เรื่องของเรื่อง “บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ”

หลังจากที่อ่านบทความ “บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ” แล้ว
ผมรู้สึกว่า ผมมีความเห็นที่แย้งกับบทความนี้ และยังมองต่างมุมกับบทความนี้อยู่
เลยจำเป็นต้องเขียนถึงเรื่องนี้หน่อยนึง

?

บทความเรื่องนี้ เขียนโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ชื่อเรื่อง “บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ”
ลงในคอลัมน์สยามประเทศ ของหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2552

ข้อมูลจาก http://www.sujitwongthes.com/2009/06/siam160609/
เนื่องจากผู้เขียนบอกว่าไม่สงวนลิขสิทธิ์ ดังนั้นผมจึงขอนำมาลงให้เพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้อ่านได้ลองอ่านดู

เนื้อความเรื่อง “บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ”

?หากไม่ออกเป็นกฎหมายให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ การผลักดันให้เด็กรักการอ่านก็ค่อนข้างริบหรี่เต็มที?

?หากรัฐจัดการเรื่องนี้อย่างสะเปะสะปะ ไร้แผนการ ไร้โครงสร้างชัดเจน ต่อให้ใช้เวลานับล้านปี ก็สร้างอุปนิสัยให้คนไทยรักการอ่านไม่ได้?

ข้อความสองย่อหน้าข้างบนนี้ ผมเลือกยกมาจากบทสัมภาษณ์ ?มกุฏ อรฤดี? ในโพสต์ ทูเดย์ สุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2552 หน้า 7

หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เด็กมัธยมหรือประถมเข้าห้องสมุดมากขึ้น คุณมกุฏแนะนำว่า ก็ต้องคิดถึงครูบรรณารักษ์ซึ่งยังขาดแคลน

?ในอนาคตต้องมีบรรณารักษ์แนวใหม่ ที่ไม่ใช่คนนั่งเฝ้าหนังสือ หรือคอยขู่คนที่จะยืมหนังสือว่าอย่าคุยเสียงดัง อย่าทำหนังสือยับ

เราต้องมีบรรณารักษ์ที่เก่งเรื่องการระบายหนังสือไปสู่คนทั่วไป? จัดรายการลด แลก แจก แถม ให้คนเข้ามายืมหนังสือเยอะๆ

ต้องส่งเสริมการอ่าน เป็นที่พึ่งของคนที่คิดอะไรไม่ออก อยากเข้ามาหาความรู้ในห้องสมุด?

?บรรณารักษ์แนวใหม่?ที่คุณมกุฏแนะนำไว้ มีสปีชีส์หรือชาติพันธุ์เดียวกับ?ภัณฑารักษ์? ไม่น่าจะมีได้ในชั่วอายุคนที่ดำรงอยู่ขณะนี้ แม้ในชั่วอายุคนรุ่นข้างหน้าก็ไม่น่าจะมีได้ เพราะสังคมไทยมีลักษณะอย่างที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกไว้ว่า ดูทันสมัย แต่อนุรักษนิยมสูงมาก แล้วมีผู้เทียบเป็นคำคล้องจองว่า?ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา? และ?ทันสมัย แต่ไร้สมอง?

สรุปว่าบรรณารักษ์, ภัณฑารักษ์ เป็นชาติพันธุ์เดียวกับอนุรักษ์ทั้งหลาย คงต้องรอไดโนเสาร์เกิดใหม่แล้วตายลงอีกครั้งถึงจะพอมีทางได้?บรรณารักษ์แนวใหม่?อย่างคุณมกุฏบอก

มีกรณีตัวอย่างที่?บรรณารักษ์แนวใหม่?ไม่มีวันถือ กำเนิดได้ เพราะการเรียนการสอนวิชาบรรณารักษ์ก๊อบปี้จากตะวันตกทั้งดุ้น โดยไม่คำนึงถึงสภาพความจริงของสังคมยาจก ยากจน ไม่อ่านหนังสืออย่างสังคมไทย แล้วใส่วัฒนธรรมล้าหลังทั้งแท่ง เช่น สมาคมห้องสมุดฯ เป็นสมบัติผลัดกันชมเป็นส่วนตัวของคนบางชาติพันธุ์เท่านั้น

กระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เกี่ยวข้องโดยตรงกับห้องสมุดประชาชน?เฉลิมราชกุมารี?ที่ต้องผลักดันให้คนอ่านหนังสือมากๆ

แต่การโยกย้ายระดับผู้อำนวยการ กศน. จังหวัด? ยังเลื่อนคนโกงค่าซื้อหนังสือ แต่ไม่อานหนังสือ ให้ได้ดีมีตำแหน่งใหญ่โตในจังหวัด อย่างนี้แล้วจะได้?บรรณารักษ์แนวใหม่?จากไหน?

ฉะนั้นขอให้ประธานชมรมผู้บริหารสถานศึกษา กศน. โปรดรู้ไว้ด้วย ว่ากระทรวงนี้ต้องการคนแบบไหนบริหาร กศน. จังหวัด, อำเภอ (มติชน ฉบับวันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2552 หน้า 22)

ผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการ ยังคดโกงมะโรงมะเส็งเคร็งอย่างนี้ ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องตกใจตามข่าวในมติชน (ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2552 หน้า 15) รายงานว่า เมื่อปาฐกถาระหว่างการสัมมนาเชิงวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกฯบอกว่า

?ที่น่าตกใจคือ คนรุ่นใหม่ยอมรับการทุจริตเป็นสิ่งไม่ผิด ทั้งการขโมยติดสินบน เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการงาน หรือทำให้ตัวเองร่ำรวย?

ล่าสุด สถาบัน Post Modern องค์การมหาชนย่านตลิ่งชัน ยังโกงค่าซื้อหนังสือเก่าเข้าห้องสมุด ช่างโกงสมกับเป็นสถาบันวิชาการเสียจริงๆ

โกงแล้วได้ดี มีคนยกย่องนับถือ มีให้เห็นทุกวันทั่วประเทศ แม้ในกระทรวงศึกษาธิการ, ในสถาบันชนชั้นสูง, ในแวดวง Post Modern ที่ยกตัวเองว่าฉลาดกว่าคนอื่นในประเทศ แล้วจะให้คนรุ่นใหม่ซื่อสัตย์ไปหาพระแสงด้ามยาวอะไร

