หนึ่งตำบลหนึ่งห้องสมุด (One Tumbon One Library)

วันนี้ขอเขียนบล็อกแนวแปลกให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันสักหน่อย
ว่าแต่ว่าเพื่อนๆ เคยได้ยินคำนี้มั้ยครับ คำว่า OTOL(One Tumbon One Library)
หรือเรียกแบบง่ายๆ ว่า “หนึ่งตำบลหนึ่งห้องสมุด” นั่นแหละ

library-country

จริงๆ คำนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับ แค่ผมฟังคำว่า OTOP OTOP OTOP บ่อยมากเกินไป
เลยขอแหวกแนวมาเป็น OTOL สำหรับวงการบรรณารักษ์บ้าง

ทำไมต้องมี 1 ตำบล 1 ห้องสมุดหล่ะ
เพื่อนๆ ก็ลองคิดดูว่าถ้ามีช่องทางในการเข้าถึงความรู้ได้มากๆ คนก็จะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายขึ้น

แนวความคิดที่อยากเห็นคนไทยทุกคนเข้าถึงสารสนเทศได้ง่ายขึ้น

?แล้วทำไมต้องเป็นห้องสมุดหล่ะ เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ห้องสมุดคงเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นแล้วก็ได้?

คำพูดนี้ผมอาจจะไม่เถียงเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงสารสนเทศได้เร็วขึ้น
แต่เพื่อนๆ เคยคิดถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศมั้ยครับที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ดังนั้นผมจึงบอกว่าห้องสมุดเป็นสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากกว่า
โดยที่ห้องสมุดในแต่ละชุมชนไม่ต้องใหญ่โตมากหรอกครับ ขอแค่มีหนังสือที่มีประโยชน์ให้อ่านก็ดีพอแล้ว
ผมว่าก็จะช่วยเพื่อนในชนบทของเราได้แล้ว

โครงการห้องสมุดที่ผมเห็นมากมาย เช่น ห้องสมุดเคลื่อนที่, ชมรมอาสาที่ไปสร้างห้องสมุด
สิ่งเหล่านี้ผมอยากให้เมืองไทยมีมากๆ เพราะว่าการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนในชาติเหมือนกัน
ถ้าคนในชาติมีคุณภาพ ประเทศชาติก็จะเจริญตามไปด้วย

อย่าเพิ่งเครียดกันนะครับ
ผมเพียงแค่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุดก็เท่านั้น
ช่วยๆ กันทำให้เกิดขึ้นนะครับ 1 ตำบล 1 ห้องสมุด

ปล. รูปที่ให้ดูเป็นห้องสมุดของวัดแห่งหนึ่งที่ผมกับเพื่อนๆ ไปช่วยจัด หนังสือไม่เยอะแต่คุณค่าทางใจมีค่ามากที่สุด

ถ้าห้องสมุดเป็นเหมือนคลิปวีดีโอนี้ ผมจะเข้าห้องสมุดทุกวัน

แบบว่าวันนี้เพื่อนผมมันส่งคลิปวีดีโอเพลงนี้มาให้ดู แล้วมันก็บอกผมว่า
“ถ้าห้องสมุดมีบรรยากาศเหมือนในคลิปวีดีโอนี้ มันจะยอมเข้าห้องสมุดทุกวัน”

clipvideo

ผมเลยไม่รอช้าเปิดดูคลิปวีดีโอที่ว่า บอกได้คำเดียวเลยว่า อึ้ง ทึ้ง เสียว จริงๆ
คลิปวีดีโอนี้เป็นการนำเพลงของ Christina Aguilera ชื่อเพลงว่า Candyman
มาทำใหม่ในเวอร์ชั่นของบรรณารักษ์ในห้องสมุด (ทำเล่นๆ กันเองนะครับ)

ไปชมคลิปวีดีโอนี้กันเลย

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=V9CKXrhBffA[/youtube]

เอาเป็นว่าคลิปวีดีโอนี้ผมอยากให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน แก้เครียดนะครับ
เพราะถ้าเอาไปใช้กับห้องสมุดจริงๆ ผมเกรงว่าจะไม่เหมาะสมอ่ะครับ

