งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด ณ ธรรมศาสตร์

ไม่ได้อัพเดทกิจกรรมห้องสมุดมานาน วันนี้ขอแนะนำกิจกรรมห้องสมุดที่ผมเข้าร่วมสักหน่อย
กิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่จะถึงนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2555) ชื่อกิจกรรม “งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด

รายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับกิจกรรมนี้
ชื่อกิจกรรม : งานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุด
วันที่จัดงาน : 7 กุมภาพันธ์ 2555
สถานที่จัดงาน : ห้องเรวัต พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชั้นใต้ดิน ๒ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
รับจำนวน 70 คน

กิจกรรมนี้ผมได้รับเชิญเพื่อมาเป็นผู้ดำเนินรายการ (ได้พลิกบทบาทจากวิทยากรเป็นผู้ดำเนินรายการครั้งแรก) ช่วงแรกๆ ก็ลังเลว่าจะตอบรับดีมั้ย
แต่พอได้ยินหัวข้อเท่านั้นแหละ ต้องตอบตกลงทันที เพราะผมเองก็สนใจเรื่องนี้อยู่เช่นกัน “บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 กับห้องสมุด
หลังจากจบการเสวนาครั้งนี้ผมคงได้เขียนเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที

หัวข้อที่เป็น Hilight ของกิจกรรมนี้ คือ
– เล่าสู่กันฟัง: ประสบการณ์ในหน้าที่ Subject Liaison โดย Mr. Larry Ashmun
– บทเรียนจากมหาอุทกภัย 2554 : เรื่องเล่าจากห้องสมุด โดย ผอ.ห้องสมุดจาก ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ รังสิต


ณ วันที่ผมลงข้อมูลในบล็อก ตอนนี้ปิดรับผู้ลงทะเบียนแล้วนะครับ เนื่องจากเต็มแล้ว (70คน)
เอาเป็นว่าผมจะสรุปเรื่องราวในวันนั้นมาลงให้อ่านแล้วกันครับ

รายละเอียดของกิจกรรมครั้งนี้อ่านได้จากเว็บไซต์ http://library.tu.ac.th/announcement/km/ นะครับ

กิจกรรมวันเด็ก ณ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดจังหวัดอุบลราชธานี

วันเสาร์ที่จะถึงนี้เป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม หรือ ที่เราเรียกว่า วันเด็ก นั่นเอง ช่วงนี้ห้องสมุดหลายๆ แห่งคงกำลังเตรียมงานวันเด็กกันอยู่ ผมจึงขอนำรูปแบบงานวันเด็กในห้องสมุดที่เคยจัดมาเล่าให้ฟังก็แล้วกันนะครับ

จริงๆ เรื่องงานวันเด็กของห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีผมเคยเขียนในบล็อกของผมแล้ว
เรื่อง “งานวันเด็ก ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

วันนี้ผมขอเขียนในมิติที่เกี่ยวกับเรื่องของการเตรียมงานแล้วกันครับ

เริ่มตั้งแต่การประชุมกันในทีมเพื่อหากิจกรรมต่างๆ มาลงในงานวันเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วคิดออกมาแล้วมีมากมาย ได้แก่
– การวาดภาพระบายสี
– การเล่านิทาน
– การตอบคำถามเพื่อแจกของรางวัล
– การพับกระดาษโอริงามิ
– การปั้นดินน้ำมัน
– การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์
– การชมภาพยนตร์

ฯลฯ

จริงๆ แล้วคิดไว้เยอะมาก แต่ก็มาแบ่งเป็นประเภทๆ อีกที เช่น กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมเพื่อนักอ่าน กิจกรรมในห้องคอมพิวเตอร์ กิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้ชื่อโซนต่างๆ ดังนี้

1 โซนสร้างพลานามัย
2 โซนรักการอ่าน
3 โซนสร้างจินตนาการ
4 โซนเทคโนโลยี
5 โซนส่งเสริมอาชีพ

เมื่อได้ชื่อกิจกรรมและโซนกิจกรรมแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องคิดคือ “การเขียนโครงการวันเด็ก” ออกมา
ที่ต้องรีบเขียนออกมาเพื่อที่เราจะนำโครงการนี้ไปขอรับอภินันทนาการของรางวัล ของแจก และเงินทุนจากผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สำหรับจัดงานต่อไป