เอาเป็นว่าหลังจากที่ได้อ่านแล้ว เพื่อนๆ รู้สึกอย่างไร

————————————————————

ผมขอสรุปประเด็นที่ได้จากการอ่านอีกรอบนะครับ
– ?บรรณารักษ์แนวใหม่? คือ บรรณารักษ์ที่สามารถดึงคนเข้าห้องสมุดได้เยอะๆ และเป็นที่พึ่งพาในการหาความรู้ให้กับผู้ใช้บริการได้
– ?บรรณารักษ์แนวใหม่? กับ ?ภัณฑารักษ์? ไม่น่าจะมีในปัจจุบัน
– สังคมไทยมีลักษณะที่ว่า “ดูทันสมัย แต่อนุรักษนิยมสูงมาก”
– ?บรรณารักษ์แนวใหม่?ไม่มีวันถือกำเนิดได้ เพราะการเรียนการสอนวิชาบรรณารักษ์ก๊อบปี้จากตะวันตกทั้งดุ้น
– การเลื่อนตำแหน่งให้คนโกง แล้วทำให้ไม่เกิด ?บรรณารักษ์แนวใหม่?
– การโกงค่าซื้อหนังสือ หรือการคดโกงในกระทรวงฯ

————————————————————

ผมจะขอวิจารณ์เรียงข้อเลยนะครับ

ประเด็น : ?บรรณารักษ์แนวใหม่? คือ บรรณารักษ์ที่สามารถดึงคนเข้าห้องสมุดได้เยอะๆ และเป็นที่พึ่งพาในการหาความรู้ให้กับผู้ใช้บริการได้
วิจารณ์ :
เห็นด้วยครับ บรรณารักษ์แนวใหม่ จะเป็นบรรณารักษ์ที่ให้บริการแบบเชิงรุกครับ กล่าวคือ บรรณารักษ์จะไม่นั่งรอผู้ใช้บริการเฉยๆ นะครับ แต่บรรณารักษ์จะนำบริการต่างๆ ไปนำเสนอให้ผู้ใช้บริการเอง เช่น ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็จะมีการนำหนังสือจัดเป็นชุดๆ แล้วนำมาให้อาจารย์ยืมถึงภาควิชา หรือไม่ก็จัดบูธหนังสือเคลื่อนที่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้หยิบยืมหนังสือแทนที่จะต้องรอนักศึกษาหรืออาจารย์ในห้องสมุด

ประเด็น : ?บรรณารักษ์แนวใหม่? กับ ?ภัณฑารักษ์? ไม่น่าจะมีในปัจจุบัน
วิจารณ์ : ประโยคนี้ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากห้องสมุดหลายๆ แห่งในประเทศก็มีบรรณารักษ์แนวใหม่ปรากฎให้เห็นอยู่มากมาย เช่นที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้น ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียนบางแห่ง ห้องสมุดเฉพาะบางที่ เช่น TK park, ห้องสมุดมารวย รวมไปถึงห้องสมุดประชาชนหลายๆ ที่ ส่วนคำว่า ?ภัณฑารักษ์? จริงๆ แล้วในหน่วยงานบางแห่งก็มีให้เห็นแล้วเช่นกัน เช่น Siam Musuem, TCDC เพียงเท่านี้ก็ทำให้รู้ว่า ?บรรณารักษ์แนวใหม่? กับ ?ภัณฑารักษ์? จริงๆ แล้วมีในสังคมไทย เพียงแต่อาจจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งประเทศ แต่นี่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะครับ

ประเด็น : สังคมไทยมีลักษณะที่ว่า “ดูทันสมัย แต่อนุรักษนิยมสูงมาก”
วิจารณ์ : หากพูดถึงในแง่ของบรรณารักษ์ในลักษณะที่เน้นเรื่องการทำงาน บางทีผมก็ยอมรับนะครับว่าเทคโนโลยีของเราเองก็ทันสมัย แต่วิธีการปฏิบัติงานบางครั้งยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น แต่เราก็ยังคงเก็บข้อมูลหรือยึดถือข้อมูลในกระดาษมากกว่า หรือในเรื่องของเทคโนโลยีเว็บไซต์ แต่ก็ขาดการดูแล (เว็บไซต์ห้องสมุดบางที่อัพเดทปีละครั้ง / อัพเดทตามคำสั่งของผู้บริหาร) ดังนั้นประเด็นนี้ผมก็เห็นด้วยในบางส่วนครับ แต่ในเรื่องของการเปรียบเทียบคำ ที่บอกว่า ?ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา? และ?ทันสมัย แต่ไร้สมอง? ผมว่ามันค่อนข้างแรงเกินไป และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ประเด็น : ?บรรณารักษ์แนวใหม่?ไม่มีวันถือกำเนิดได้ เพราะการเรียนการสอนวิชาบรรณารักษ์ก๊อบปี้จากตะวันตกทั้งดุ้น
วิจารณ์ :
เรื่องที่บอกว่าบรรณารักษ์แนวใหม่ไม่มีวันเกิดได้ เพราะหลักสูตรการเรียนการสอน ผมยิ่งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เนื่องจากบรรณารักษ์แนวใหม่ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการนำวิชาที่เรียนหรือเรื่องราวต่างๆ ตอนที่เรียนมาประยุกต์ใช้ จึงทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการผสมผสานความรู้แล้วเกิดแนวทางในการปฏิบัติแบบใหม่ๆ บางทีผมว่าถ้าไปโทษเรื่องหลักสูตรอาจจะไม่เหมาะสม เช่น ถึงแม้ว่าหลักสูตรจะไม่ก๊อบปี้ บรรณารักษ์เรียนตามตำรา(เอาตำราที่คุณคิดว่ามันเหมาะสมกับสังคมที่สุด) ผมขอถามหน่อยว่า คุณแน่ใจแล้วหรอว่าจะทำให้เกิด ?บรรณารักษ์แนวใหม่? ผมว่าถึงตอนนั้นคงต้องเรียกว่า “บรรณารักษ์แนวตำรา” หรือไม่ก็ “บรรณารักษ์ตามหลักสูตร” อีกหล่ะมั้ง

ประเด็น : ประเด็นเรื่องการเลื่อนตำแหน่งให้คนโกง แล้วทำให้ไม่เกิด ?บรรณารักษ์แนวใหม่?
วิจารณ์ : ประเด็นนี้ผมคงไม่ต้องวิจารณ์อะไรมากมายมั้งครับ เพราะว่าสำหรับผมดูแล้วประเด็นนี้มีข้อความที่ไม่เกี่ยวกันสักเท่าไหร่ ผู้บริหารโกงเลื่อนตำแหน่งคนโกง แล้ว “บรรณารักษ์แนวใหม่” จะไม่เกิด ปกติในการทำงานของทุกหน่วยงานผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานจะมีแนวทางการทำงานที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อย่างกรณีบรรณารักษ์บนพื้นฐานความจริงคือ เราทำงานเพื่อให้ผู้ใช้บริการพอใจนะครับ ไม่ใช่ทำงานเพราะว่าผู้บริหารห้องสมุดสักหน่อย ผู้บริหารให้นโยบาย แล้วบรรณารักษ์ก็นำนโยบายมาแปลงเป็นแนวทางในการทำงานต่างหาก

ประเด็น : การโกงค่าซื้อหนังสือ หรือการคดโกงในกระทรวงฯ
วิจารณ์ : ตกลงเนื้อเรื่องในบทความจะกล่าวเรื่องการคดโกง หรือ จะกล่าวเรื่อง “บรรณารักษ์แนวใหม่” เอาเป็นว่าท้ายๆ บทความผมไม่พบคำว่า “บรรณารักษ์แนวใหม่แล้ว” เลยงงว่าการตั้งชื่อเรื่องบทความ เพื่อ????????