เอาเป็นว่าขอแถมด้วยมิวสิควีดีโอของเพลงนี้จริงๆ เลย ดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=9UMU30wHuTE[/youtube]

ปล.ชื่อที่ปรากฎใน youtube คือ??? Orianthi – According To You
ผมลองเข้าไปดูเพลงนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่นะครับ น่าจะพิมพ์ผิดอ่ะครับ

รวมเอกสารการฝึกอบรมการใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น (ThaiLIS)

วันนี้ผมขอนำเอกสารการฝึกอบรมการใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น โดย คุณจิรวัฒน์ พรหมพร มาแจกนะครับ
ซึ่งฐานข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารด้านล่างนี้ เป็นฐานข้อมูลที่ ThaiLIS บอกรับในปี 2553 นั่นเอง

online-database

เอกสารข้อมูลและวิธีใช้ฐานข้อมูลนี้ ครอบคลุมฐานข้อมูลทั้งหมด 6 ฐาน ดังต่อไปนี้

ฐานข้อมูล ABI / Inform
ฐานข้อมูล ABI / Inform

1. ABI/Inform – ฐานข้อมูลด้านธุรกิจและการบริหารจัดการ
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ACM Digital Library
ACM Digital Library

2. ACM Digital Library – ฐานข้อมูลด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล Dissertation and theses
ฐานข้อมูล Dissertation and theses

3. Dissertation & Theses – ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล H.W. Wilson
ฐานข้อมูล H.W. Wilson

4. H.W. Wilson – ฐานข้อมูลหลากหลายสาขา
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล IEEE และ IET
ฐานข้อมูล IEEE และ IET

5. IEEE / IEL – ฐานข้อมูลหลากหลายสาขา
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ฐานข้อมูล Web of Science
ฐานข้อมูล Web of Science

6. Web of Science – ฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์
(สไลด์วิธีการใช้) (สไลด์ภาพรวมของฐานข้อมูล)

ลองเข้าไปอ่านวิธีใช้งานและข้อมูลภาพรวมดูนะครับ
ผมว่าอย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใจรายละเอียดของเนื้อหาในฐานข้อมูลนั้นๆ ได้ครับ
แถมข้อดีอีกอย่างคือเราก็ไม่ต้องสร้างคู่มือการใช้ฐานข้อมูลให้ผู้ใหญ่ด้วย
เนื่องจากเราสามารถดึงข้อมูลต่างๆ ในนี้ไปจัดทำคู่มือการใช้ฐานข้อมูลประจำห้องสมุดได้ครับ

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอลาไปก่อนนะครับ

ปล. เอกสารต่างๆ ที่นำมาเผยแพร่นี้ ผมได้ขออนุญาต คุณจิรวัฒน์ พรหมพร แล้วนะครับ
ดังนั้นหากห้องสมุดหรือบรรณารักษ์ต้องการนำไปเผยแพร่ต่อขอความกรุณาช่วยแจ้ง คุณจิรวัฒน์ พรหมพร ด้วยนะครับ
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ คุณจิรวัฒน์ พรหมพร ที่ได้จัดทำเอกสารดีๆ ให้เราได้เรียนรู้ฐานข้อมูลต่างๆ ครับ

หนึ่งวันกับงานบรรณารักษ์ด้านไอที

เพื่อนอยากรู้มั้ยว่าบรรณารักษ์ไอทีวันๆ นึงต้องทำงานอะไรบ้าง
วันนี้ผมขอนำ Job Description ของงานในตำแหน่งนี้มาให้เพื่อนๆ ดูครับ

it-librarian

ปล. ที่นำมาให้ดูนี้เป็นงานที่ผมทำสมัยตอนเป็นบรรณารักษ์ไอทีอยู่ที่ห้องสมุดแห่งนึงนะครับ
และงานบรรณารักษ์ไอทีแต่ละห้องสมุดอาจจะมีหน้าที่ๆ แตกต่างกว่านี้ก็ยังมีเช่นกัน
ดังนั้น
กรุณาอย่ายึดติดว่าบรรณารักษ์ไอทีทุกห้องสมุดจะเหมือนกัน

บรรณารักษ์ไอทีมีภาระกิจ ดังนี้

1. ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำหรับโปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

