ห้องสมุดประชาชนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

รางวัลรองชนะเลิศ ห้องสมุดมีชีวิต TK park ลำดับ 4 (อันดับห้า)
ได้แก่
ห้องสมุดประชาชนอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

รางวัลชมเชย ห้องสมุดมีชีวิต TK park (อันดับที่ 6 – 10) ได้แก่
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ลาดกระบัง กทม.
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเชียงใหม่
ห้องสมุดกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้มีนบุรี กทม.
ห้องสมุดโรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา

รางวัลผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย ห้องสมุดมีชีวิต TK park (อันดับที่ 11 – 20) ได้แก่
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี กทม.
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดตราด
ห้องสมุดเพชรรัตน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ห้องสมุดโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จังหวัดลำปาง
ห้องสมุดประชาชนอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
ห้องสมุดโรงเรียนวัดพุทธบูชา กทม.
ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
ห้องสมุดประชาชนอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุโขทัย

ขอแสดงความยินดีกับห้องสมุดทั้ง 20 แห่งด้วยนะครับ คุณเป็นสุดยอดห้องสมุดมีชีวิตจริงๆ

สำหรับรางวัลที่ห้องสมุดมีชีวิตจะได้รับผมแนะนำว่าให้เพื่อนๆ กับไปอ่านในบล็อก
โครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิตครั้งที่ 4 ดีกว่าครับ
http://www.libraryhub.in.th/2012/06/28/living-library-award-2012/

ปล. ขอบคุณข้อมูลและภาพจากกล้องพี่นุ้ย TK park ด้วยนะครับ

จดหมายจากนายห้องสมุด (23/09/55)

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ และผู้ติดตามบล็อก Libraryhub ทุกท่าน

ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ห่างหายไปจากวงการบล็อกซะตั้งนาน (ติดภาระกิจมากมาย)
หนึ่งเดือนที่ผ่านมา (เดือนกันยายน) เพื่อนๆ คงทราบกันนะครับ ว่าเป็นเดือนปิดงานของภาครัฐ
และแน่นอนครับ เพราะเช่นนั้น จึงทำให้ผมต้องตามเก็บงานมากมายจงไม่มีเวลาอัพบล็อกให้เพื่อนๆ อ่าน

ที่กล่าวมานี่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ตัวแต่อย่างใด
เพียงแค่วันนี้มีช่วงที่ว่าง (เวลาว่างหายากมากๆ)
จึงอยากอัพบล็อกมาเพื่อทักทายเพื่อนๆ บ้างก็เท่านั้นเอง

จริงๆ สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนแล้ว
งานที่ต้องสะสางก็ยังพอให้ตัวเองได้ยุ่งกับงานเช่นเคย
เอาเป็นว่า “เดือนหน้าถ้างานเบาลงจะมาอัพแบบเต็มรูปแบบอีกทีนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามบล็อก Libraryhub มาโดยตลอด

นายห้องสมุด

การเรียนรู้คือโอกาส (Learning is Opportunities)

อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดคลาสพิเศษ เรียนลัด ติวเข้มกับ 13 วิชาสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คุณเตรียมพร้อมก้าวสู่ 13 เส้นทาง กับมืออาชีพที่ยกทัพมาถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความฝัน และจินตนาการ ให้คุณได้รู้ ได้เห็นกันแบบหมดเปลือก ตลอดเดือนกันยายน – ตุลาคม 2555

1. สร้างสรรค์รายการให้โดนใจวัยทีน
เปิดโลกความคิดสู่การสร้างสรรค์สื่อโทรทัศน์  ได้คิด ได้เรียน ได้รู้ และลงมือสร้างสรรค์ รายการโทรทัศน์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง โดยวิทยากรมืออาชีพ อาทิ ทีมผลิตรายการ พลเมืองตัวเล็ก TPBS คุณไวยกรณ์ แก้วศรี  Creative Drama and Show Biz บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม และ วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2555 เวลา 10.00 – 16.00 น.
ร่วมกับ : People Media