เมื่อได้ของรางวัล ของแจก และของสนับสนุนต่างๆ แล้วก็เริ่มดำเนินการวางแผนงานต่อ คือ จัดสรรของรางวัลเพื่อลงไปในกิจกรรมต่างๆ

จากนั้นก็เริ่มวางผู้ที่เป็นหลักในกิจกรรมต่างๆ และแบ่งหน้าที่กันทำ
ห้องสมุดประชาชนไม่ต้องกลัวว่าคนจะน้อย กศน สามารถมอบหมายครู กศน มาช่วยห้องสมุดจัดงานได้ด้วย

สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างจุดเด่นให้กับห้องสมุด
ลองคิดดูนะครับ วันเด็ก หน่วยงานต่างๆ ก็จัดงานกันมากมาย
ถ้าห้องสมุดไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เด็กๆ ก็อาจจะหายไปอยู่ที่งานวันเด็กที่หน่วยงานอื่นๆ จัดก็ได้

สุดท้ายก็ประชุมกันอีกสักนิดก่อนจัดงานสองวันเพื่อตรวจสอบว่า ยังขาดเหลืออะไรอีกหรือไม่

นี่แหละครับ กว่าจะเป็นงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

ชมภาพกิจกรรมในงานวันเด็กของ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีได้ทั้งหมด

[nggallery id=35]

12 หัวข้อการศึกษา (ด้านเทคโนโลยี) ที่น่าจับตามองในปี 2012

วันนี้ในขณะที่กำลังอ่านเรื่องแนวโน้มของการศึกษาในอนาคตอยู่ก็พบหัวข้อนึงที่น่าอ่านมากๆ ซึ่งเป็นเรื่อง “12 หัวข้อการศึกษา (ด้านเทคโนโลยี) ที่น่าจับตามองในปี 2012” จึงอยากนำมาให้เพื่อนๆ อ่าน (เพื่อนๆ ในวงการบรรณารักษ์และห้องสมุดก็ลองอ่านได้นะ เผื่อเอามาประยุกต์กับวงการห้องสมุดของเราบ้าง)

ต้นฉบับของเรื่องนี้จริงๆ ชื่อว่า “12 Education Tech Trends to Watch in 2012” จากเว็บไซต์ http://mindshift.kqed.org

เรามาดู 12 หัวข้อการศึกษาที่น่าจับตามองในปี 2012 กันก่อนนะครับ
1. MOBILE PHONES – โทรศัพท์มือถือ
2. BYOD (BRING YOUR OWN DEVICE) – อุปกรณ์ที่พกพาไปไหนมาไหนได้ เช่น notebook, netbook, ipod, tablet
3. BANDWIDTH ISSUES – การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
4. NATURAL USER INTERFACES – การตอบสนองกับผู้ใช้แบบธรรมชาติ เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง
5. WEB APPS – การใช้โปรแกรมต่างๆ ผ่านเว็บไซต์
6. DATA – ข้อมูล
7. ADAPTIVE LEARNING – การเรียนการสอนที่เน้นการประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
8. PRIVACY/SECURITY – ความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัย
9. OPEN LICENSING – สัญญาการอนุญาตแบบเปิด
10. PEER TO PEER – การเชื่อมต่อแบบ peer to peer
11. THE MAKER MOVEMENT – การเคลื่อนไหว
12. GAMING – เกมส์

รายละเอียดของแต่ละหัวข้อ ถ้าเพื่อนๆ สนใจก็เข้าไปอ่านเรื่องแบบเต็มๆ ต่อได้ที่ http://mindshift.kqed.org/2012/01/12-education-tech-trends-to-watch-in-2012/

เหตุผลที่ผมแนะนำเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ คือ อยากให้เพื่อนๆ ได้เห็นแนวโน้มของวงการศึกษา (ห้องสมุดและบรรณารักษ์เราก็อยู่ในวงการศึกษาเช่นกัน) เมื่อวงการศึกษาให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อนๆ บรรณารักษ์ก็ควรให้ความสนใจบ้าง บางประเด็นมันเริ่มเข้ามาเกี่ยวกับชีวิตของเรามากขึ้น ทั้งเกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการอย่างเรา ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วก็จะได้เตรียมตัวและพยายามทำความเข้าใจมันได้

