1 วัน 1 ภาพ เพื่อสื่อความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย วันนี้ผมขอนำเสนอแนวคิดนึงที่ผมนำมาใช้กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook ได้สักระยะนึงแล้ว นั่นคือ “การจัดทำภาพข้อความเพื่อสื่อถึงความเป็นห้องสมุดและบรรณารักษ์ยุคใหม่” วันนี้ผมขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านสักหน่อย

1 ในความคิดและความตั้งใจของผมในปีนี้ คือ จะต้องโพสภาพข้อความที่เกี่ยวข้องกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ให้ได้วันละ 1 ภาพ

โดยรูปภาพที่ผมนำมาโพสนี้ ผมไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรที่มันซับซ้อนเลย
แถมเป็นโปรแกรมฟรีอีกต่างหาก นั่นคือ โปรแกรม “Line Camera” นั่นเอง
และต้องบอกอีกว่าบางครั้งก็ใช้โปรแกรมง่ายๆ อย่าง Microsoft Powerpoint นั่นเอง

สิ่งที่ผมจะบอก คือ ความง่ายของมัน
โปรแกรมที่ผมพูดถึงข้างต้นมันง่ายมากๆ
แต่เพื่อนๆ หลายคนคิดไม่ถึง

ผมขอยกตัวอย่างภาพที่ผมทำจาก Microsoft Powerpoint ภาพ Infographic หลายๆ ตัวที่ผมเคยโพสไปแล้วในบล็อกนี้

(ลองอ่านเรื่อง Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ หรือ [InfoGraphic] 1 ปี ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีกับข้อมูลที่น่าสนใจ)

เรื่องโปรแกรมบอกตรงๆ ครับมันไม่ยาก แต่เรื่องยาก คือ การนั่งคิดประโยคโดนๆ ที่จะสื่อสารออกมาในแต่ละวัน บางครั้งต้นใช้เวลาคิดเป็นชั่วโมงเลย บางทีก็คิดได้หลายๆ เรื่องพร้อมกัน

เมื่อได้ข้อความแล้วก็นำมาแยกประโยคและค่อยๆ พิมพ์ลงในโปรแกรมและจัดให้มันดูสวยงาม
เพียงแค่นี้ผมก็มีรูปภาพข้อความเก๋ๆ ให้เพื่อนๆ ได้อ่านแล้วครับ

ลองมาดูกันตั้งแต่วันที่ 1 – 6 มกราคม 2556 ผมโพสรูปภาพอะไรไปแล้วบ้าง

วันที่ 1 มกราคม 2556

วันที่ 2 มกราคม 2556

วันที่ 3 มกราคม 2556

วันที่ 4 มกราคม 2556

วันที่ 5 มกราคม 2556

วันที่ 6 มกราคม 2556

เอาเป็นว่าพอจะมองเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยครับ
ไอเดียนี้ทำให้คนเข้ามาที่เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยมากขึ้นเยอะมากๆ เลย
ผมเลยอยากให้เพื่อนๆ ลองทำกันดู อย่าคิดอะไรยากครับ ณ จุดๆ นี้

เมื่อนายห้องสมุดจัดกิจกรรมอ่านข้ามปีให้ชาวบรรณารักษ์

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเห็นเพื่อนๆ ถามถึงกันมากว่าในวันสิ้นปีจะ count down ที่ไหน และจะทำอะไรข้ามปี คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คือ “ไปนับถอยหลังกับเพื่อนๆ” บ้าง “อยู่นับถอยหลังกับครอบครัวที่บ้าน“บ้าง และกิจกรรมอีกกิจกรรมที่คนให้ความสนใจกันเยอะคือ “การสวดมนต์ข้ามปี” ผมจึงจัดทำรูปภาพขึ้นมาสำหรับเพื่อนๆ ชาวเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยว่า

“สำหรับชาวห้องสมุด ใครที่ยังไม่มีโปรแกรมสำหรับวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมขอแนะนำ อ่านหนังสือข้ามปี กระแสใหม่สำหรับหนอนหนังสือ”

ซึ่งหลังจากที่ทำรูปภาพนั้นเสร็จ ผมก็คิดทันทีว่า “ลองจัดกิจกรรมแปลกๆ ดูกันมั้ย”