2. วิชาสร้างสรรค์การเรียนรู้

ร่วมกระตุกต่อมคิด แชร์แนวคิด ถอด How To กับแคมเปญและกิจกรรมสร้างสรรค์ (Creative Campaign and Event Creation) กับคุณกิตติพงษ์ (โอลิเวอร์) วีระเตชะ Vice President และผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์สื่อสารแบรนด์ Y&R Thailand
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2555 เวลา 10.30 – 12.30 น.
ร่วมกับ : ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


3. Digital Publishing สร้างสรรค์สื่อสิ่งพิมพ์ดิจิตอลแบบ Interactive

การสร้างสรรค์ Digital Publishing สื่อสิ่งพิมพ์ดิจิตอลแบบ Interactive โดยใช้ Platform iOS กับวิทยากรจาก computer arts Thailand
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 1, 8, 15 กันยายน 2555 เวลา 10.30 – 18.00  น.
ร่วมกับ : สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ Bangkok ACM Siggraph

4. ละครกับคนรุ่นใหม่
เรียนรู้เทคนิคการนำละครมาสะท้อนประเด็นร่วมสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 1 – วันอาทิตย์ที่ 2 และ วันอังคารที่  11 – วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2555
ร่วมกับ : มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มละครมะขามป้อม)

5. สร้างร้านออนไลน์ขายให้รุ่งด้วย Facebook
เปลี่ยน Facebook ที่เคยคิดว่ามีไว้แค่เล่นสนุกไปวันๆ ให้กลายเป็นหน้าร้านขายสินค้าระดับ Frist Class พร้อมเคล็ดลับการเปลี่ยน Friend ให้กลายเป็นแฟน (แฟนเพจ) เพื่อสร้างธุรกิจ
วันเวลา : วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2555 เวลา 10.00 – 17.00 น.
ร่วมกับ : นิตยสารคอมพิวเตอร์.ทูเดย์

6. คลิกแล้ววางสร้างสรรค์แอพฯ ได้ใน 10 นาที
หลักสูตรที่จะทำให้ทุกคนที่อยากมีแอพบนมือถือเป็นของตัวเอง สามารถสร้างแอพฯ เองได้ ในเวลาไม่กี่นาที แม้จะไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการเขียนโปรแกรมก็ตาม
วันเวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2555 เวลา 13.00 – 17.00 น.
ร่วมกับ : ARIP

7. วิชาเพื่อนช่วยเพื่อน
ชวนคนรุ่นใหม่มาจุดประกายแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ และค้นหาโอกาส ต่อยอดความหมายแบบเพื่อนช่วยเพื่อนกับกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ให้ตัวเองอยู่ได้ พร้อมสร้างผลกำไรให้สังคม
วันเวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2555 13.00 – 16.00 น.
ร่วมกับ : สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) กลุ่มปลาจะเพียร และ Children Mind


8. เป็นคนทำหนังแบบศิลปินผู้ประกอบการ Artist Entrepreneur

กลเม็ดเคล็ดลับสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงาน จะทำอย่างไรเมื่อศิลปินสร้างระบบ ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การหาทุน การตลาด การจัดฉาย ช่องทางในการจำหน่ายผลงาน
วันเวลา : วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2555 เวลา 10.00 – 17.00 น.
ร่วมกับ : นิตยสาร Bioscope

9. คนทำหนังสืออิสระ…อาชีพของคนมีฝัน
ตามล่าหา “คนทำหนังสืออิสระ” พบกับมืออาชีพในแวดวงคนทำหนังสือ ที่จะมาถ่ายทอดวิทยายุทธ์สู่สังเวียนแห่งความฝัน
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2555 เวลา 13.00 – 17.00 น.
ร่วมกับ :  นิตยสาร Happening