2. จัดทำ Homepage และ Website ห้องสมุดโดยกำหนด Website ต่างๆ ในการให้บริการ

3. ประสานงานการจัดทำ Website กับเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

4. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ห้องสมุดในการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Office / โปรแกรมตกแต่งภาพ / การสแกนภาพและตัวอักษร / การจัดทำ link ข้อมูลในส่วนต่างๆ / โปรแกรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับสำนักหอสมุด

5. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสำนักหอสมุด

6. จัดทำข่าวประชาสัมพันธ์งานบริการห้องสมุดและให้บริการ Internet

7. รับผิดชอบการจัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้บริการผ่านเครือข่าย Internet
7.1 E-book
7.2 E- journal
7.3 E-Document

8. Update ข่าวสารและสารนิเทศใหม่บน Website

9. บริการสืบค้นสารนิเทศผ่านระบบเครือข่าย Internet

10. จัดการแปลงไฟล์ / คัดลอกไฟล์ต่างๆ เพื่อออกให้บริการกับผู้ใช้

11. จัดหารวบรวมสื่อโสตทัศนวัสดุ

12. ดูแลรักษาเครือข่ายระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

13. ดูแลห้องประชุมกลุ่มเมื่อมีการติดต่อของใช้งาน

เป็นยังไงกันบ้างครับ ภาระหน้าที่เยอะเกินไปหรือปล่าว จริงๆ แล้วนอกจากภาระงานด้านบนนี้แล้ว
งานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการ บรรณารักษ์ไอทีก็ต้องทำด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการยืมคืน การตอบคำถาม และอื่นๆ

เอาเป็นว่าใครอยากเป็นบรรณารักษ์ด้านไอทีก็ลองเอามาศึกษา แล้วลองคิดดูดีๆ นะครับ
ว่า “ถ้าเจองานแบบนี้เพื่อนๆ จะยังอยากเป็นบรรณารักษ์ไอที” อยู่หรือปล่าว

ข่าว (ไม่ดี) เรื่องการซื้อหนังสือในโครงการห้องสมุดสามดี

เรื่องดีๆ ในวงการห้องสมุดมีให้อ่านเยอะแล้ว วันนี้ผมขอนำข่าวๆ นึงมาลงให้อ่านนะครับ
ผมเชื่อว่าบรรณารักษ์ในห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่ คงต้องได้ยินข่าวนี้บ้างหล่ะ

old-book-in-library

ขอเกริ่นให้ทราบสักนิดนะครับว่า…
เมื่อเดือนที่แล้วผมก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่นะครับ
เท่าที่รู้ คือ ทาง กศน. ได้งบเพื่อจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดตามนโยบาย “ห้องสมุดสามดี”
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้ข่าวเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นการจัดซื้อหนังสือก้อนใหญ่อีกครั้งนึงของห้องสมุดประชาชน

แต่หลังจากนั้นสองสามสัปดาห์ผมก็ได้ยินข่าวจากบรรณารักษ์หลายๆ คนว่า
การจัดซื้อหนังสือครั้งนี้ มีความแปลกและไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง

เอาเป็นว่าผมคงบอกรายละเอียดแบบลึกๆ ไม่ได้
แต่ก็ได้แค่ให้กำลังใจและปลอบบรรณารักษ์ว่า “อย่าคิดมาก”
ยังไงก็ถือว่าได้หนังสือใหม่เข้าห้องสมุดแล้วกัน

เอางี้ดีกว่าเพื่อนๆ ลองอ่านข่าวด้านล่างนี้ก่อนนะ

หัวข้อข่าว : ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดกศน.ส่งกลิ่น
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 คอลัมน์การศึกษา

URL : http://dailynews.co.th/newstartpage/printmode.cfm?categoryid=42&contentid=49149

เนื้อข่าวมีดังนี้

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย? (สำนักงาน กศน.) กล่าวถึงปัญหาการร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ประชาชนของ กศน. ตามโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ว่า ที่ผ่านมา กศน. ได้รับงบฯซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน แห่งละ 30,000 บาท แต่ปีนี้ได้รับงบฯเอสพี 2 เพื่อจัดซื้อหนังสือแห่งละ 450,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 15% ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนในการจัดซื้อมากขึ้น โดยที่ผ่านมามี กศน.อำเภอหลายแห่งในภาคกลางร้องเรียนว่ารายชื่อหนังสือที่ได้ไม่ตรงกับความ ต้องการ ตนจึงสั่งการให้ ผอ.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ผอ.กศน.) อำเภอไปทบทวนแล้ว

เลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่คาดว่าจะกลายเป็นกลียุคต่อไป คือ เรื่องการส่งหนังสือไม่ครบตามรายการที่ประมูลได้ เพราะมีบางบริษัทจับกลุ่มฮั้วกัน เช่น บางพื้นที่บริษัทประมูลหนังสือ จำนวน 1,200 รายการ ในวงเงิน 450,000 บาท แต่ส่งหนังสือได้เพียง 800 รายการ เพราะที่เหลือบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไม่ยอมขายให้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นสถานศึกษาจะต้องรายงานมาโดยเร็วเพื่อจะได้หา ทางแก้ปัญหาต่อไป แต่หากอำเภอใดรับหนังสือไม่ครบตามสัญญาที่ประมูล แล้วอ้างว่าบริษัทส่งหนังสือไม่ครบ ผอ.กศน.อำเภอ ในฐานะผู้จัดซื้อต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าได้มอบอำนาจให้แล้ว

?ปัญหาเรื่องการจัดซื้อส่วนกลางไม่สามารถควบคุมได้ เพราะได้กระจายอำนาจให้สถานศึกษาไปแล้ว และที่ผ่านมาทราบว่ามีคนไปแอบอ้างว่าเป็นทีมงานของผม ขอให้ดำเนินการจัดซื้อกับบริษัทนั้น บริษัทนี้ ซึ่งมี กศน.อำเภอหลายแห่งโทรศัพท์มาถาม ผมก็ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เคยมีทีมงาน อย่าไปเชื่อและขอให้จัดซื้อตามระเบียบและขั้นตอน? นายอภิชาติกล่าวและว่า ส่วนที่มีการแอบอ้างผู้ใหญ่ในกระทรวงนั้น ยอมรับว่าได้ยินมาเช่นกันว่า ขณะนี้มีการสถาปนาดีลเลอร์เฉพาะกิจขึ้นมาและอ้างว่าเกี่ยวพันกับผู้ใหญ่ใน กระทรวง แต่ก็ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือ ผอ.กศน.อำเภอ ดังนั้นหากสถานศึกษาใดถูกกดดันให้จัดซื้อโดยไม่สมัครใจ ก็ขอให้ร้องมายังส่วนกลางจะได้เร่งแก้ไขให้.

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คิดยังไงกับข่าวแบบนี้ครับ
ลองช่วยกันเสนอความคิดเห็นให้ผมฟังหน่อยว่าเรื่องแบบนี้ เพื่อนๆ คิดยังไง

ปล. หลังจากที่ข่าวนี้ออกมาผมเชื่อว่าห้องสมุดประชาชนหลายที่คงต้องระงับการซื้อหนังสือชั่วคราวทันที
และก็รอให้มีการตรวจสอบผ่านไปก่อนจึงจะดำเนินการจัดซื้อได้เช่นเดิม

เด็กเอกบรรณารักษ์กับการลองขายหนังสือ

วันนี้ผมขอเล่าประสบการณ์สมัยที่ผมยังเรียนปริญญาตรี เอกบรรณฯให้ฟังหน่อยแล้วกัน
เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ครั้งนึงเลยก็ว่าได้ นั่นคือ “การทำธุรกิจขายหนังสือในงาน มอ.วิชาการ”
ซึ่งนอกจากขายหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้ว ยังมีนิทรรศการหนังสือทำมือที่พวกเราได้ร่วมกันทำด้วย

book-business

ในการทำธุรกิจขายหนังสือครั้งนี้ พวกเรามีแรงกระตุ้นคือ เงินและคะแนนเป็นเดิมพัน
เนื่องจากการจัดกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา Publishing business ซึ่งผมเรียนในปี 3 เทอม 1 นั่นเอง