เอาเป็นว่าวันหยุดแบบนี้เอาเรื่องวิชาการมาอ่านบ้างนะครับ อิอิ

12 Education Tech Trends to Watch in 2012

กรณีศึกษา : การพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีน

จากวันก่อนที่ผมพูดถึงหนังสือเรื่อง “Digital Library Futures” ผมรู้สึกสนใจเกี่ยวกับบทความที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มากมาย วันนี้ผมขอยกตัวอย่างมาสักบทหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องกรณีศึกษาความสำเร็จของการดำเนินการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลของประเทศจีน

ชื่อบทความต้นฉบับ : To make a better digital library – some collaborative efforts in China
แปลเป็นภาษาไทย : การทำให้ห้องสมุดดิจิทัลดีขึ้น : ความพยายามในการสร้างความร่วมมือในประเทศจีน

ผมขอเก็บประเด็นต่างๆ จากบทความนี้มาเล่าให้ฟังนิดหน่อยแล้วกันครับ

เริ่มจากเรื่องของการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลระดับประเทศของจีน ซึ่งจริงๆ แล้วหน่วยงานระดับสูงของจีนก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญมานานพอสมควรแล้วโดยจัดตั้งหน่วยงานต้นแบบและพัฒนามาจนถึงห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีนเลยทีเดียว

ประวัติความเป็นมาแบบย่อๆ มีดังนี้
– 1997 เริ่มจัดตั้งโครงการห้องสมุดดิจิทัลจีนต้นแบบขึ้น
– 1998 มีการจัดตั้ง CALIS (China Academic Library & Information System)
– 1999 มีการจัดตั้ง NSDL (National Science Digital Library)
– 2000 มีการจัดตั้ง NSTL (National Science and Technology Library)
– 2001 มีการจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีน (National Digital Library of China)

หลังจากที่มีการจัดตั้งห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติจีนขึ้นมาแล้ว ทางการจีนก็ได้ทำความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริการในการจัดทำโครงการห้องสมุดดิจิทัลร่วมกันด้วย หรือที่เรียกว่า โครงการ CADAL (China-US Million Book Digital Library project)

ในช่วงเริ่มต้นของโครงการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล ก็ย่อมมีอุปสรรคและปัญหาเช่นกัน โดยหลักๆ แล้ว จะเป็นเรื่องของการทำ Digitisation ซึ่งข้อมูลบางอย่างมีความซ้ำซ้อนกันจนทำให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีเรื่องของลิขสิทธิ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก

สิ่งที่ต้องคิดเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลในคลังข้อมูลของห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติ นั่นคือ “มาตรฐานข้อมูล” ทางการจีนจึงได้รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างข้อมูลและชุดข้อมูลกลางขึ้น แล้วจัดตั้งเป็นคณะกรรมการกลางซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานดังนี้
– NLC (National Library of China)
– NCIRSP (National Cutural Information Resources Sharing Project)
– CALIS (China Academic Library & Information System)
– Shanghai Library
– NSL (National Science Library)
– Library of Party School of the Central Committee of C.P.C
– Library of National Defense University
– Zhejiang University Library

การประชุมเพื่อการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลและการให้บริการในจีน ดำเนินการมาแล้ว 7 ครั้ง

บทสรุปของการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีน
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนควรมีการกำกับจากหน่วยงานระดับสูงในจีน
– โครงการห้องสมุดดิจิทัลเน้นการแบ่งปันความรู้และความร่วมมือกันสร้างความรู้
– โครงการห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติควรเปิดกว้าง (ไม่ใช่แค่สร้างโปรแกรม แต่ต้องพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ ให้รองรับด้วย)
– ห้องสมุดดิจิทัลแห่งชาติในจีนเน้นการสร้างชุมชนและความร่วมมือ

เอาเป็นว่าบทความนี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกันครับ
บทความอื่นๆ จะเป็นอย่างไรไว้ผมจะสรุปมาให้อ่านอีกนะครับ