10. สโมสอน สมอลล์รูม ตอน “60 minutes ปิดเพลงโฆษณา”
ทำเพลงโฆษณาให้ตอบโจทย์ได้ภายใน 60 นาที กับศิลปินสมอลล์รูม เจ เจตมนต์ มละโยธา (ผู้บริหารค่ายเพลงสมอลล์รูมและศิลปินวง Penguin Villa) กอล์ฟ ประภพ ชมถาวร (ศิลปินวง Superbaker) นะ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ (ศิลปินวง Polycat)
วันเวลา : วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2555 เวลา 15.00 – 18.00 น.
ร่วมกับ : Smallroom


11. Tablet เพื่อการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด (Unlimited Knowledge in Tablet)

เรียนรู้การใช้ tablet และ Application ที่น่าสนใจให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วันเวลา : วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2555
ร่วมกับ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

12. นวัตกรรมสื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ของคนพิการ (Innovations for Disabilities)
แนะนำนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ สำหรับคนพิการ
วันเวลา : วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม 2555
ร่วมกับ : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

13. บูรณาการความรู้สู่อาเซียน
แลกเปลี่ยนและรวบรวมความรู้ในมิติต่างๆ ของเยาวชนในกลุ่มอาเซียน
วันเวลา : วันจันทร์ที่ 15 – วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2555
ร่วมกับ : ASEAN University Network โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

กิจกรรมทั้งหมดนี้ขอเพียงคุณมีอายุเกิน 15 ปี และเป็นสมาชิกของ TKpark เข้าร่วมได้ฟรี

สอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ (ด่วนเลยครับ รับจำนวนจำกัด)
อุทยานการเรียนรู้ TK park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ชั้น 8 Dazzle Zone โทร. 02 257 4300 www.tkpark.or.th

อุทยานการเรียนรู้ TK park จัดคลาสพิเศษ เรียนลัด ติวเข้มกับ 13 วิชาสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คุณเตรียมพร้อมก้าวสู่ 13 เส้นทาง กับมืออาชีพที่ยกทัพมาถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ความฝัน และจินตนาการ ให้คุณได้รู้ ได้เห็นกันแบบหมดเปลือก ตลอดเดือนกันยายน – ตุลาคม 2555

หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช รับสมัครบรรณารักษ์ 1 อัตรา

(ขออนุญาติคัดลอกข้อความจากคุณ Phimphon Arghan ในเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยครับ)

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ค่ะหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รับสมัครบรรณารักษ์ 1 อัตรา รายละเอียดดังนี้ค่ะ

ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา 1 อัตรา
(ประเภทการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

ลักษณะของตำแหน่งงาน
– ค้นหา เตรียมข้อมูล และบริการข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
– จัดการฐานข้อมูลสื่อสารสนเทศในห้องสมุดพิพิธภัณฑ์
– อนุรักษ์เอกสารหรือหนังสือในห้องสมุดพิพิธภัณฑ์
– จัดทำรายงานและสถิติที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดพิพิธภัณฑ์
– เขียนบทความ ข้อความประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ลงหนังสือ นิตยสาร และสื่อแขนงต่างๆ
– นำชมและบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์

คุณสมบัติสำหรับตำแหน่งที่เปิดรับ
1. ปริญญาตรีด้านบรรณารักษศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์, บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์, สารสนเทศศาสตร์ หรือสารนิเทศศึกษา
2. ไม่จำกัดเพศ
3. สามารถใช้ภาษาอังกฤษทั้งการพูด อ่านและเขียนได้
4. สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานได้เป็นอย่างดี
5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์กระตือรือร้น และรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
6. มีมนุษยสัมพันธ์ดีสุขภาพจิตและกายดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

** หากมีประสบการณ์การทำงานในห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศจะได้รับการได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