————————————————————

เป็นไงกันบ้างครับกับเนื้อหา และบทวิจารณ์ของผม
ยอมรับนะครับว่าพออ่านชื่อเรื่องแล้วทำให้ผมอารมณ์เสียได้เลย

ผมพูดกับตัวเองไว้ว่า “ถ้ามีคนจะต้องมาว่าผม มาด่าผม มาติผม ผมจะไม่คิดมากเท่ากับการที่มีคนมาว่าวิชาชีพที่ผมรัก”

เอาเป็นว่าผมคงวิจารณ์และฝากประเด็นไว้ให้เพื่อนๆ ได้อ่านเท่านี้นะครับ
บทความนี้เป็นแง่มุมที่ผมขอแสดงความคิดเห็นเท่านั้นนะครับ

บล็อกของบรรณารักษ์ที่เขียนถึงเรื่องนี้
– บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ?!!? โดย nongkoro
http://nongkoro.spaces.live.com/blog/cns!49D3C03202F8ED79!6898.entry

– บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ชาติ? โดยคุณ สิริพร ทิวะสิงห์ tuk-a-toon
http://gotoknow.org/blog/library-librarian/269080

ปล. เพื่อนๆ สามารถแสดงความคิดเห็นไว้ด้านล่างนี้เลยนะครับ
ส่วนใครที่เขียนบล็อกเรื่องนี้ กรุณามาโพสบอกผมด้วยจะได้ทำจุดเชื่อมโยงให้ครับ

About libraryhub 883 Articles
นายเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (วาย) ผู้เขียนบล็อกที่เกี่ยวกับห้องสมุดและบรรณารักษ์เป็นงานอดิเรก ปัจจุบันเขียนบล็อกเกี่ยวกับห้องสมุดมาแล้ว 700 กว่าเรื่อง และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานต่างๆ ในห้องสมุด สิ่งที่อยากบอกหลายๆ คน คือ "ผมไม่ใช่ผู้เชียวชาญด้านห้องสมุด แต่ผมก็เป็นคนธรรมดาคนนึงที่เขียนบล็อกห้องสมุดก็เท่านั้นเอง"

20 Comments

  1. เห็นด้วยกับข้อวิจารย์ของพี่วาย คนที่ไม่ได้จบบรรณารักษ์จริงๆไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร

  2. คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าครับ สงสัยคุณคงวิจารณ์ในยุคใดโนเสาร์ของคุณ ปัจจุบันบรรณารักษ์ได้ปรับบทบาทตัวเองจากแต่ก่อนให้บริการเข้าทรัพยากรที่อยู่ในห้องสมุดอย่างเดียว แต่ปัจจุบันบรรณารักษ์ฐานะนักจัดการความรู้ ได้เป็นตัวกลางส่งผ่าน แนะนำแหล่งสารสนเทศ รวมทั้งการจัดระเบียนสารสนเทศ เช่นรวมรวบสารสนเทศ จัดหมวดหมู่ รูปแบบการสืบค้น เพื่อง่ายในการสืบค้น ผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถสืบค้นได้ทุกที่ ทุกเวลา อธิบายคร่าวๆๆๆก็แล้วกัน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศอย่าเหมารวมว่าบรรณารักษ์อย่างนี้นะครับ อย่าเข้าความคิดเห็นส่วนตัวมาเขียน ขอให้ทำความรู้ใจบรรณารักษ์สมัยนี้ให้มากหน่อยครับว่าบรรณารักษ์ยุคนี้ได้เปลี่ยนตัวเองไปมาก ทั้งนี้ก็เพื่อการให้บริการผู้ใช้ได้รับสารสนเทศที่รวดเร็ว และตรงกัับความต้องการมากที่สุด ซึ่งบรรณารักษ์เป็นจุดเริ่มต้นทีี่่ทำให้คนในชาติเป็นคนที่เก่งมีความสามารถซึ่งเป็นส่วนในการพัฒนาประเทศพัฒนาต่อไป ไม่ใช่คุณจะวิจารณ์ไปเรื่อยเปื่อย เป็นนักวิจารณ์น่าจะคิดให้รอบคอบนะครับ

  3. บรรณารักษ์สมัยนี้มีบทบาทหน้าที่แตกต่างจากสมัยก่อนประการหนึ่งมีสาเหตุมาจากระบบการควบคุมคุณภาพของหน่วยงาน ซึ่งทุกวงการจะมีระบบ QA และมันจะส่งผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับลักษณะงาน ซึ่งสมัยนี้ถ้ามีดัชนีชี้วัดคุณภาพของการบริการห้องสมุดจะต้องอาศัยปัจจัยหลายๆๆอย่างมารวมกัน ประการหนึ่งที่สำคัญคือ จำนวนผู้ใช้บริการ เข้ามากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน ถ้าไม่มีคนเข้าหรือเข้าน้อยต้องมาประเมินและหาสาเหตุเพื่อการปรับปรุง อันนำมาซึ่งการบริการเชิงรุก หรือการกระตุ้นการส่งเสริมการอ่านทุกรูปแบบ เพื่อให้ผ่านประเมินคุณภาพของสมศ.ดังนั้นจึงขอสรุปว่าบรรณารักษ์แนวใหม่เกิดขึ้นแล้วในวงการการศึกษา หากมีระบบการควบคุมคุณภาพทางการศึกษาที่กระทำอย่างต่อเนื่อง

  4. เห็นด้วยตรงที่ว่าบทความนี้น่าจะเปลี่ยนชื่อบทความไปเป็นชื่ออื่น หรือถ้าอยากใช้ชื่อนี้ก็น่าจะเขียนในแนวที่สื่อและเกี่ยวข้องกับชื่อที่ตั้งให้มากกว่านี้ เพราะเท่าที่อ่านมาจนจบ มีเขียนเรื่องบรรณารัักษ์จริงๆ แค่ประมาณครึ่งเรื่องเท่านั้นเอง