นายห้องสมุดพาชมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี

นายห้องสมุดไม่ได้พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวห้องสมุดซะนานเลยนะครับ วันนี้ผมจึงขอนำเสนอห้องสมุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้ผมก็ไปค่อนข้างบ่อยเช่นกัน นั่นคือ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” นั่นเอง เอาเป็นว่าในห้องสมุดแห่งนี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้างไปอ่านกันดู

ข้อมูลทั่วไปของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (สังกัด กทม นะครับ) (ข้อมูลจากห้องสมุดประชาชนกรุงเทพฯ)

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ด้านหลังพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 และเปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดโดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 198 ตารางเมตร

การให้บริการภายในของห้องสมุดก็จะคล้ายๆ กับห้องสมุดประชาชนที่อื่นๆ นั่นแหละครับ เช่น

หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา

– บริการที่นั่งอ่านหนังสือ
– บริการยืมคืน
– บริการสื่อมัลติมีเดีย
– บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
– บริการหนังสืออ้างอิง
– บริการหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตา (อันนี้เยี่ยมมากๆ)
– บริการมุมเด็ก
– บริการสอนใช้คอมพิวเตอร์
– บริการกาแฟ-เครื่องดื่ม
ฯลฯ อีกมากมาย ต้องลองไปใช้กันดูนะครับ

การสมัครสมาชิกเพียงแค่เพื่อนๆ นำบัตรประชาชนมา และเสียค่าสมาชิกเพียง 50 บาทต่อปี ก็จะได้รับบัตรสมาชิกอันแสนสวย
สมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการยืมหนังสือ 1 สัปดาห์ 4 เล่ม ครับ ถ้ายืมเกินก็เสียค่าปรับวันละ 1 บาทต่อ 1 เล่มครับ

เอาหล่ะครับ Hilight จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้
คือ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชน กับ บริษัท Microsoft นั่นเอง
แล้ว Microsoft มาช่วยอะไรห้องสมุดแห่งนี้บ้างหล่ะ …
– คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในมุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และห้องคอมพิวเตอร์
– CAI และสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta เพื่อการเรียนรู้มากมาย
– WIFI hotspot เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
– จัดบุคลากรมาสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ

มาที่นี่แล้วทำให้ผมรู้สึกว่า “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” ของกรุงเทพฯ มันช่างเป็นสถานที่ๆ เหมาะแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจริงๆ
เอาเป็นว่าถ้าเพื่อนๆ ว่าง แล้วไม่รู้จะทำอะไรก็มาลองใช้ห้องสมุดแห่งนี้ได้นะครับ

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี เปิดให้บริการ วันอังคาร – เสาร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 20.00 น. วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ปิดบริการในวันจันทร์ ติดต่อสอบถาม โทร. 02-252-8030

ชมภาพห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินีทั้งหมดได้เลยครับ

[nggallery id=52]

อ่านอะไรดี : “Digital Library Futures” อนาคตห้องสมุดดิจิทัล

สวัสดีเรื่องแรกของบล็อก Libraryhub ปี 2555 ก่อนอื่นคงต้องสวัสดีปีใหม่เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์สักหน่อย และขออวยพรให้ทุกๆ ท่านพบแต่ความสุขและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกคน

เอาหล่ะมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า วันนี้ผมจะมาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกว่าได้สาระค่อนข้างดีเล่มหนึ่ง เป็เรื่องที่เกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล หรือทิศทางของห้องสมุดในยุคไซเบอร์เลยก็ว่าได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยเกี่ยวกับ “อนาคตของห้องสมุดดิจิทัล” ซึ่งเน้นในเรื่องของสิ่งที่ผู้ใช้คาดหวังและการปรับกลยุทธ์ของห้องสมุดดิจิทัล

ปล. หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่มนะครับ

ข้อมูลทั่วไปของหนังสือเล่มนี้
ชื่อเรื่อง : Digital Library Futures : User perspectives and Institutional strategies
บรรณาธิการโดย : Ingeborg Verheul, Anna Maria Tammaro and Steve Witt
สำนักพิมพ์ : IFLA Publication
ISBN : 9783110232189
จำนวนหน้า : 150 หน้า