สวัสดิการที่จะได้รับ
– เงินเดือนตามวุฒิ
– ประกันสังคม
– ค่ารักษาพยาบาลบุคคลภายในครอบครัว
– ชุดฟอร์มพนักงาน
– สัมมนาประจำปี
– ทุนการศึกษาต่อ
– อบรมเพิ่มทักษะการปฏิบัติงาน
– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หมดเขตรับสมัคร วันที่ 5 กันยายน 2555 นี้เท่านั้น

สนใจร่วมงานกับเราติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับสมัคร, สวัสดิการต่างๆ ที่จะได้รับ
ได้ที่ พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2
เบอร์โทรศัพท์ 02-4196440 http://www.si.mahidol.ac.th/museums/

SE-ED รับสมัครบรรณารักษ์ 2 ตำแหน่งนะครับ

วันนี้มีข่าวฝากมาประชาสัมพันธ์เรื่องรับสมัครบรรณารักษ์อีกแล้ว เจ้าเก่าที่ผมลงให้ประจำเลย อิอิ นั่นคือ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด หรือที่เรารู้จักในนามร้านหนังสือซีเอ็ด นั่นเอง แต่งานที่ลงนี้ไม่ได้ทำที่ร้านหนังสือนะ แต่เป็นที่สาขาใหญ่ต่างหาก

ายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับงานนี้
ชื่อตำแหน่ง : บรรณารักษ์
จำนวน : 2 ตำแหน่ง
เงินเดือน : ตามโครงสร้างบริษัท และประสบการณ์

ตำแหน่งงานที่รับนี้ทำหน้าที่อะไรบ้าง
สร้างฐานข้อมูลสินค้า ดูแลมาตรฐานที่ถูกต้องของข้อมูลสินค้าต่างๆ ที่อยู่ในระบบฐานของมูลของซีเอ็ดทั้งหมด

หากเพื่อนๆ สนใจดูคุณสมบัติกันก่อน

• เพศชายและเพศหญิง
• ปริญญาตรี สาขาบรรณารักษ์ศาสตร์, สารสนเทศศาสตร์, หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
• อายุไม่เกิน 30 ปี
• สามารถใช้โปรแกรม Microsoft Office และ Internet ได้เป็นอย่างดี
• มีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
• ละเอียด รอบคอบ มีไหวพริบในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
• มนุษยสัมพันธ์ดี มีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
• ประสบการณ์ 1 ปี ขึ้นไป

สถานที่ทำงานขอย้ำอีกครั้งว่าที่
บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
อาคาร TCIF (เนชั่นทาวเวอร์ เดิม) ชั้น 23
เลขที่ 1858/87-90 ถ.บางนา-ตราด (กม. 4.5)
บางนา กรุงเทพฯ 10260 เบอร์โทรศัพท์ 0-2739-8000

เพื่อนๆ ที่สนใจก็ง่ายๆ ครับ
ส่งประวัติส่วนตัวได้ที่ Email Piyakorn@SE-ED.Com Tel 02-7398937 / 02-7398602

เอาเป็นว่าขอให้ได้งานตามที่หวังกันนะครับ

นิยามการอ่านแบบสั้นๆ ฉบับคนทำงานห้องสมุดและบรรณารักษ์

เมื่อสองวันก่อนเปิดประเด็นชวนคิดให้ชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้ตอบกัน โดยคำถามมีอยู่ว่า “เพื่อนๆ คิดว่าการอ่านมีประโยชน์อย่างไรบ้าง” (ขอนิยามแบบสั้นๆ นะครับ) ซึ่งเพื่อนๆ ได้ตอบกันมาเยอะพอสมควร ผมจึงขอนำมาลงให้ทุกท่านได้อ่านกัน

ปล. บล็อกเรื่องนี้ถือว่าเพื่อนๆ ทุกคนช่วยกันเขียนนะครับ ขอบคุณเพื่อนๆ ที่มีส่วนร่วม

“เพื่อนๆ คิดว่าการอ่านมีประโยชน์อย่างไรบ้าง” (ขอนิยามแบบสั้นๆ นะครับ)