    เรื่องแรกที่อยากจะพูดถึง คือ การผลักดันให้เด็กรักการอ่าน ตามความรู้สึกแล้ว การที่จะผลักดันให้เด็กรักการอ่านได้ ต้องเริ่มต้นมาตั้งแต่ภายในครอบครัวซึ่งรวมถึงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก เพราะกว่าเด็กจะโตจนเข้าชั้นประถมและมาเจอบรรณารักษ์ได้ ก็ควรจะได้ซึมซับนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ จดจำและสังเกตุมาบ้างแล้ว จริงอยู่ว่าในปัจจุบันเด็กและเยาวชนรักการอ่านน้อยลง แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของบรรณารักษ์ฝ่ายเดียวที่ไม่สามารถทำให้เด็กรักการอ่านได้ แต่มีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันมากมายทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้

    จริงๆ แล้วถ้าจะศึกษาอย่างจริงจัง ก็คงต้องเริ่มตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์จนคลอดออกมา จนเด็กเริ่มมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ไปตามวัยอย่างถุกต้องและเหมาะสม การปลูกฝังนิสัยของเด็กในเรื่องต่างๆ เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพัฒนาการของเด็ก สิ่งที่เราป้อนให้ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็อยากให้ลองคิดดูว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้พัฒนาส่วนที่เกี่ยวโยงกันเหล่านี้ไปถึงไหนแล้ว ยังมีเด็กอีกมากมายที่เกิดขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไปวันๆ มีเด็กมากมายไม่ได้เข้าเรียนหนังสือทั้งที่รัฐบาลก็มีนโยบายเรียนฟรี (แต่ไม่ครอบคลุม) มีเด็กอีกมากมายที่ได้รับการเลี้ยงดูและปลูกฝังมากแบบผิดๆ

    ช่วงเวลาที่เด็กได้สัมผัสกับห้องสมุดและบรรณารักษ์จริงๆ เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของวัน หรือของสัปดาห์ หรือของเดือน การลด แลก แจก แถม เพื่อให้เด็กเข้าห้องสมุดโดยที่ตัวเด็กเองไม่มีสำนึกรักการอ่านที่ได้รับการปลูกฝังเบื้องต้นมาจากครอบครัวและโรงเรียนเลย (ครูทุกคน ไม่ใช่เฉพาะครูบรรณารักษ์) มันคงเทียบไม่ได้กับการปลูกฝังให้เด็กรักการค้นคว้า การเรียนรู้ แล้วก้าวเดินเข้ามาในห้องสมุดด้วยตัวเอง ซึ่งถือว่า เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

    เรื่องที่สอง บรรณารักษ์แนวใหม่ จริงๆ แล้วไม่อยากให้แบ่งเรียกเป็นแนวใหม่หรือแนวเก่า เพราะบรรณารักษ์เองก็อาจจะไม่พอใจ สับสน ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่แนวไหน หรือเราจะไปทางไหนดี บรรณารักษ์ก็คือบรรณารักษ์ ที่ต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป มีเทคโนโลยี มีองค์ความรู้ หรืออะไรใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง การที่บางคนไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเพราะเค้าเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เค้าทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว หรือเค้าอาจจะมีข้อจำกัดด้านการเปลี่ยนแปลง ก็อยากให้ทุกคนรับความแตกต่างนี้ให้ได้เพื่อจะได้จัดสรรงานให้ได้ถูกต้องตามความถนัดของแต่ละคน

    บรรณารักษ์ในทุกช่วงสมัย ทุกช่วงเวลา มีจุดเด่นจุดด้อยที่ต่างกัน เอาง่ายๆ คือ บรรณารักษ์รุ่นใหม่อาจจะสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น แต่จิตสำนึกในความเป็นบรรณารักษ์ที่มี service mind อย่างแท้จริงกลับน้อยลง

    จริงๆ ที่พูดแบบนี้ เพราะห้องสมุดที่เคยทำงานอยู่ก็มีทั้งบรรณารักษ์รุ่นเก่าและบรรณารักษ์รุ่นใหม่ และตัวเองเป็นบรรณารักษ์กึ่งๆ จากการที่ได้ทำงานร่วมกับคนทั้งสองกลุ่ม ตัวเองจะรู้สึกว่า ความรู้ของบรรณารักษ์รุ่นเก่าจะแน่นมากทางด้านเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการลงรายการ marc เพื่อสั่งซื้อหนังสือ เพื่อ catalog หรือลงรายการสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง การให้ subject headings การ process หนังสือตั้งแต่เข้ามาจนขึ้นชั้นให้บริการ พี่ๆ กลุ่มนี้จะแน่นมากๆ ซึ่งแน่นอนประสบการณ์ที่รุ่นพี่ๆ สั่งสมกันมาเป็นสิ่งที่บรรณารักษ์รุ่นใหม่ไม่สามารถปฎิเสธได้

    กลุ่มพี่อีกฝ่ายที่ทำงานทางด้านบริการก็จะเป็น service mind เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่านักเรียนถามอะไรมา ถึงไม่รู้ก็พยายามหาคำตอบให้ได้ พยายามช่วยเหลือให้ได้ ตอบได้แม้กระทั่งไปจตุจักรไปรถสายอะไร ปิดเทอมไปเที่ยวที่ไหนดี (อันนี้นักเรียนต่างชาติถาม) สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บรรณารักษ์รุ่นใหม่มีน้อยกว่า คือ คงจะมีอยู่แล้วแต่จำนวนเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า อย่างในห้องสมุดที่เคยทำงาน เมื่อมีผู้ใช้มาถามคำถาม บรรณารักษ์รุ่นใหม่จะบอกว่าให้ไปค้นตรงนี้ ไปดูตรงนั้น ใช้คอมพิวเตอร์สิ ไป search เอา ไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ สรุป คือ ประมาณไปหาเอาเองว่าควรทำยังไง ตามความเห็นของตัวเองแล้ว การที่ให้เค้าพยายามทำเองเป็นสิ่งที่ดี เพราะต่อไปเค้าจะได้ทำเองได้ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าทุกคำถามที่ต้องการคำตอบ ยูจะต้องไปหาเอาเอง บางคำถามเราจำเป็นต้องหาให้เค้า และอย่าลืมว่าผู้ใช้แต่ละคนมีความรู้ ความสามารถไม่เท่ากัน เรื่องที่เรารู้สึกว่ามันง่าย อาจจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเค้าก็ได้