ผมจึงลงประกาศใต้รูปว่า

“ไม่ต้องทำตามแบบใคร เราก็มีกิจกรรม countdown ได้ตามสไตล์เรา (ห้องสมุดและบรรณารักษ์) นายห้องสมุดขอชวนเพื่อนๆ อ่านหนังสือข้ามปีเพื่อสร้างกระแสการรักการอ่าน ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถ่ายภาพของคุณกับหนังสือที่คุณจะใช้อ่านข้ามปี แล้วโพสมาที่เพจเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย 10 คนแรกที่โพสมาจะได้รับของที่ระลึกเก๋ๆ จากนายห้องสมุดจ้า ปล. ส่งได้หลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นะครับ ประกาศผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 ครับ”

นอกจากนั้นผมยังทำรูปขึ้นมาอีกรูปเพื่อย้ำถึงกิจกรรมนี้

ซึ่งในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ผมก็นั่งลุ้นดูว่าจะมีเพื่อนๆ สนใจกิจกรรมนี้กันหรือไม่ จะมีคนมาร่วมลุ้นรางวัลกับผมหรือเปล่า (ตั้งใจว่าจะแจกของที่ระลึก 10 รางวัลนะ) แต่ผลออกมาว่า

มีผู้ร่วมสนุกกับกิจกรรม “อ่านข้ามปี” กับเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย จำนวน 7 คน

เราไปดูผลงานของทั้ง 7 คนเลยดีกว่าว่า เขาอ่านอะไรกันบ้าง

คนที่ 1 : “Nuan Kesaree”
อ่าน : “เมฆาสัญจร (Cloud Atlas)”

คนที่ 2 : “Siriluk Okaoka”
อ่าน : “หัวใจรักมังกรอหังการ”

คนที่ 3 : “Ilham Seng”
อ่าน : “คู่มือเพิ่มความสุขทุกๆวัน”

คนที่ 4 : “Pretty Lib”
อ่าน : “แฟรี่วอร์ : ดอกไม้แห่งกาลเวลา”

คนที่ 5 : “Chaninthron Uanlam”
อ่าน : “เล่าเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน”

คนที่ 6 : “Piraporn Kiewkhen”
อ่าน : “บทสวดพลจักรรัตนสูตรเพื่อกำจัดภัยพิบัติดั่งสมัยพุทธกาล”

คนที่ 7 : “Natthicha Smile Klongklaew”
อ่าน : “คนตายยาก”

เอาเป็นว่าผมก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนุกกับกิจกรรม “อ่านข้ามปี” ของผมนะครับ
ขอสรุปรายชื่อผู้โชคดีทั้ง 7 คน ดังนี้
1. Nuan Kesaree
2. Siriluk Okaoka
3. Ilham Seng
4. Pretty Lib
5. Chaninthron Uanlam
6. Piraporn Kiewkhen
7. Natthicha Smile Klongklaew

ผู้ที่มีรายชื่อดังกล่าวเดี๋ยวผมจะติดต่อไปหลังไมค์นะครับ
เพื่อขอที่อยู่และจะจัดส่งของที่ระลึกไปให้

เอาเป็นว่าปีหน้าค่อยมาเจอกันใหม่กับการ “อ่านข้ามปี” ของเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยนะครับ หวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่านี้ กติกาจะเป็นยังไงปีหน้าต้องติดตามกัน อิอิ

นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)

เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง

ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้

ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง

ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน

วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย

เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์

พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด

[nggallery id=63]

งานสัมมนามิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด

ปลายเดือนนี้มีงานสัมมนางานหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ นั่นคือ “การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29” นั่นเอง ซึ่งธีมที่จะพูดในปีนี้ คือ เรื่องมิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด มาลองอ่านระอียดของงานนี้กัน

รายละเอียดงานสัมมนาเบื้องต้น
ชื่องาน : การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29
ธีมงาน : มิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารเรียนรวม 5 ชั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วันที่จัด : วันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556
จัดโดย : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นชัดขึ้นมาก (เริ่มเห็นก็ตอนหลังน้ำท่วมใหญ่นี่แหละ) ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมีหลายลักษณะ เช่น ความร่วมมือในการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือในการรวมกลุ่มกันบอกรับฐานข้อมูล ความร่วมมือในการพัฒนาโปรแกรมห้องสมุด หรือแม้แต่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

เอาเป็นว่าหัวข้อนี้ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ควรนำมาพูดกันอย่างจริงจังบ้าง
คนนอกวงการจะได้รู้สักทีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ห้องสมุดรวมกลุ่มกันมันคือเรื่องใหญ่