คำตอบจากกลุ่ม Librarian in Thailand ใน Facebook

1. Improvised Heart – การอ่านมีประโยชน์ ดังนี้ 1. ทำให้เกิดจินตนาการ เพราะการอ่านจะทำให้เราคิดภาพไปด้วย (แต่จินตนาการแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน) และ 2. ทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น (แน่ล่ะ)
2. Cybrarian Cyberworld – Open my life,open my world ,change my life ,change my world & change one’s idea…
3. Aobfie Thiyaphun – อ่านเพื่อ.. ได้รู้ ได้คิด
4. สุดหล่อ ก่ะ เด็กซื่อ – Today a reader, tomorrow a leader
5. Sornor Toom – การอ่านคือ ขุมทรัพย์แห่งปัญญา
6. บรรณารักษ์ เจน – เปิดหูเปิดตา , เกิดปัญญา , มีเรื่องคุย
7. Aobfie Thiyaphun – อ่านเพื่อ…กด Like และ กด แชร์ ^^
8. Jakapon Patpongpun – เรียนรู้เพื่อรับปริญญาชีวิต
9. Aobfie Thiyaphun – อ่านเพื่อ.. เสริมสร้างภูมิปัญญา พัฒนาความคิด เพิ่มคุณภาพชีวิต อุทิศคืนสู่สังคม…
10. Sorravee Tungwongthavornkij – การอ่านคือ การพัฒนาชีวิต
11. Alich Jutarat Chomsuntia – การอ่านเป็นประตูบานแรกที่จะเปิดสู่โลกของการศึกษาค่ะ^^
12. Jung Bi Yoon – การอ่านคือการเรียนรู้แบบ hi speed เพราะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์คนอื่น 😉
13. เสาวณีย์ เจ๊ะหนุ่ม – การอ่านทำให้คุยกับคนในสังคมรู้เรื่อง
14. Aobfie Thiyaphun การอ่าน “เรื่องจริง” ทำให้เข้าใจถูก…การอ่าน “เรื่องเท็จ” ทำให้เข้าใจผิด…การอ่านจึงต้องใช้ “วิจารณญาน” ประกอบด้วย ^^
15. สุนทรี เซี่ยงว่อง – การอ่านทำให้เราฉลาดขึ้น เข้าใจตัวเอง และเข้าใจคนรอบข้าง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
16. Cabinlazz Lizzie – การอ่านคือชีวิต เพราะถ้าไม่ได้อ่านกระทั่งฉลากยา ก็คงกินยาผิดค่ะ
17. ประพาฬรัตน์ เจริญศิริรุ่งเรือง – ‎”การอ่าน” คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิตประจำวัน ค่ะ
18. Kritsana C Thipsy – การอ่านมาจากความความ “อยาก” สิ่งที่ได้คือ ฉันรู้แล้ว
19. Thung Thailife – การอ่านคือ การที่เราทำความเข้าใจกับข่าวสารหรือเรื่องราวที่เราสนใจและนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง สังคม ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
20. Aom Khontharose – ทำให้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของนักเขียน เช่น หนังสือที่ไปเที่ยวแต่ละประเทศก่อนที่จะได้ไปสัมผัสประสบการร์จริง
21. Nantana Krodtem – การอ่านเป็นการออกกำลังสมอง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
22. Marootpong Aimmo – การอ่าน เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิตครับ
23. Chattayathorn Lapath – การอ่าน ทำให้ได้ฝึกคิดจินตนาการ
24. เสือทอม สุดแรงปั่น – การอ่าน คือการแสวงหาความรู้
25. Chatchaya Kuntakate – การอ่าน คือ การเรียนรู้โลกและสังคม

คำตอบจาก Fanpage เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ใน Facebook