    สรุป คือ สิ่งที่บรรณารักษ์รุ่นเก่ามี คือ จิตสำนึกของความเป็นบรรณารักษ์เต็มๆ แม้กลุ่มนี้จะไม่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีอะไรได้มาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเค้าไม่อยากเรียนรู้ แต่อาจเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อวัยมากขึ้น ทำให้เค้าไม่สามารถรับเรื่องราวต่างๆ ที่บรรณารักษ์รุ่นใหม่นำเสนอได้อย่างเต็มที่ก็เป็นได้

    บรรณารักษ์ดีๆ มีอยู่มากมายหลายแห่งในห้องสมุดเมืองไทย คงจะมีแต่คนที่เข้าใจ ใส่ใจ และติดตามวงการนี้อย่างจริงจังเท่านั้นจะได้รับรู้ว่าห้องสมุดและบรรณารักษ์ไทยได้พัฒนาไปถึงแล้ว กลุ่มคนที่เคยสัมผัสห้องสมุดมานานแล้ว หลายคนก็ยังคงเลือกที่จะจดจำแต่ภาพเดิมๆ คร่ำครึ โดยที่ไม่ได้พยายามเดินออกไปสัมผัสเลยว่าตอนนี้โลกของห้องสมุดและบรรณารักษ์มีความก้าวหน้าไปถึงจุดไหนแล้ว

    สำหรับเรื่องหลักสูตร ตอนนี้หลักสูตรบรรณารักษ์ของแต่ละที่ก็มีการปรับเปลี่ยนกันไปตามยุคสมัย ปรับเปลี่ยนมากหรือน้อยก็ว่ากันไป แต่หลักสูตรไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าก็มีข้อดีในตัวเอง ตัวเองก็เคยคิดว่าหลักสูตรที่โน่นที่นี่ดีจังเลย ทันสมัย สอน IT เยอะแยะ หลักสูตรที่นี่ไม่ดีเลย ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง สอน IT ก็แบบพื้นๆ แต่พอต้องมาทำงาน ถึงได้รู้สึกว่าแต่ละหลักสูตรมีจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง

    งานที่ทำงานอยู่ปัจจุบันจะต้องเกี่ยวข้องกับการ catalog หนังสื่อและสื่ออื่นๆ ด้วย ตอนแรกก็นั่งทำไปเอง ตอนหลังก็ทำไม่ไหวเพราะมีงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบด้วย เลยเปิดรับสมัครหาคนเข้ามาช่วยงาน ตอนที่ได้ transcript มาจากเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็เห็นว่าเรียนทั้งวิชาทางด้านบรรณารักษ์ IT และ management หลายตัว ก็คิดว่าดีจัง เจ๋งนะเนี่ย เพราะสมัยที่เรียนอยู่วิชาที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์มีแค่ตัวหรือสองตัว วิชาด้าน management มีตัวเดียวเองมั๊ง แต่พอได้คนเข้ามาก็ทำให้รู้ว่า ที่เรียนมาจะเป็นแบบครอบจักรวาลมาก แต่ไม่ถนัดจริงๆ ทางด้านไหนเลย catalog ก็ไม่ได้ เพราะอาจารย์แค่เอามาสอนให้รู้ ไม่ได้ให้ catalog จริง ในขณะที่หลักสูตรเก่า งาน Catalog ถือเป็นหนึ่งวิชา LC กับ Dewey แยกกันอีกต่างหาก พอเปลี่ยนมาถามเรื่องระบบห้องสมุดก็ไม่ได้เหมือนกัน คือ พอรู้ แต่ทำไม่ได้ เลยแบบว่าจะให้ทำอะไรต้องสอนทุกอย่าง ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าต้องส่งบรรณารักษ์รุ่นใหม่นี้ไปเรียนด้านเทคนิคกับบรรณารักษ์รุ่นเก่าก่อน

    เรื่องแบบนี้มันคงไม่ได้เป็นกับทุกคนหรอกนะ แค่อยากจะบอกว่าหลักสูตรและการเรียนการสอนต่างๆ มีวัตถุประสงค์และจุดแข็งต่างกันไป

    สิ่งหนึ่งที่คิดว่าบรรณารักษ์ทุกคนมี แต่คนอื่นที่ไม่รู้จักหรือไม่สนใจพวกเราอาจจะไม่รู้ ก็คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะในเรื่องห้องสมุดหรือเรื่องอื่นๆ

    ตอนที่เรียนอยู่ รู้สึกชอบวิชาบรรณารักษ์ตรงที่ไม่ต้องท่องจำแต่ต้องเข้าใจ เพราะข้อสอบที่อาจารย์ออกมา (ไม่ว่าจะเป็นวิชาไหน) คือ การให้เราเอาความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อตอบคำถาม ไม่มีสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุผลที่เรานำเสนอ ทำให้แต่ละคนรู้จักคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง อย่างการให้หัวเรื่องก็ไม่มีผิดหรือถูก 100% ขึ้นอยู่กับการอธิบายการวิเคราะห์ของเราเอง ถ้าเหตุผลที่เราอธิบายนำไปสู่จุดจบหรือสามารถแก้ปัญหาได้ อาจารย์ก็ยอมรับ ไม่ใช่ว่าไม่ตรงใจอาจารย์แล้วอาจารย์จะกาผิดให้เรา

    ก็คิดว่า ความละเอียดถี่ถ้วน ความสามารถในการเข้าใจในสิ่งต่างๆ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ และจิตสำนึกในความเป็นบรรณารักษ์ที่เราได้มา แค่เพียงมีสิ่งเหล่านี้ มันก็ทำให้เราฉลาดพอที่จะนำการเรียนการสอนที่ไม่ว่าจะมาจากตะวันตก ตะวันออก ไปประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งเราเชื่อว่าบรรณารักษ์ทุกคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่แน่นอนไม่มากก็น้อย

    ในเรื่องของการโกงกันไป โกงกันมา และการทุจริตที่ปรากฎอยู่ในบทความคงไม่ขอพูดถึงด้วยเหมือนกัน เพราะไม่น่าจะเกี่ยวกับบรรณารักษ์แต่อย่างใด การอ่าน การเรียนรู้ และการศึกษา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาโดยตรง ในขณะที่การโกงและการทุจริตมีเรื่องของนิสัยและสิ่งที่มักทำด้วยความเคยชินมาเกี่ยวข้องด้วยค่อนข้างมาก การอ่านหนังสือมากมายขณะที่จิตมีกิเลสครอบงำอยู่ตลอดเวลาคงไม่อาจทำให้คนฉลาดขึ้นได้หรืออาจฉลาดได้ในสิ่งผิดๆ