ในการทำธุรกิจขายหนังสือครั้งนี้ พวกเราชาวเอกบรรณารักษ์ได้ฝึกอะไรบ้าง
– การติดต่อ และการเจรจากับสำนักพิมพ์ต่างๆ
– การทำการประชาสัมพันธ์การขายหนังสือของพวกเรา
– การดูแล และจัดการสต็อกหนังสือ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อ
– การกำหนดราคา และการตั้งเป้าหมายของธุรกิจ (กำไรเท่าไหร่ดีนะ)
– การจัดร้าน และแบ่งเวลากันในเอกเพื่อเฝ้าร้านของพวกเรา
– การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น หนังสือหมด หรือ หนังสือหาย ?
– การคัดเลือกหนังสือ และการศึกษากลุ่มผู้ซื้อ
– ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และกำไร ขาดทุน
และอีกหลายๆ อย่างที่ได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์จริงๆ

book-business1

นอกจากส่วนที่เป็นการทำธุรกิจขายหนังสือแล้ว อีกงานหนึ่งที่น่าสนใจในงานนี้คือ
การจัดนิทรรศการหนังสือทำมือ ซึ่งหนังสือทำมือที่แสดงในงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. ทำกันเองในภาควิชาบรรณฯ
2. ติดต่อขอตัวอย่างหนังสือจากสำนักพิมพ์ใต้ดินหลายๆ กลุ่ม
3. ขอรับจากร้านหนังสือใต้ดิน มาเพื่อจำหน่ายด้วย

กิจกรรมในครั้งนี้ ใช้เวลา 5 วัน ซึ่งนับว่าเป็นวันที่เหนื่อยเอาการเลยครับ
แต่สิ่งที่ได้กลับมาช่างคุ้มค่ามากมาย และทำให้พวกเรารู้ว่า

?อย่างน้อยจบบรรณารักษ์ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานที่ห้องสมุดอย่างเดียว?

คลิปวีดีโอ 3D ความหวังห้องสมุดไทย

วันนี้ผมขอนำคลิปวีดีโอบน youtube มาให้เพื่อนๆ ดูสักตอนนึงนะครับ
ซึ่งเนื้อหาในคลิปวีดีโอนี้เกี่ยวกับเรื่องห้องสมุดสามดีซึ่งเป็นความหวังในการพัฒนาห้องสมุดเมืองไทย

3d-library

เราไปดูคลิปกันก่อนดีกว่า

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=ydt4OsdgUok[/youtube]

คลิปนี้จัดทำโดย VOICE News (Voice of the New generation)

เนื้อหาในคลิปวีดีโอได้กล่าวถึง
– ความหมายของห้องสมุดสามดี
– จำนวนห้องสมุดที่มีในประเทศไทย
– จำนวนห้องสมุดที่มีเยอะแต่ไม่ทำให้สถิติการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้น
– คนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออ่านหนังสือน้อยกว่าคนกรุงเทพฯ
– ระบบหนังสือหมุนเวียน
– สถาบันหนังสือแห่งชาติ
– โครงการที่เกี่ยวกับการรักการอ่าน

เอาเป็นว่าเพื่อนๆ ลองจับใจความกันดูนะครับ

ห้องสมุดกับเทศกาลวันวาเลนไทน์

สวัสดีเพื่อนๆ ทุกคนในวันแห่งความรัก (วันวาเลนไทน์) นะครับ
วันนี้ผมมีเรื่องการจัดห้องสมุดให้เข้ากับวันวาเลนไทน์มาให้เพื่อนๆ ดูครับ

valentine-library
ภาพจาก http://www.centralwesterndaily.com.au

หลังจากที่ผมไปสำรวจข้อมูลเรื่องการจัดงานวันวาเลนไทน์ในห้องสมุดต่างๆ จากทั่วโลก
ผมก็พบกับห้องสมุดแห่งหนึ่งที่จัดงานและรูปแบบห้องสมุดได้เข้ากับธีมงานวันวาเลนไทน์มากๆ
ห้องสมุดแห่งนี้ คือ Gloucestershire College Library, New Jersey, USA

ด้วยธีมหลักของงาน คือ การส่งความรักและความหวังดีให้กับผู้ใช้บริการห้องสมุด
การตกแต่งห้องสมุดทำให้ภาพห้องสมุดที่ดูทางการกลายเป็นห้องสมุดสุดโรแมนติก