1. Nawapat Chanloy – เกิดจินตนาการกว้างไกล…
2. Maykin Likitboonyalit – เหงา เศร้า ซึม หนังสือช่วยแก้ได้นะ #การอ่านช่วยบำบัด
3. Pong Ping – ช่วยเปิดกระโหลก ให้ ความคิดกว้างไกล ไม่เป็นกบในกะลา
4. Somchai Tinyanont – การอ่านคือการพัฒนาตนเองที่ดีที่สุด
5. Nit Kumansit – การอ่าน คือ การรับความรู้ มาสร้างปัญญา เพื่อพัฒนาตน
6. บริการแปลล่ามอังกฤษไทย และเรียนภาษาออนไลน์ – การอ่านเป็นการเปิดประตูรับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง ที่จะนำมาใช้ให้อยู่รอดได้ทุกสถานการณ์
7. Chattayathorn Lapath – การอ่านทำให้เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดเวลาสถานที่^^
8. น้อยใจยา จ๋าจ๊ะ – การอ่านคือการพัฒนาชีวิตทำให้เกิดความคิดที่ก้าวไกล
9. Aom P. Chan – การอ่านทำให้คนเราเกิดการเรียนรู้และฉลาดมากยิ่งขึ้น
10. Porntip Mung – การอ่านเป็นการเปิดความคิด
11. Sophit Sukkanta – การอ่านช่วยให้เรารู้เขารู้เรา
12. Wanpen Srisupa – การอ่านคือบุญกับบาป
13. ขวัญจิตร เดชเดชะสุนันท์ – เปิดหนังสือเปลี่ยนความคิดชีวิตเปลี่ยน

เอาหล่ะครับเป็นยังไงกันบ้าง นี่แหละความมีส่วนร่วมของพี่น้องวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์แหละครับ
ถ้าเพื่อนๆ อ่านแล้วอยากเพิ่มเติมอะไรก็สามารถเข้ามา comment ต่อได้ด้านล่างนี้เลยนะครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณเพื่อนๆ ทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)

วันก่อนมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง “ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK park Yala) เลยอยากเอามาสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่าน

ไปชมสไลด์ที่ใช้บรรยายกันก่อน

[slideshare id=13954579&doc=libraryworkisfunbysocialmedia-120813010522-phpapp01]

เนื้อหาการบรรยายโดยสรุปมีดังนี้

จุดเริ่มต้นของสื่อสังคมออนไลน์และเครือข่ายสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องเว็บ 2.0 ซึ่งความหมายและจุดเด่นของเว็บ 2.0 คือ เป็นยุคใหม่ของการพัฒนาเว็บไซต์ และมีรูปแบบการพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้เว็บ” มากกว่า “ผู้พัฒนา” หรือ “เจ้าของเว็บไซต์” นอกจากนี้ยังเน้นแนวคิดการพัฒนาเว็บที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน การผสานความร่วมมือทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ซอฟต์แวร์ และเนื้อหาเว็บ

จากความหมายและจุดเด่นข้างต้นของ “เว็บ 2.0” จะพบว่า”ผู้ใช้บริการมีความสำคัญอย่างมากต่อเว็บไซต์” และสิ่งที่ตามมา คือ “สังคมแห่งการแบ่งปันข้อมูล” โลกของการแบ่งปัน โลกของเว็บ 2.0 ทำให้เกิดเครื่องมือที่ใช้ในการแบ่งปันมากมาย เช่น

– ใครชอบแชร์เรื่องที่เขียนก็เน้น Blog
– ใครชอบแชร์รูปภาพก็ใช้บริการ Flickr
– ใครชอบแชร์วีดีโอก็ใช้บริการ Youtube
– ใครชอบแชร์เอกสารก็ใช้บริการ Scribd
– ใครชอบแชร์ไฟล์นำเสนอก็ใช้บริการ Slideshare