    เรื่องราวบางอย่าง ไม่มีใครที่สามารถสอนได้ นอกจากต้องเรียนรู้และค้นพบด้วยตัวเอง

    สรุปคือ อย่าไปสนใจบทความนี้มากเลย เค้าคงไม่ได้เข้าใจวงการบรรณารักษ์และห้องสมุดจริงๆ หรอก หรือไม่เค้าก็อาจจะตั้งชื่อบทความผิดไปหน่อย ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ อีกมากมายที่เข้าใจเรานะ เชื่อดิ

    Comments นี้อาจจะยาวไปหน่อย เขียนมั่วซั่วนอกเรื่องไปบ้าง ก็อย่าว่ากันนะ พอดีเขียนตอนกลางคืน เราง่วงนอนอ่ะ

  5. พูดได้คำเดียวว่า “ไม่ไหวจะเคลีย!!!” อย่างที่เคยบอกไว้ค่ะ

    ไม่เป็นไรหรอกวัยรุ่น วัยลุงเค้าไม่เข้าใจก็ปล่อยเค้าไป

    ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดค่ะ “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อยยยยยยย”

  6. คะ ความคิดคนเราต่างแบบต่างมุม แต่ก้ยังเชื่อว่าปัจจุบันแวดวงบรรณารักษ์เราได้พัฒนาก้าวไปเยอะมากแล้ว ลองเปิดใจให้กว้าง มองรอบตัวดูอีกทีนะคะ แล้วจะพบว่าปัจจุบันคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

  7. จริงๆแล้วผมว่าไม่ต้องคอมเม้นท์เพิ่มแล้วก็ได้นะ เพราะแค่พี่วายกะ คุณ aLibrarian ก็ซัดเข้าไปจนถ้าผมเป็นเจ้าของบทความอาจจะมีการท้องอืดไปได้เป็นอาทิตย์เลยทีเดียว (ไม่รวมที่จะโดนจากท่านอื่นๆอีก)

    จากที่ได้อ่านจากต้นฉบับเลย ผมมองว่าจริงๆแล้ว เขาก็ทั้งใช้ชื่อเรื่องผิด แล้วก็ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาในสายของบรรณารักษศาสตร์โดยตรงก็แค่นั้น เพราะฉะนั้น ต่อให้จะพูดสวนกลับเขาไปแค่ไหน สิ่งที่ได้กลับมาก็เป็นแค่ “ความไม่รู้” ที่สักแต่ว่าว่าไปเรื่อยเช่นเดิม ดังนั้นก็บอกได้แค่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่ง…เสีย… ความรู้สึกว่ะ” สำหรับผม ถ้าถูกโจมตีด้วยความผิดที่เกิดขึ้นจริง ผมว่ามันจะน่ายอมรับแต่ควรปรับปรุงตัว แต่การที่ถูกโจมตีโดยผู้ที่ไม่เข้าใจ ผมว่ามันแสดงถึงความอวดเก่งไปหน่อย ถึงแม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้มีความรู้ในด้านบรรณารักษศาสตร์ระดับจนเอามาอวดอ้างหรือลงบทความออกหนังสือพิมพ์ตอบโต้ได้ แต่อย่างน้อยผมก็ว่า ผู้ลงบทความ คือคุณสุจิตต์ มีความรู้ทางด้านบรรณารักษศาสตร์น้อยกว่าผมละวะ!!

    ดังนั้นจะขอเพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวดังเช่นที่ตัวผมเป็นให้อีกนิดหน่อย และจะขอเพิ่มเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านบรรณารักษศาสตร์เท่านั้นด้วย (เพราะตูเป็นบรรณารักษ์)

    บรรณารักษ์คือคำจำกัดความของผู้ที่ทำงานภายในห้องสมุด(สั้นๆ) ปัจจุบันห้องสมุดมีความแตกต่างออกไปตามลักษณะงานและความเหมาะสมของสถาบันผู้ก่อตั้ง ห้องสมุดและบรรณารักษ์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพราะหน้าหน้าที่หลักของเราคือ “การบริการความรู้” ดังนั้น ถ้าบรรณารักษ์ไม่รู้ก็จะให้บริการและตอบผู้ใช้ของตนเองไม่ได้ ซึ่งนั้นถือเป็นความผิดเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ในกรณีของคุณสุจิตต์ที่ยกเมฆมาว่า “บรรณารักษ์แนวใหม่ กว่าจะได้ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี” ผมขอตั้งคำถามเล่นๆย้อนกลับว่า ในชีวิตนี้ คุณเข้าห้องสมุดกี่ครั้ง ไปใช้บริการห้องสมุดมากี่แห่ง และที่สำคัญตัวคุณเองใช้โอกาสในการพูดคุยกับบรรณารักษ์ผู้ให้บริการครั้งละกี่คำ??? ผมไม่เถียง ถ้าจะพูดถึงห้องสมุดระดับประชาชนหรือระดับโรงเรียนที่ครูบรรณารักษ์อาจจะไม่สามารถทำงานในอย่างเต็มที่สมฐานะบรรณารักษ์ที่ดีจะให้ได้ เพราะผมเองก็สนใจและต้องการจะหาทางช่วยเหลือเพื่อพัฒนาการในการทำงานของบรรณารักษ์ระดับนี้เช่นกัน แต่ถามว่าการคัดเลือกผู้มาเป็นบรรณารักษ์เกิดขึ้นจากใคร?? เขาให้สมาคมห้องสมุดจัดหาให้แล้วส่งไปประจำตามโรงเรียนเหรอครับ การจ้างงานเกิดขึ้นจากโรงเรียนเองทั้งนั้น และผมก็ได้ข้อมูลว่า การรับบรรณารักษ์เข้าไปทำงานก็เป็นลักษณะตามมีตามเกิด คือขอแค่ว่า มีก็พอแล้ว ดังนั้นถ้าจะให้ผมบอกว่า เป็นเพราะผู้คัดเลือก ก็น่าจะพูดได้นะ แล้วมันเป็นความผิดของวิชาชีพเหรอครับ ที่มันจะไม่มีคุณภาพ ทั้งที่ความจริงมันเกิดจากระดับผู้บริหารของสถาบันมันใช้ช่องว่างและไม่ใส่ใจจะทำให้ดีเอง รู้กันอยู่ว่าปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร ก็ยังแก้ไขกันไม่ได้เลย ผมคิดว่าคงจะหวังพึ่งหรือมองเป็นแบบอย่างที่ดีจากคนมีอายุรุ่นคุณสุจิตต์ไม่ได้แล้วกระมัง เพราะขนาดเรื่องที่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยังเอามาพูดปะปนกันจนมั่วไปได้ขนาดนี้

    ดังนั้นถ้าผมจะเสนอนะ ผมแนะนำให้ไปเข้าห้องสมุดให้มากกว่านี้ แล้วก็ไปใช้บริการห้องสมุดที่เขามีชื่อเสียงและ “เป็นห้องสมุดยุคใหม่” ซะด้วย แล้วค่อยบอกว่า วิชาชีพนี้มันพัฒนาตามยุคทันหรือป่าว แล้วแทนที่จะมามองหาจุดบอดแล้วเอามาด่าให้สนุกปาก ผมว่าเอาเวลาไปเขียนอะไรที่มันสร้างสรรค์และส่งเสริมให้บ้านเมืองมันเจริญและเบาลงหน่อยน่าจะดีกว่า(เนอะ) คล้ายๆว่าจะเป็น … มือไม่พาย อย่าเอาเท้าราน้ำ หรือเปล่า ?