ข้อมูลทั่วไปจากเว็บไซต์ของ IFLA

http://www.ifla.org/publications/ifla-publications-series-146

เอาหล่ะครับ อย่างที่เกริ่นไว้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมงานวิจัยและงานวิชาการที่น่าสนใจเกี่ยวกับห้องสมุดดิจิทัล
ดังนั้นเนื้อหาที่อยู่ในแต่ละเรื่องของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เนื้อหาที่เรียงร้อยกัน (เลือกอ่านแต่เรื่องที่สนใจได้ ไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม)

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)
3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)

ในแต่ละส่วนก็จะประกอบไปด้วยบทความต่างๆ ดังนี้
1. ส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (User Experience)
– The Virtual Scholar : the Hard and Evidential Truth
– Who are the Users of Digital Libraries, What do they Expect and want?
– A Content Analysis on the Use of Methods in Online User Research


2. ส่วนที่เกี่ยวกับตัวเนื้อหาที่อยู่ในห้องสมุดดิจิทัล (Content)

– A Pianist’s Use of the Digitised Version of the Edvard Grieg Collection
– When is a Library NOT a Library?

3. ส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรและกลยุทธ์ (Strategies for Institutions)
– To Make a Better Digital Library – Some Collaborative Efforts in China
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge
– Strategies for Institutions : Responding to the Digital Challenge : the World Digital Library Perspective
– Digital Library Futures : Pressures on the Publisher-Librarian Relation in the Era of Digital Change

นอกจากส่วนเนื้อหาแล้วยังมีส่วนที่สรุปข้อมูลทั้งหมดและประวัติของผู้เขียน (วิทยากร) ด้วย
ซึ่งทำให้เราได้เห็น background ของผู้เขียน (วิทยากร) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการห้องสมุดดิจิทัลมาก่อน

เอาเป็นว่าผมเองก็อ่านไปได้บางส่วน (คงไม่ได้อ่านทั้งเล่มแหละ) แต่เลือกเรื่องที่อยากจะอ่านไว้แล้ว
ไว้ถ้ามีเวลาว่างจะเอาบางเรื่องมาเขียนเป็นบล็อกเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านอีกทีแล้วกันครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน เดี๋ยวจะเอาหนังสือในกลุ่ม “ห้องสมุดดิจิทัล” ที่ผมอ่านมาแนะนำอีก ไว้เจอกันคราวหน้าครับ…

ปล. หนังสือเล่มนี้ผมไม่ได้ซื้อมานะครับ แต่ยืมมาจาก TKpark ใครสนใจก็ลองมาหยิบยืมจากที่นี่แล้วกัน

Wedding Presentation ของคู่รักห้องสมุด

ผ่านงานแต่งงานของผมกับจูนมา 1 อาทิตย์พอดี วันนี้เลยขอนำวีดีโอ presentation ที่เปิดในงานแต่งงานมาให้เพื่อนๆ ในวงการบรรณารักษ์และห้องสมุดได้ชมกัน แต่ก่อนที่จะชมวีดีโอ presentation กันผมขอนำภาพถ่ายตอนช่วง prewedding และภาพถ่ายในงานแต่งงานบางภาพมาลงให้ดู

ผมขอเริ่มจากรูปที่ตอนไปถ่าย prewedding ก่อนนะครับ (นี่แค่ตัวอย่างบางส่วน ถ่ายจริงเยอะกว่านี้ไว้ลงให้ดูเต็มๆ วันหลัง)


ตอนด้วยรูปในวันแต่งงานบางส่วนแล้วกัน (ภาพจากตากล้องในงานของผมเองยังไม่ได้นะครับ)

ปล.ขอบคุณเพื่อนๆ ที่ถ่ายภาพของผมและเจ้าของภาพด้านบนด้วยครับทั้งพี่โฉวและเบญจ

เอาหล่ะครับทีนี้ก็ชมวีดีโอ presentation ในงานแต่งงานของนายห้องสมุดได้แล้วครับ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Z4QGAsU5d1M[/youtube]

เอาเป็นว่าถ้ารูปภาพมาเยอะกว่านี้จะนำมาลงให้ชมแบบเต็มๆ เลย งานนี้ก็มีบรรณารักษ์บางส่วนมาเช่นกัน เดี๋ยวจะเอามาให้ชมน้า รอนิดนึง

