นายห้องสมุดพาเที่ยวอุทยานการเรียนรู้ระยอง (RK park)

เพิ่งจะเปิดปีใหม่มาได้ไม่ถึงอาทิตย์ วันนี้นายห้องสมุดเลยขออวดห้องสมุดใหม่ให้เพื่อนๆ วงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้รับรู้กันสักหน่อย ที่แห่งนั่นคือ “อุทยานการเรียนรู้ระยอง” หรือ “Rayong Knowledge Park” หรือ “RK park” นั่นเอง

ปล. ที่ต้องอวดเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ผมได้ร่วมทำงานด้วย (งานจาก TK park)

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้

ชื่อห้องสมุดภาษาไทย : อุทยานการเรียนรู้ระยอง
ชื่อห้องสมุดภาษาอังกฤษ : Rayong Knowledge Park
ที่อยู่ : โรงเรียนมัธยมตากสินระยอง เลขที่ 222 หมู่ 2 ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง

ห้องสมุดหรือแหล่งเรียนรู้แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
– องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง
– บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
– สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park)

อุทยานการเรียนรู้เพิ่งจะเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งในช่วงทดลองการใช้งานนี้ เพื่อนยังไม่สามารถยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้นะครับ ให้บริการอ่านภายในห้องสมุดก่อน

วันและเวลาเปิดทำการในช่วงทดลองการใช้งานนี้ คือ
วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.30 น.
และวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 15.00 น.
ปิดให้บริการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

การจัดหนังสือภายในห้องสมุดแห่งนี้ใช้การจัดหมวดหมู่แบบดิวอี้ครับ
ป้ายติดสันหนังสือจะมีแถบสีเพื่อแยกประเภทของหนังสือและสื่อด้วย

เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ การนำ RFID มาใช้ในห้องสมุด ซึ่งได้แก่
– การใช้เข้าออกห้องสมุด
– การยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง
– การใช้เล่นอินเทอร์เน็ต เกมส์ และสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์

พื้นที่ของอุทยานการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ของห้องสมุดเด็ก (Kid’s Room)
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต นิทรรศการน้ำ มุมให้บริการอินเทอร์เน็ต มุมสร้างสรรค์ทางดนตรี ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเงียบ ห้องประชุมกลุ่มย่อย มุมความรู้อาเซียน

เอาเป็นว่าวันนี้ผมขอพาชมเท่านี้ก่อน ไว้วันหลังถ้าห้องสมุดแห่งนี้มีกิจกรรม ผมจะนำมารายงานให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกที สำหรับวันนี้ขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองก็แล้วกันครับ

ภาพบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้ระยองทั้งหมด

[nggallery id=63]

งานสัมมนามิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด

ปลายเดือนนี้มีงานสัมมนางานหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ นั่นคือ “การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29” นั่นเอง ซึ่งธีมที่จะพูดในปีนี้ คือ เรื่องมิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด มาลองอ่านระอียดของงานนี้กัน

รายละเอียดงานสัมมนาเบื้องต้น
ชื่องาน : การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 29
ธีมงาน : มิติใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
สถานที่จัดงาน : ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารเรียนรวม 5 ชั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วันที่จัด : วันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2556
จัดโดย : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นชัดขึ้นมาก (เริ่มเห็นก็ตอนหลังน้ำท่วมใหญ่นี่แหละ) ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมีหลายลักษณะ เช่น ความร่วมมือในการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือในการรวมกลุ่มกันบอกรับฐานข้อมูล ความร่วมมือในการพัฒนาโปรแกรมห้องสมุด หรือแม้แต่ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน

เอาเป็นว่าหัวข้อนี้ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ควรนำมาพูดกันอย่างจริงจังบ้าง
คนนอกวงการจะได้รู้สักทีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ห้องสมุดรวมกลุ่มกันมันคือเรื่องใหญ่

หัวข้อที่น่าสนใจของงานนี้

– Library Consortium Management
– การพัฒนาคลังสารสนเทศขนาดใหญ่โดยใช้ DSpace รองรับการให้บริการหลากหลาย Platform (Windows, iPad, Android)
– การใช้ระบบสืบค้น Google Search Appliance กับงานห้องสมุด
– การพัฒนาคลังสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมและข้อมูลท้องถิ่นของห้องสมุดและข่ายความร่วมมือเพื่อรองรับประชาคมอาเชียน
– What we learn from EU, their Libraries Cooperation, and Repositories
– Virtual Newspaper in an Educational and Engaging Environment
– Powering Quality Research
– PLoT – Public Library of Thailand ระบบฐานข้อมูล และคลังสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการสร้างผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม
– ห้องสมุดในฝัน
– แนวทางความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
– Britannica Online – The Complete Digital Resource
– มิติใหม่ของการบอกรับฐานข้อมูลออนไลน์
– Creating a Different Future for Library Services, World Share Management Services
– The Lines of Crowdsourcing as a Way Forward for Libraries
– ความร่วมมือในการดำเนินงานประกันคุณภาพห้องสมุด
– วิวัฒนาการของสื่อกระดาษสู่ดิจิทัล
– สื่อทรัพยากรสารสนเทศกับระบบ Cloud Computing
– การใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อการสืบค้นข้อมูลสำหรับห้องสมุดอนาคต (EBSCO Discovery Service)
– บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสถานะความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย
– Partnership with Taylor & Francis
– แนวโน้มในอนาคตของความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