    การจับผิดหรือมองด้านลบแล้วเอามาประจานมันไม่ยากหรอกครับ แต่การที่จะมองด้านดีแล้วชื่นชมนิ่ ทำไมมันทำกันยากจัง แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่แผ่นดิมันจะสูงขึ้นซะที

  8. ผมว่าอาชีพบรรณารักษ์เนี่ยน่าจะเป็นคนปรับตัวเร็วนะ

    ใครจะไปคิดว่าพี่ๆ บรรณารักษ์สมัยตอนเราเรียน (10ปีที่แล้ว)ที่นั่งทำบัตรรายการ หรือเรียงบัตรรายการอยู่ พิมพ์ดีดต๊อกๆ แต๊กๆ อยู่

    จะมาทำงานอยู่หน้าคอมฯ เผลอๆ บางคนเนี่ยบริการผ่านเอ็มอีกต่างหาก

    ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอายุพี่ท่านแต่ละท่านก็ใช่ว่าจะน้อยๆ กัน

    ลองเอาบุคลากรที่อายุเท่าๆ กันที่มาทางสายศิลป์มาเทียบดู ผมว่าบรรณารักษ์เนี่ยก้าวทันเทคโนโลยีที่สุดแล้ว

  9. เข้าใจว่าผู้เขียนบทความต้องการจะสื่อถึงการโกง ทุจริต หรือคอรัปชั่นในวงการห้องสมุดกศน. หรือเปล่า แต่การตั้งชื่อเรื่องของบทความและเนื้อหาที่เกริ่นนำมาตั้งแต่ต้นนั้น ถือเป็นอคติกับวิชาชีพบรรณารักษ์อย่างมาก ซึ่งมนก็ไม่ถูก เหมือนเอาบรรณารักษ์มาเป็นแพะเลย และเห็นด้วยกับคุณ aLibrarian นะที่ว่า “ไม่อยากให้แบ่งเรียกเป็นแนวใหม่หรือแนวเก่า เพราะบรรณารักษ์เองก็อาจจะไม่พอใจ สับสน ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่แนวไหน หรือเราจะไปทางไหนดี บรรณารักษ์ก็คือบรรณารักษ์ ที่ต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว” เพราะกาลเวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน บรรณารักษ์ก็ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว รวมถึงระบบการศึกษาของบรรณารักษ์ด้วยที่มีการปรับหลักสูตรกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้หรอกค่ะ ผู้เขียนบทความเค้าน่าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับบรรณารักษ์ให้มากกว่านี้ หรือไม่ลองเปิดใจไม่นั่งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือหาขอ้มูลตามห้องสมุดให้มากว่านี้ อาจจะได้เห็นบรรณารักษ์ในมุมที่ตนไม่เคยได้เห็นก็ได้นะค่ะ

  10. อ่านแล้วอารมณ์เสียจริงๆ ด้วย

    ทำอย่างไรให้คนอื่นได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของวิชาชีพอย่างเราๆ และเห็นความสำคัญ
    ยิ่งคิดยิ่งเครียด

    เลือดขึ้นหน้า แหะๆ

  11. บอกได้เลยว่าคนเขียนบทความนี้ มีวิสัยทัศน์เท่าสมองมด
    เขียนมาได้ไงมั่วจริงๆ ไอคำที่ว่า ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา
    และทันสมัย แต่ไร้สมอง มันเหมาะกับคุณมากกว่า

  12. นักวิจารณืมีหน้าที่วิจารณ์ จะใช้อะไรคิด ออกมาก็ไม่รู้…..รู้แต่ว่าถ้าสังคมไม่ให้ความสำคัญเรื่องมันก็จะเงียบไปเอง…เหมือนที่ทุกวันนี้บรรณารักษ์ค่อยๆๆเริ่มหายไปตามกาลเวลา….เศร้า..

  13. เห็นด้วยกับการ Comment ของน้องวายและน้องคนอื่น ๆ เพราะปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า น้อง ๆ บรรณารักษ์ที่จบใหม่ มีความเป็นบรรณารักษ์แนวใหม่เยอะ และหลักสูตรของเรา ฯ ก็ปรับเปลี่ยนไปมาก เพื่อให้เข้ากับสภาพความต้องการด้านตลาดแรงงาน บรรณารักษ์สมัยก่อนเน้นเรื่องการปฏิบัติงานด้วยมือ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้าบริหารจัดการและดำเนินงานห้องสมุดในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นบรรณารักษ์รุ่นใหม่ ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีมากกว่า และนำมาประยุกต์ใช้ได้มากกว่า แต่แน่นอนบรรณารักษ์ผู้มีประสบการณ์เยอะก็สามารถทำงานร่วมกับบรรณารักษ์สมัยใหม่ได้

    แต่เรื่องที่น่าจะมีคนเขียนถึงบรรณารักษ์น่าจะเป็นในส่วนของอัตราจ้าง ตำแหน่งทางวิชาการ บทบาทของบรรณารักษ์ในปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นที่ควรบรรจุรายวิชา “ห้องสมุดและการค้นคว้า” เข้าไปด้วย ทราบว่าบางมหาวิทยาลัยไม่มีรายวิชานี้ในหลักสูตรของทุกคณะ แล้วอย่างนี้ที่ผู้ใหญ่วิพากย์วิจารณ์กันว่า เด็กไม่รักการอ่าน ไม่มีอุปนิสัยการอ่าน คงจะแก้ไขได้ยาก เพราะเด็ก ๆ ยังไม่รู้แหล่งที่จะหยิบหนังสือมาอ่านเลย

    จะว่าไปการเรียนการสอนก็มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใช้ห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้า เพราะบางรายวิชาการเรียนการสอนใช้ตำราเล่มเดียว ไม่มีการให้ทำรายงาน นักศึกษาเลยถือตำราเล่มเดียวมาเรียนและไม่จำเป็นต้องไปศึกษาค้นคว้าอะไรในห้องสมุด เพราะอ่านตำราเล่มเดียวก็สอบได้แล้ว