Infographic สมาชิกบล็อกห้องสมุดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือ

เพื่อนๆ จำกันได้หรือปล่าว ว่าเมื่อเดือนที่แล้วผมทำแบบสำรวจเรื่องพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเพื่อนๆ (ลองอ่านดูย้อนหลังได้ที่ Libraryhub ขอสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของท่าน) ในบทความนั้นผมสัญญาไว้ว่าจะนำผลการสำรวจมาทำเป็น Infographic ให้ชม ไปดูกันเลยครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ ผมขอสรุปจากแบบสำรวจเรื่องพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเพื่อนๆ อีกครั้งแล้วกัน ซึ่งมีข้อมูลดังนี้

– ผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 125 คน ซึ่งแบ่งเป็นเพศหญิง 96 คนและเพศชาย 29 คน

– หนังสือในกลุ่มบันเทิงคดี เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น การ์ตูน ได้รับความนิยมในการอ่านมากที่สุด รองลงมาเป็นหนังสืออื่นๆ ทั่วไป และนิตยสาร ส่วนหนังสือในกลุ่มหนังสือพิมพ์และตำราเรียนได้รับความนิยมในการอ่านน้อย (สาเหตุอาจจะมาจากการติดตามข่าวสารผ่านเว็บไซต์รวดเร็วกว่าการติดตามผ่านสื่อสิ่งพิมพ์)

– ช่วงเวลาที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุด คือ ช่วงเวลากลางคืน (ไม่ได้หมายความว่าอ่านหลังเที่ยงคืนนะครับ แต่เป็นการอ่านหลังจากการทำงานหรือเรียนแล้วกลับมาถึงบ้านตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไป)

– นักอ่านก็ยังคงชอบการอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่

เอาเป็นว่าผมก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ตอบแบบสำรวจในครั้งนี้นะครับ
ไว้วันหลังจะหาข้อมูลอะไรดีๆ แบบดีมาทำเป็น Infographic ให้ดูเล่นกันอีก

ปล. ภาพขยายได้นะครับถ้าคลิ๊กที่รูป นำภาพไปแล้วก็เครดิตให้ด้วยนะครับ

ข้อมูลตั้งต้นสามารถดูได้ที่ http://www.libraryhub.in.th/2011/11/14/poll-libraryhub-reading-for-make-infographic/

หนังสือ ต้นคริสต์มาส กับเทศกาลส่งความสุข

ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของทุกปี บล็อกของผมก็มักจะนำเสนอรูปแบบการตกแต่งห้องสมุดด้วยหนังสือ (นำหนังสือมาทำเป็นต้นคริสต์มาส) ปีนี้ก็เช่นกันจะขอนำเสนออีกครั้ง

บล็อกของผมในปีก่อนๆ
ปี 2010 ไอเดียการจัดต้นคริสต์มาสในห้องสมุดทั่วโลก
http://www.libraryhub.in.th/2010/12/28/christmas-tree-in-top-world-library/

ปี 2009 เทศกาลคริสต์มาสกับชาวห้องสมุด
http://www.libraryhub.in.th/2009/12/01/christmas-in-library-begin/

และในปีนี้ห้องสมุดในเมืองไทยเราก็เริ่มทำต้นคริสต์มาสจากหนังสือแล้วเช่นกัน
ลองชมตัวอย่างดูได้ตามด้านล่างนี้เลยครับ (สำนักวิทยบริการฯ มรภ.เชียงใหม่)


ปล. ภาพนี้นำมาจากในกลุ่ม Librarian in Thailand นะครับ

เพื่อเป็นไอเดียสำหรับเพื่อนๆ วงการห้องสมุดคนอื่นๆ ปีนี้ผมก็ขอนำเสนอรูปภาพต้นคริสต์มาสที่มาจากการเรียงหนังสืออีกเช่นเดิม แต่คราวนี้ขอมาเป็นแบบ slideshow นะครับ ดูไปเรื่อยๆ ก็เพลินดีเหมือนกัน

Credit : http://www.flickr.com/photos/67718410@N04/

สุดท้ายนี้ต้องขออวยพรให้เพื่อนๆ ทุกท่านพบแต่ความสุขความเจริญถ้วนหน้าครับ
Merry Christmas and Happy New Year 2012