หัวข้อที่น่าสนใจของงานนี้

– Library Consortium Management
– การพัฒนาคลังสารสนเทศขนาดใหญ่โดยใช้ DSpace รองรับการให้บริการหลากหลาย Platform (Windows, iPad, Android)
– การใช้ระบบสืบค้น Google Search Appliance กับงานห้องสมุด
– การพัฒนาคลังสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมและข้อมูลท้องถิ่นของห้องสมุดและข่ายความร่วมมือเพื่อรองรับประชาคมอาเชียน
– What we learn from EU, their Libraries Cooperation, and Repositories
– Virtual Newspaper in an Educational and Engaging Environment
– Powering Quality Research
– PLoT – Public Library of Thailand ระบบฐานข้อมูล และคลังสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสร้างผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม
– ห้องสมุดในฝัน
– แนวทางความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
– Britannica Online – The Complete Digital Resource
– มิติใหม่ของการบอกรับฐานข้อมูลออนไลน์
– Creating a Different Future for Library Services, World Share Management Services
– The Lines of Crowdsourcing as a Way Forward for Libraries
– ความร่วมมือในการดำเนินงานประกันคุณภาพห้องสมุด
– วิวัฒนาการของสื่อกระดาษสู่ดิจิทัล
– สื่อทรัพยากรสารสนเทศกับระบบ Cloud Computing
– การใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อการสืบค้นข้อมูลสำหรับห้องสมุดอนาคต (EBSCO Discovery Service)
– บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสถานะความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
– Partnership with Taylor & Francis
– แนวโน้มในอนาคตของความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

เห็นหัวข้อแล้วก็ต้องอึ้ง เพราะอัดแน่นด้วยเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น
ที่สำคัญยังมีวิทยากรจากต่างประเทศมาร่วมบรรยายเยอะพอสมควร

การสัมมนาครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงาน 2500 บาทนะครับ
และปิดรับลงทะเบียนออนไลน์ – ชำระเงินค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 8 มกราคม 2556 เท่านั้น

เอาเป็นว่าน่าสนใจขนาดนี้ก็อยากให้เพื่อนๆ มาร่วมงานกันเยอะๆ นะครับ
ส่วนใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็อ่านกันต่อได้ที่
http://coconference.library.tu.ac.th/

รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

มีหน่วยงานหนึ่งต้องการให้ผมไปบรรยาย โดยไม่ได้กำหนดหัวข้อมาให้เลย รู้แค่ว่าต้องการอบรมให้กับผู้ใช้บริการและบรรณารักษ์ในห้องสมุด โดยเน้น “สื่อสังคมออนไลน์ + ประชาคมอาเซียน + ความคิดสร้างสรรค์” เอาหล่ะผมเลยขอร่างคอร์สอบรมแบบสั้นๆ ให้สักเรื่อง ซึ่งผมขอตั้งชื่อว่า “รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ลองมาอ่านกันว่าคอร์สนี้จะสนุกแค่ไหน

ปล. คอร์สที่ผมเขียนในวันนี้วิทยากรท่านอื่นๆ ที่ผ่านมาหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ อนุญาตให้ลอกได้ครับ

ข้อมูลทั่วไปของหลักสูตรนี้
ชื่อหลักสูตร : รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
เวลาในการอบรม : 6 ชั่วโมง
วิทยากร : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์


หัวข้อที่ใช้ในการอบรม

– แนะนำข้อมูลประชาคมอาเซียนเบื้องต้น
– คำสำคัญ (Keyword) ที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
– เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
– ความน่าเชื่อถือของข้อมูล “ประชาคมอาเซียน” ใน วิกิพีเดีย
– “ประชาคมอาเซียน” ในเครือข่ายสังคมออนไลน์
– การใช้ Youtube เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าประชาคมอาเซียน
– ปักหมุด “ASEAN” ใน Pinterest
– การนำเสนอ ข้อมูลที่เกี่ยวกับอาเซียน ใน Slideshare
– พกพาข้อมูล ASEAN ไปไหนมาไหนด้วย APP

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นหัวข้อที่ผมเขียนไว้คร่าวๆ
เอาไว้หลังบรรยายจะเอาสไลด์มาให้ชมนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอเขียนเท่านี้แล้วกัน อิอิ