    การจะพัฒนาทั้งในเรื่องการอ่านและบุคลาการด้านอื่น ๆ ทั้งบรรณารักษ์ และผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษาน่าจะมีบทบาทมากที่สุดในเรื่องของการปรับปรุงหลักสูตรให้มีรายวิชาห้องสมุดและการค้นคว้า การจัดสรรบุคลากรที่ทำงานในห้องสมุดให้เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการจัดตั้งห้องสมุดให้มีสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนอยากเข้ามาศึกษาค้นคว้า และที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลที่ควรจะมีนโยบายพัฒนางานห้องสมุดและบุคลากรห้องสมุดอย่างมีระบบและมีความต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของบทบาทห้องสมุด จัดตั้งห้องสมุด งบประมาณในการดำเนินงานห้องสมุด และการส่งเสริมวิชาชีพบรรณารักษืและผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด จำได้ไหมว่า รัฐบาลนำเรื่องห้องสมุดและบรรณารักษ์มากล่าวถึงปีละกี่ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อไร และงบประมาณที่จัดสรรในการพัฒนางานห้องสมุดปีละเท่าไร

    ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับและคณะรัฐบาลทุกท่าน จำได้ไหมว่าท่านเข้าใช้ห้องสมุดบ่อยแค่ไหน ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่เท่าไร

  14. โดน บอกได้คำเดียว โดน เต็มๆเลยค้าบบบบบบบบบ

  15. ?ในอนาคตต้องมีบรรณารักษ์แนวใหม่ ที่ไม่ใช่คนนั่งเฝ้าหนังสือ หรือคอยขู่คนที่จะยืมหนังสือว่าอย่าคุยเสียงดัง อย่าทำหนังสือยับ

    เราต้องมีบรรณารักษ์ที่เก่งเรื่องการระบายหนังสือไปสู่คนทั่วไป จัดรายการลด แลก แจก แถม ให้คนเข้ามายืมหนังสือเยอะๆ

    ต้องส่งเสริมการอ่าน เป็นที่พึ่งของคนที่คิดอะไรไม่ออก อยากเข้ามาหาความรู้ในห้องสมุด?

    ?บรรณารักษ์แนวใหม่?ที่คุณมกุฏแนะนำไว้ มีสปีชีส์หรือชาติพันธุ์เดียวกับ?ภัณฑารักษ์? ไม่น่าจะมีได้ในชั่วอายุคนที่ดำรงอยู่ขณะนี้ แม้ในชั่วอายุคนรุ่นข้างหน้าก็ไม่น่าจะมีได้ เพราะสังคมไทยมีลักษณะอย่างที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกไว้ว่า ดูทันสมัย แต่อนุรักษนิยมสูงมาก แล้วมีผู้เทียบเป็นคำคล้องจองว่า?ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา? และ?ทันสมัย แต่ไร้สมอง?

    สรุปว่าบรรณารักษ์, ภัณฑารักษ์ เป็นชาติพันธุ์เดียวกับอนุรักษ์ทั้งหลาย คงต้องรอไดโนเสาร์เกิดใหม่แล้วตายลงอีกครั้งถึงจะพอมีทางได้?บรรณารักษ์แนวใหม่?อย่างคุณมกุฏบอก

    ****ที่เค้าเขียนมาก็รู้แล้วว่า เค้าเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี พค.ที่เท่าไหร่ ครั้งที่เค้ายังเด็กแน่เลย ใครจะมาขู่คนยืมหนังสือ ไม่มีหรอกค่ะ คุณสุจินต์….เดี๋ยวนี้เค้าพัฒนาแล้ว ไม่เชื่อลองมาเข้าห้องสมุดดูซิคะ

  16. ขอเสนอเเนะความคิดเห็นด้วคนนะ (หลังจากที่นั่งอ่านตาลายอยู่พักหนึง)

    ฝ่ายหนึ่งวิพากษ์บรรณารักษ์ปาวๆๆๆ (เพราะอาจไม่ได้สัมผัสกับห้องสมุดมากนัก)
    ฝ่ายสองก็วิพากษ์กลับไปด้วยความศรัทธาในวิชาชีพ แต่…. หากเราตั้งสติแล้วมองดูดีๆ จะ…
    พบว่า ปัญหาที่สะท้อนได้ชัดเจนเลย คือ ช่องว่างระหว่างผู้ใช้ห้องสมุดกับบรรณารักษ์
    กล่าวคือ เรามีบริการ มีทรัพยากรที่สอดคล้องเเละตรงตามความต้องการผู้ใช้ มีการนำส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสู่ผู้ใช้ แต่สิ่งที่บ่งชี้ผลการดำเนินงานของเรายังไม่ชัดเจน(ไม่สั่นสะเทือนวงการห้องสมุดจวบจนวงการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง) อีกทั้งความต้องการขอผู้ใช้ไม่มีวันหยุด ยังคงมากๆและมากขึ้นเสมอ การบริการที่เหนือความคาดหวังก็ต้องมากๆๆและมากกว่านั้นอีกอย่างน้อยหนึ่งเท่าที่คาดหวัง “สิ่งที่ท้าทายบรรรณารักษ์” เทคโนโลยีไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบสุดท้ายเสมอไป แท้จริงเเล้ว “การปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับห้อสมุด” น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

    เฮ้ยยยยย…. “ปลง”

    • เห็นด้วยอย่างมากครับคุณ Kyp
      เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไปครับ

  17. ทำไม่บรรจุบันนี้ครูบรรณารักษ์เปิดสอบบรรจุน้อยจังและอย่างนี้ใครเขาจะเรียนล่ะ

  18. เป็นครูบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนมัธยมคะจากการทำงานมา 6 ปี อยากทำอะไรที่ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ อยากให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของห้องสมุดให้มากๆ ทุกวันนี้ไม่เคยยึดกฏระเบียบอะไรมากกับการยืมหนังสือหรือการเข้าใช้ห้องสมุดอยากให้เด็กๆมีความสุขเมื่อได้อ่านหนังสือและเข้าใช้บริการห้องสมุด ในความคิดก็อยากเป็นบรรณารักษ์แนวใหม่อยากหาความรู้ใหม่ๆ ที่จะมาพัฒนางานห้องสมุดและสอนเด็กๆ ให้รักการอ่านเห็นความสำคัญของห้องสมุดเหมือนกันคะแต่ขาดงบประมาณ ขาดแรงสนับสนุนที่จริงจัง

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*