แนวคิดการออกแบบห้องสมุด – 10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด

วันนี้ขอนำบทความเก่าจากบล็อกเดิม projectlib มาเล่าใหม่สักนิดนะครับ
เนื่องจากเห็นว่าช่วงนี้มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้บริการห้องสมุดเยอะมาก

เรื่องๆ นี้ต้นฉบับมาจากเรื่อง “10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด (แนวความคิดในการออกแบบห้องสมุด)
ซึ่งผมแปลมาจากบทความ “Ten Things About What People Want

ซึ่งบทความเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อปี 2008 นะครับ โดย PLA (สมาคมห้องสมุดประชาชน) ซึ่งอยู่ภายใต้ ALA

ดังนั้นแน่นอนครับว่าเป็นบทความที่เหมาะกับห้องสมุดประชาชนมากๆ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดประชาชนเป็นหลัก
โดยดึงรายละเอียดมาจากความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุดประชาชน
บทความนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดแล้ว ผมขอแนะนำให้นักออกแบบอาคารได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้ด้วย

10 สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากห้องสมุด มีดังนี้

1. Comfortable places (soft furniture, fireplaces, lights)
สถานที่ต้องสะดวกสบาย เช่น มีการจัดเฟอร์นิเจอร์สวยงาม มีแสงไฟสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก

2. Meeting rooms and study rooms
มีห้องประชุมกลุ่ม และห้องที่สามารถใช้ศึกษาร่วมกันได้

3. Supported services (self-check out, drive-up windows, outside pick-up lockers)
มีการสนับสนุนในงานบริการต่างๆ เพื่อความสะดวกของตัวผู้ใช้ เช่น บริการยืมคืนด้วยตัวเอง, ที่ฝากของหรือตู้ล็อกเกอร์เก็บของ

4. Food service (Vending is more practical than coffee shops)
มีบริการในส่วนอาหาร โดยอาจจะแยกมุมให้บริการต่างหาก

5. Multi-functional children’s areas (with special sized doors, murals)
มีมุมเพื่อกาศึกษาสำหรับเด็ก เช่น หนังสือเด็ก ของเล่นเด็ก

6. Teen friendly areas
มุมสำหรับวัยรุ่น (ไม่ต้องคิดลึกนะครับ มุมนี้เป็นมุมสำหรับทำกิจกรรมในช่วงสุดสัปดาห์ร่วมกัน เช่น มีการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น ฉายหนังในวันหยุดสุกสัปดาห์)

7. Retail-oriented merchandising (bookstore-like open face shelving)
นอกจากยืมคืนหนังสือ หรือบริการอ่านแล้ว ห้องสมุดควรมีส่วนที่เป็นการค้าด้วย เช่น ขายหนังสือที่น่าสนใจ หรืออุปกรณ์อื่นๆ

8. Technology (unobtrusive stations, wireless patios, RFD checkout)
เทคโนโลยีในห้องสมุดก็ต้องมีความทันสมัยตามยุค หรือตามสังคมให้ทัน เช่นมีบริการ wifi, ใช้ชิป rfid

9. Good way finding (more than just good signs – good paths)
มีวิธีเพื่อช่วยให้ผู้ใช้หาหนังสือได้เร็วขึ้น เช่น ทำป้ายบอกหมวดหมู่ติดตามชั้นหนังสือให้ชัดเจน บอกรายละเอียดครบถ้วน

10. Sustainable environment (energy efficiency, green materials, pollution free)
ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น มุมไหนที่มีผู้ใช้น้อยก็อาจจะเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง บางที่ผมเคยเห็นว่าเครื่องใช้บางอย่างใช้แผงโซล่าห์เซลล์ด้วย

เป็นยังไงกันบ้างครับ ห้องสมุดที่เพื่อนๆ ทำงานอยู่มีลักษณะตามนี้หรือปล่าว
ถ้ามีนั่นก็หมายความว่า ท่านมีสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าไม่มีก็ลองดูสิครับว่าจะทำอะไรได้บ้าง (10 สิ่งนี้ห้องสมุดอาจจะไม่ต้องมีทั้งหมดก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรเป็นหลักครับ)

ที่มา http://plablog.org