เห็นหัวข้อแล้วก็ต้องอึ้ง เพราะอัดแน่นด้วยเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น
ที่สำคัญยังมีวิทยากรจากต่างประเทศมาร่วมบรรยายเยอะพอสมควร

การสัมมนาครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงาน 2500 บาทนะครับ
และปิดรับลงทะเบียนออนไลน์ – ชำระเงินค่าลงทะเบียนภายในวันที่ 8 มกราคม 2556 เท่านั้น

เอาเป็นว่าน่าสนใจขนาดนี้ก็อยากให้เพื่อนๆ มาร่วมงานกันเยอะๆ นะครับ
ส่วนใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็อ่านกันต่อได้ที่
http://coconference.library.tu.ac.th/

รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

มีหน่วยงานหนึ่งต้องการให้ผมไปบรรยาย โดยไม่ได้กำหนดหัวข้อมาให้เลย รู้แค่ว่าต้องการอบรมให้กับผู้ใช้บริการและบรรณารักษ์ในห้องสมุด โดยเน้น “สื่อสังคมออนไลน์ + ประชาคมอาเซียน + ความคิดสร้างสรรค์” เอาหล่ะผมเลยขอร่างคอร์สอบรมแบบสั้นๆ ให้สักเรื่อง ซึ่งผมขอตั้งชื่อว่า “รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ลองมาอ่านกันว่าคอร์สนี้จะสนุกแค่ไหน

ปล. คอร์สที่ผมเขียนในวันนี้วิทยากรท่านอื่นๆ ที่ผ่านมาหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ อนุญาตให้ลอกได้ครับ

ข้อมูลทั่วไปของหลักสูตรนี้
ชื่อหลักสูตร : รู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
เวลาในการอบรม : 6 ชั่วโมง
วิทยากร : นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์


หัวข้อที่ใช้ในการอบรม

– แนะนำข้อมูลประชาคมอาเซียนเบื้องต้น
– คำสำคัญ (Keyword) ที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
– เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
– ความน่าเชื่อถือของข้อมูล “ประชาคมอาเซียน” ใน วิกิพีเดีย
– “ประชาคมอาเซียน” ในเครือข่ายสังคมออนไลน์
– การใช้ Youtube เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าประชาคมอาเซียน
– ปักหมุด “ASEAN” ใน Pinterest
– การนำเสนอ ข้อมูลที่เกี่ยวกับอาเซียน ใน Slideshare
– พกพาข้อมูล ASEAN ไปไหนมาไหนด้วย APP

เอาเป็นว่านี่ก็เป็นหัวข้อที่ผมเขียนไว้คร่าวๆ
เอาไว้หลังบรรยายจะเอาสไลด์มาให้ชมนะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอเขียนเท่านี้แล้วกัน อิอิ

ส.ค.ส. จากนายห้องสมุดถึงบรรณารักษ์ในวันขึ้นปีใหม่ 2556

เนื่องในวันนี้เป็นวันที่ 1 มกราคม = วันขึ้นปีใหม่ นั่นเอง
ผมในนามของเจ้าของบล็อก libraryhub
และ ผู้ก่อตั้งหน้าเครือข่ายห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทย ใน Facebook
ก็มี ส.ค.ส. มาส่งให้เพื่อนวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์ และผู้ที่ติดตามบล็อกของผมทุกท่าน

ส.ค.ส. ของผมมีสองใบ ซึ่งทั้งสองภาพนี้ก็เป็นภาพห้องสมุดที่ผมถ่ายด้วยตัวของผมเองทั้งสองภาพ
หวังว่าเพื่อนๆ คงจะชอบนะครับ ใครที่ชอบใบไหนก็สามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่องได้เลย

ภาพที่ 1 ภาพชั้นหนังสือจากอุทยานการเรียนรู้สมุทรสาคร หรือ SK park

ภาพที่ 2 โซนความคิดสร้างสรรค์ (Creative zone) ชั้น 2 อุทยานการเรียนรู้ระยอง หรือ RK park

เอาหล่ะ รับ ส.ค.ส. กันไปแล้ว มารับคำอวยพรจากผมต่อเลยครับ

เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2556 วันเริ่มต้นใหม่ของปี 2556 ผมขออวยพรให้เพื่อนๆ :-
– พบ ความสุขความเจริญ คิดสิ่งใดก็ขอให้ได้ตามที่คิดทุกประการ
– มี สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
– ส่ง กำลังใจในการทำงาน การเรียน ขอให้ประสบความสำเร็จ
– เสริม ความคิด มีแรงคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อวงการห้องสมุดและบรรณารักษ์นะครับ
ฯลฯ

คำอวยพรทั้งสี่ (พบ – มี – ส่ง – เสริม) ให้เพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านทุกคนครับ