เราไปดูกันนี้กว่าว่าห้องสมุดแห่งนี้จัดห้องสมุดยังไง

1. แจกของที่ระลึกเป็นรูปหัวใจ

valentine-lib-0

2. ผนังห้องสมุดติดโปสการ์ดรูปหัวใจ และบริเวณห้องโถ่งนำลูกโป่งหัวใจมาวางไว้

valentine-lib-1

3. วางแจกันที่ใส่ดอกกุหลาบไว้ตามโต๊ะอ่านหนังสือ

valentine-lib-2

เอาเป็นว่า นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างไอเดียสวยๆ งามในห้องสมุดนะครับ
ซึ่งไอเดียเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ สามารถจัดเองเล็กๆ ในห้องสมุดได้
ไม่จำเป็นต้องจัดทั้งห้องสมุดนะครับ แค่มุมเล็กๆ สักมุมผมก็ว่าน่านั่งแล้ว

สุดท้ายนี้ก็สุขสันต์วันวาเลนไทน์นะครับ

เรื่องที่ควรและเรื่องที่ไม่ควรพูดกับเจ้านายของคุณ

วันนี้ไปคุยงานกับเพื่อนๆ ในวงการบรรณารักษ์หลายคนมา แต่ละคนก็พูดถึงงานตัวเองมากมาย
และที่สำคัญคือเรื่องของผู้บริหารห้องสมุดหรือเจ้านายของทุกๆ คน ซึ่งทำให้ได้ข้อคิดต่างๆ มากมาย

tell-to-library-boss

ผมเลยขอเอาเรื่องเก่ามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังอีกสักครั้งนะครับ นั่นคือ “เรื่องที่ควรและเรื่องที่ไม่ควรพูดกับเจ้านายของคุณ”
ซึ่งบทความนี้ผมได้แปลมาจากบทความสองเรื่องใน computerworld.com คือ

Five things you should never tell your boss
Five things you should always tell your boss

เนื้อเรื่องในวันนี้เพื่อนๆ อาจจะบอกว่าดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับห้องสมุดหรือบรรณารักษ์เลย
แต่ผมอยากจะบอกว่าเรื่องที่นำมาลงในวันนี้จริงๆ แล้วใช้ได้ทุกอาชีพนั่นแหละครับ
รวมถึงบรรณารักษ์ด้วยนะครับ ทำไมนะหรอ ก็เพราะว่า “บรรณารักษ์ก็สามารถนำไปปฏิบัติต่อผู้บริหารห้องสมุดได้เช่นกัน”

เรื่องแบบไหนที่ไม่ควรพูดกับเจ้านาย Five things you should never tell your boss

1. All about the technology ? and nothing about the business.
เรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจขององค์กร – เรื่องเทคโนโลยีที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน ถ้าเราพูดไปมากๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์เกี่ยวกับการทำงานหรอก เช่น บรรณารักษ์พูดเรื่องเทคโนโลยีทางอวกาศในห้องสมุด

2. There?s only one solution.

มีวิธีแก้ปัญหาเพียงทางเดียว ไม่มีตัวเลือก ? ถ้าเรามีแนวทางการแก้ปัญหาเพียงแค่ข้อเดียว นั่นก็หมายความว่าคุณไม่มีทางเลือกให้เจ้านาย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเรามัดมือชกเจ้านาย

3. Bad opinions about your colleagues
ความคิดเห็นแย่ๆ เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ? ความคิดเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าเราทำงานกับคนอื่นไม่ได้

4. There?s no way
“มันไม่มีทางทำได้หรอก” ? คำตอบแบบนี้ห้ามตอบเด็ดขาดนะครับ เมื่อเจ้านายสั่งงานคุณแล้ว และถามความเห็นว่าควรทำหรือไม่ ห้ามคุณตอบแบบนี้ เพราะว่าคุณเองก็ยังไม่ได้ลองทำมันเลย จะมาตัดสินว่า “มันทำไม่ได้” ไม่ได้นะครับ ทางที่ดีลองก่อนแล้วถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ค่อยบอกครับและหาแนวทางการแก้ปัญหาครับ

5. A surprise
น่าประหลาดใจ ? อันนี้พอๆ กับข้อเมื่อกี้ แต่คำนี้จะแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในตัวเจ้านายของคุณ ดังนั้นประโยคนี้ก็ห้ามเด็ดขาดเช่นกัน