กรณีศึกษาสื่อสังคมออนไลน์ที่ควรนำมาใช้ : แนะนำวิธีใช้งานและการนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้สำหรับงานห้องสมุด ดังนี้ Blog, Facebook, Pinterest, Social cam และ Twitter ซึ่งเมื่อห้องสมุดหรือบรรณารักษ์นำมาใช้แล้วก็ควรจัดทำแผนและกำหนดทิศทางในการใช้งาน รวมถึงประเมินและวัดผลสัมฤทธิ์ของการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผล เช่น
Facebook Insight
Google Analytic

เอาเป็นว่าเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้เมื่อใช้ให้ถูกจุด มีเป้าหมาย กลยุทย์ และการวัดผลที่ชัดเจน จะทำให้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการใช้งานขึ้นมากกว่าเดิม

นี่ก็เป็นบทสรุปของสไลด์เรื่อง “ทำงานห้องสมุดอย่างสนุก…ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ครับ

ภาพบรรยากาศในช่วงที่บรรยาย

[nggallery id=60]

Libraryhub พาชมห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีอำเภอเมืองยะลา

ช่วงนี้ได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่บ่อยมาก และการลงพื้นที่ของผมก็ยังคงเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุดอยู่ เมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสไปที่จังหวัดยะลา จึงอยากนำเสนอห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา ให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดประชาชนแห่งนี้
ชื่อห้องสมุด : ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลา
ที่อยู่ : สำนักงาน กศฯ. จังหวัดยะลา 1 ถนนอาคารสงเคราะห์ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000
เว็บไซต์ของห้องสมุด : http://yala.nfe.go.th/lbckyala

ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาเพิ่งเปิดให้ใช้บริการเมื่อต้นปี 2555

ลักษณะอาคาร : เป็นอาคารเอกเทศ มี 2 ชั้น
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย
– มุมหนังสือทั่วไป 000-999 , นวนิยาย
– มุมเด็กและครอบครัว
– มุมบริการอินเทอร์เน็ต
– มุมวารสาร / สิ่งพิมพ์
– ห้องนักเขียนเมืองยะลา

ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย
– ห้องใต้ร่มพระบารมี
– ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
– ห้องอาเซียนศึกษา


ห้องสมุดแห่งนี้มีจุดเด่นในหลายเรื่องซึ่งผมจะสรุปให้อ่านดังนี้

1. หน้าจอสืบค้นหนังสือแบบ touch screen
อันนี้ผมชอบเป็นการส่วนตัว โปรแกรมที่ใช้จริงๆ ก็เป็น PLS แต่อุปกรณ์ Hardware ของที่นี่เป็นเครื่องแบบระบบสัมผัสซึ่งใช้ง่ายพอควร

2. ห้องเอกลักษณ์ (ข้อมูลท้องถิ่น)
ข้อมูลละเอียดดีและเป็นข้อมูลที่ใช้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของเมืองยะลาได้ดีทีเดียว

3. ห้องอาเซียนศึกษา
แยกเป็นห้องเอกเทศมีข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนค่อนข้างครบ แถมด้วยการจัดห้องในลักษณะคล้ายๆ โรงภาพยนตร์ ซึ่งห้องนี้ใช้ประยุกต์ในการสอนภาษาได้ด้วย

4. พื้นที่บริเวณรอบนอกอาคาร
เป็นพื้นที่โล่งสามารถจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้

5. นอกรั้วของห้องสมุด มีการจัดกิจกรรม “เรียนรู้ภาษาอาเซียน”
ซึ่งมีการเปลี่ยนทุกสัปดาห์สัปดาห์ละคำ (สัปดาห์ที่ผมได้เป็น “คำขอบคุณ” ของทั้ง 10 ชาติอาเซียน)

เอาเป็นว่าพี่น้องที่อยู่แถวนั้นถ้ามีเวลาผมก็ขอแนะนำว่าเป็นห้องสมุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง
ปล.อื่นๆ ก็คงเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไปผมไม่ขอบรรยายแล้วกัน

ชมภาพบรรยากาศห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอเมืองยะลาทั้งหมด

[nggallery id=59]