ส.ค.ส. จากนายห้องสมุดถึงบรรณารักษ์ในวันขึ้นปีใหม่ 2556

เนื่องในวันนี้เป็นวันที่ 1 มกราคม = วันขึ้นปีใหม่ นั่นเอง
ผมในนามของเจ้าของบล็อก libraryhub
และ ผู้ก่อตั้งหน้าเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ใน Facebook
ก็มี ส.ค.ส. มาส่งให้เพื่อนวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ และผู้ที่ติดตามบล็อกของผมทุกท่าน

ส.ค.ส. ของผมมีสองใบ ซึ่งทั้งสองภาพนี้ก็เป็นภาพห้องสมุดที่ผมถ่ายด้วยตัวของผมเองทั้งสองภาพ
หวังว่าเพื่อนๆ คงจะชอบนะครับ ใครที่ชอบใบไหนก็สามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่องได้เลย

ภาพที่ 1 ภาพชั้นหนังสือจากอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร หรือ SK park

ภาพที่ 2 โซนความคิดสร้างสรรค์ (Creative zone) ชั้น 2 อุทยานการเรียนรู้ระยอง หรือ RK park

เอาหล่ะ รับ ส.ค.ส. กันไปแล้ว มารับคำอวยพรจากผมต่อเลยครับ

เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2556 วันเริ่มต้นใหม่ของปี 2556 ผมขออวยพรให้เพื่อนๆ :-
– พบ ความสุขความเจริญ คิดสิ่งใดก็ขอให้ได้ตามที่คิดทุกประการ
– มี สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
– ส่ง กำลังใจในการทำงาน การเรียน ขอให้ประสบความสำเร็จ
– เสริม ความคิด มีแรงคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์นะครับ
ฯลฯ

คำอวยพรทั้งสี่ (พบ – มี – ส่ง – เสริม) ให้เพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านทุกคนครับ

10 เรื่องห้องสมุดและบรรณารักษ์โดนใจในปี 2012

รายงานผลเรื่องฮอตฮิตของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยประจำปี 2012 มาแล้วครับ
วันนี้นายห้องสมุดจะมารายงานให้ทุกท่านทราบโดยทั่วกัน

Libraryhub บล็อกอันดับหนึ่งวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยก็เปิดมาได้ 3 ปีกว่าๆ แล้วนะครับ
เรื่องที่เขียนก็มีประมาณเกือบๆ 700 เรื่อง ซึ่งสำหรับปี 2012 นี้ผมเขียนได้จำนวน 80 เรื่องเอง
(นับว่าเขียนได้น้อยมากๆ)

แต่เอาเป็นว่าเรื่องราวที่เขียน ในปี 2012 นี้ เรื่องไหนจะเป็นเรื่องที่เด่นบ้างโปรดติดตาม

10 เรื่องห้องสมุดและบรรณารักษ์โดนใจในปี 2012 ได้แก่

อันดับที่ 1 งานบรรณารักษ์ หลายที่ หลายตำแหน่ง มาเสิร์ฟแล้ว

อันดับที่ 2 ตัวอย่างกิจกรรมห้องสมุดโรงเรียน : ครูดีเด่นกับการใช้ห้องสมุด

อันดับที่ 3 นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

อันดับที่ 4 ศูนย์สร้างสุข บ้านหลังใหม่ของ สสส. รับบรรณารักษ์ 1 อัตรา

อันดับที่ 5 ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รับสมัครบรรณารักษ์

อันดับที่ 6 ทักษะที่จำเป็นสำหรับบรรณารักษ์ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21

อันดับที่ 7 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (หลักสี่) รับสมัครบรรณารักษ์ด่วนที่สุด

อันดับที่ 8 บรรณารักษ์ต้องไม่พลาดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2555

อันดับที่ 9 SE-ED รับสมัครบรรณารักษ์ 2 ตำแหน่งนะครับ

อันดับที่ 10 บรรณารักษศาสตร์ เท่ากับ สารสนเทศศาสตร์ หรือไม่

เป็นยังไงกันบ้างครับ ตามที่คาดกันเลยหรือปล่าว
สำหรับผมก็ไม่แปลกใจเลยที่เห็นเพราะคิดไว้แล้วว่าที่ 1 คงต้องเกี่ยวกับเรื่อง “หางาน” แน่ๆ
สำหรับวันนี้ก็ขอนำเสนอเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ

ปล. เรื่องในบล็อกของผมทั้งหมดจริงๆ ยังมีอีกมากนะครับ แต่ที่วัดของปีนี้คงจัดลำดับได้เพียงเท่านี้

หมายเหตุ ผลสรุปนี้วัดจากเครื่องมือ google analytics

ข้อมูลจากวันที่ 1 มกราคม – 26 ธันวาคม 2555

ศูนย์สร้างสุข บ้านหลังใหม่ของ สสส. รับบรรณารักษ์ 1 อัตรา

คำค้นแห่งปี 2012 ในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย

ในช่วงก่อนสิ้นแบบนี้ หลายๆ เว็บไซต์ หลายๆ บล็อกก็ทำการสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ซึ่งการสรุปข้อมูลบนเว็บไซต์ก็สามารถสรุปได้หลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “การสรุปผลจากคำสืบค้น(Keyword Search)” นั่นเอง เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Google ก็มีการสรุปคำสืบค้นยอดฮิตแห่งปีอยู่แล้ว หรือที่เราเรียกว่า Google Zeitgeist

บล็อก Libraryhub ของผมเองซึ่งเป็นตัวแทนของบล็อกห้องสมุดและวงการบรรณารักษ์ไทย ก็อยากทราบเช่นกันว่า “คำค้นยอดฮิต (Keyword Search)” ที่ทำให้เพื่อนๆ เข้ามาเจอบล็อกของผมได้มีคำว่าอะไรบ้าง

บล็อกของผมจะประมวล “คำค้นยอดฮิต (Keyword Search)” ได้อย่างไร
คำตอบ คือ ผมใช้ Google Analytics สรุปข้อมูลให้ครับ
เอาหล่ะไปดูกันเลยครับ

20 คำค้นยอดฮิต (Keyword Search) ของวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย มีดังนี้
(ข้อมูลประมวลจากวันที่ 1 มกราคม – 16 ธันวาคม 2555)

1. บรรณารักษ์
2. หอสมุดแห่งชาติ
3. ห้องสมุดมารวย
4. ห้องสมุด 3 ดี
5. งานบรรณารักษ์
6. หอสมุดแห่งชาติ เวลาทําการ
7. สมัครงานบรรณารักษ์
8. libraryhub
9. หางานบรรณารักษ์
10. library hub
11. ห้องสมุด
12. หน้าที่ของบรรณารักษ์
13. ห้องสมุดโรงเรียน
14. หน้าที่บรรณารักษ์
15. รับสมัครบรรณารักษ์
16. ป้ายนิเทศ
17. ห้องสมุด3ดี
18. การจัดป้ายนิเทศ
19. หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
20. กิจกรรมห้องสมุด

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ คำสืบค้นเหล่านี้เองที่ทำให้เพื่อนๆ หลายคนเข้ามาเจอบล็อกของผม

การที่ผมนำคำสืบค้นเหล่านี้มาลงให้เพื่อนๆ ดู มันมีประโยชน์อย่างไร
มันเป็นตัวเลือกหนึ่งในการเลือกเรื่องที่จะเขียนในบล็อกของผมนั่นเอง
ผมก็แค่ดูว่าเพื่อนๆ กำลังค้นหาอะไรเยอะ แล้วก็เขียนเรื่องที่ครอบคลุมกับคำสืบค้นมากๆ
มันก็จะทำให้เพื่อนๆ เจอบล็อกของผมบ่อยๆ และทำให้มีสมาชิกหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เช่นกัน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอสรุป “คำสืบค้นยอดฮิต” ก่อน วันหลังจะนำเสนอข้อมูลสรุปเกี่ยวกับบล็อกห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ที่ชื่อ “Libraryhub” ด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ

นายห้องสมุดพาเที่ยวงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9

สวัสดีครับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยทุกท่าน วันนี้นายห้องสมุดขอพาไปชมงาน “เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9” นะครับ

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงานนี้
ชื่องาน : “เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9”
วันเวลาในการจัดงาน : เริ่มวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม 2555 – 16 กุมภาพันธ์ 2556 (ทุกวันเสาร์) เวลา 16.00-17.30 น.
จัดโดย : มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

งานเทศกาลนิทานในสวนจัดมาแล้วหลายปี กิจกรรมนี้ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องและความน่าสนใจของงานนี้ก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน งานเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่านิทาน รวมถึงการเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 5