เอาหล่ะครับ 5 ข้อที่ผ่านมาเพื่อนๆ ต้องจำเอาไว้เลยนะครับว่าไม่ควรพูดให้เจ้านายหรือผู้บริหารฟัง

5 ข้อที่ควรพูดกับเจ้านายบ้างว่ามีอะไร Five things you should always tell your boss

1. The real story
พูดเรื่องจริง และเรื่องที่เป็นไปได้ ? เวลาเกิดปัญหาอะไรในการทำงาน เมื่อเจ้านายถามคุณควรจะบอกเรื่องจริง ไม่ใช่คำแก้ตัว หรือคำใส่ร้ายคนอื่น

2. Your ideas
ควรเสนอไอเดียของคุณเพื่อพัฒนาธุรกิจหรือองค์กรของคุณบ้าง

3. What you want
บอกถึงความต้องการของคุณอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในหน้าที่ หรือความต้องการในการวัดผลงานของตัวเอง

4. No.
ไม่ ? คำว่า ?ไม่? คำนี้แตกต่างจากคำว่า ?มันไม่มีทางทำได้หรอก? นะครับ เพราะว่า ?ไม่? คำนี้หมายถึง หากโครงการหรือแผนงานที่หัวหน้าคุณสั่งมาแล้วคุณไม่เข้าใจจริงๆ ให้ถาม ด้วยคำว่า ?ไม่ใช่อย่างนี้หรือครับ? เพื่อให้เจ้านายได้ชี้แจงให้เราเข้าใจในงานยิ่งขึ้น

5. Your successes
ความสำเร็จของคุณ ? วันๆ ผู้บริหารก็ได้รับข่าวสารขององค์กรมามากอยู่แล้ว เพื่อนๆ ลองคิดสิครับว่าทั้งวันมีแต่ข่าวร้าย ข่าวล้มเหลวถ้าผู้บริหารฟังมากๆ จะรู้สึกเช่นไร ถ้าเรามองในทางทที่กลับกันว่า ถ้าทั้งวันมีแต่ข่าวดี ข่าวประสบความสำเร็จผมว่าผู้บริหารคงอยากจะฟังมากกว่านะครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ ผมก็หวังว่าเพื่อนๆ คงจะนำไปใช้ในที่ทำงานของเพื่อนๆ นะครับ

ถ้าไม่มีห้องสมุดแล้ว…

คำถามนี้น่าสนใจมากครับ ถ้าไม่มีห้องสมุดแล้ว…พวกเราจะเป็นยังไง
ผมขอนำภาพๆ นึงมาอธิบายในเรื่องนี้นะครับ ซึ่งภาพๆ นี้เป็นภาพรณรงค์ให้ห้องสมุดยังคงมีต่อไป

ad-no-library

ข้อความในโปสเตอร์แผ่นนี้ คือ

“No libraries, No memory, No history, No future.”

ถ้าไม่มีห้องสมุด ก็จะไม่มีความทรงจำ ไม่มีประวัติศาสตร์ และไม่มีอนาคต

เอาเป็นว่าประโยคนี้ผมเห็นด้วยครับ เพราะว่าห้องสมุดได้จัดเก็บหนังสือมากมาย
ซึ่งรวมไปถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นไว้ด้วย

ส่วนที่บอกว่าไม่มีอนาคต ก็เพราะว่าเราจะไม่มีแหล่งให้ค้นคว้าหาความรู้เลย

ประโยคสุดท้ายก่อนจบเป็นการรณรงค์ให้ช่วยรักษาห้องสมุดต่อไปครับ

ดังนั้นขอให้เพื่อนๆ จงให้ความสำคัญกับ ห้องสมุดในวันนี้นะครับ ก่อนที่จะสายเกินไป

ปล. ภาพๆ นี้เป็นผลงานของ http://www.aaronlouie.com/LibPosters/

askalibrarian askalibrarian3

ลองเข้าไปดูกันนะครับ ในเว็บนี้ยังมีภาพโปสเตอร์ทำนองนี้ให้ดาวน์โหลดอีกเยอะเลย
และทุกภาพติด Creative Commons License. ไว้
ดังนั้นกรุณาทำตามข้อตกลงด้วยนะครับ หากต้องการนำภาพพวกนี้ไปใช้