สวนสาธารณะที่จัดงานนี้มีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน ดังนี้
1. สวนลุมพินี (วันที่ 8, 15, 22 ธันวาคม 2555 และ 5 มกราคม 2556)
2. สวนรถไฟ (วันที่ 12, 19, 26 มกราคม และ 2 กุมภาพันธ์ 2556)
3. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (วันที่ 9, 16 กุมภาาพันธ์ 2556)

ภายในงานเทศกาลนิทานในสวนมีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
– การแสดง (ละครนิทาน)
– แนะนำประสบการณ์การเล่านิทาน
– ลานเสวนา
– งานประดิษฐ์
– ป้ายนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการเล่านิทาน
– หนังสือนิทานภาพที่น่าสนใจให้เด็กๆ และพ่อแม่หยิบอ่าน


ความประทับใจในงานนี้ของผม คือ
– ได้เห็นพ่อแม่พาเด็กๆ มานั่งฟังนิทานและอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน
– ได้ข้อมูลและข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง
– กิจกรรมครอบครัวที่น่าสนใจ

ชมวีดีโอที่ผมถ่ายมาเป็นตัวอย่างงานได้ที่ http://socialcam.com/v/COBamROb

เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมจะถ่ายภาพกำหนดการของงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9 ให้เพื่อนๆ ได้ดูและถ้าว่างก็ลองมาเข้าร่วมงานดูนะครับ

ในวันที่ผมมานี้ได้มีโอกาสดูละครนิทานเรื่อง “บ้านหลังน้อยยามค่ำคืน” โดยกลุ่มนิทานกระดานหก ได้ฟังประสบการณ์ในการเล่านิทานจาก ผศ. รพินทร คงสมบูรณ์ (อาจารย์ภาคบรรณฯ จาก มศว.) แถมด้วยเสวนา “รักลูกให้ถูกทางอย่างพ่อแม่มืออาชีพ” โดย พญ. ปริชวัน จันทร์ศิริ

เอาเป็นว่ายังมีอีกหลายสัปดาห์ที่จัดนะครับ แนะนำให้มาลองฟังดูแล้วจะรู้ว่าน่าประทับใจจริงๆ

ภาพบรรยากาศในงานเทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 9

[nggallery id=62]

10 อย่างที่นายห้องสมุดต้องทำให้ได้ภายในปี 2556

ไปดูหนังเรื่อง “ยอดมนุษย์เงินเดือน” แล้วเอาข้อคิดจากในหนังมาเล่าให้เพื่อนๆ ชาวห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้อ่านครับ ประเด็นในหนังที่ผมชอบมากตอนหนึ่ง คือ เรื่องการวางแผนในอนาคต เราเคยตั้งความหวังอะไรกันบ้างหรือเปล่า สำหรับผมพอออกจากโรงหนังมาก็เริ่มคิด และเรียบเรียงออกมาสัก 10 ข้อแบบคร่าวๆ เหมือนกัน ลองอ่านกันดูนะ

10 อย่างที่นายห้องสมุดต้องทำให้ได้ภายในปี 2556
1. ต้องลองไปออกค่ายพัฒนาห้องสมุดกับเพื่อนๆ ให้ได้สักครั้งนึง
2. ต้องเขียนรีวิวหนังสือดีๆ ให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 เล่ม
3. ต้องไปเยี่ยมห้องสมุดอื่นๆ ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 แห่ง
4. ต้องปรับปรุงบล็อก libraryhub ใหม่
5. จัดกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ เครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยใน Facebook
6. จัดทำของที่ระลึกสำหรับเพื่อนๆ ที่รักในวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์
7. ต้นแบบอะไรใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย สัก 2-3 ชิ้น
8. เขียนบทความหรือจัดทำหนังสือของตัวเองให้ได้สัก 1 เล่ม
9. บรรยายเกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดให้ได้สัก 10 ครั้ง
10. เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ให้ได้อย่างน้อย 4 เรื่อง

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นเพียงสิ่งที่ผมต้องการจะทำในปี 2556 นะครับ
ไม่รู้ว่าจะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน แต่บันทึกนี้ผมจะจำเอาไว้
และนำมาเล่าให้ฟังในปีหน้าว่าอะไรที่สำเร็จ อะไรที่ไม่สำเร็จ

แต่ถึงที่สุดแล้วก็อยากให้ทำได้สำเร็จทุกอย่างจริงๆ เป็นกำลังใจให้ผมด้วยแล้วกันนะครับ